ไฉน? ผู้ประกอบการ ควรมี Creativity
หลายคนคงอยากรู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการประกอบการหรือในการทำธุรกิจคืออะไรจากประสบการณ์ที่ได้รับรู้จากผู้รู้หลายๆท่าน จะบอกว่า คือ “ผู้ประกอบการ”เองและหัวใจสำคัญอีกอันหนึ่งคือ “ความคิดสร้างสรรค์” ที่จะต้องพัฒนาขึ้นมาไม่ให้เหมือนคนอื่น จะแข่งขันกับคนอื่นได้สินค้าเราจะต้องไม่เหมือนใคร นั่นแปลว่า เราจะต้องค้นหาศักยภาพตัวเองให้พบและพัฒนาศักยภาพนั้นให้ได้ ศักยภาพซึ่งแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การประกอบการที่ประสบผลสำเร็จมาต้องจากความเป็นตัวของตัวเอง
จงจำไว้เลยว่าผู้ประกอบกอบการจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่การระดมทุน การตลาด การจัดการ การเงินหรืออื่นๆแต่อยู่ที่ “การสร้างแนวคิดธุรกิจ”และ“คุณภาพของแนวคิดการสร้างธุรกิจใหม่”
คุณรู้อยู่แล้วว่า “ผู้ประกอบการ” เป็นหัวใจของการสร้างธุรกิจหรือประกอบการ ซึ่งเรื่องนี้ถูกตอกย้ำโดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง “โจเซฟ ชุมปีเตอร์” ที่ให้ความสนใจศึกษา “บุคลิกลักษณะของผู้ประกอบการ”หรือ “ผู้สร้างธุรกิจใหม่”
“โจเซฟ ชุมปีเตอร์” เน้นว่าผู้ประกอบการเป็นผู้เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้แนวคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เขาเรียกแนวคิดนี้ว่า “เป็นการทำลายเชิงสร้างสรรค์” คือ เป็นการนำเอาแนวความคิดใหม่ๆมาลบล้างความคิดเก่าๆซึ่งจะได้สิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆขึ้นมาพร้อมกัน
เหตุที่เราต้องศึกษาลักษณะของผู้ประกอบการ คือ ไม่เพียงแต่ทำให้เราเข้าใจตัวเองเท่านั้น แต่จะช่วยให้เข้าใจผู้อื่นและเข้าใจขั้นตอนวิธีการประกอบด้วย นักวิจัยที่ได้ศึกษาชีวประวัติผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาแล้วกล่าวว่า
ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมีความรู้สึกถึงภาระหน้าที่ ไม่ใช่กำไรสูงสุด แต่เป็นการเริ่มต้นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งและตระหนักถึงภาระหน้าที่ที่จะต้องทำ ที่จะต้องสานฝันให้บรรลุเป้าหมาย และจุดนี้มีประโยชน์ในการแยกผู้ประกอบการและผู้จัดการออกเป็น 2 ด้านที่แตกต่างกัน
โดยปกติผู้ประกอบการจะมีความรับผิดชอบในตัวเองมากและรู้สึกถึงภาระหน้าที่ๆจะต้องทุ่มเทกำลังกายกำลังใจมากเป็นพิเศษ แต่ผู้จัดการไม่มีลักษณะดังกล่าว ความแตกต่างอันนี้สำคัญมาก
หากพูดถึง “การบริหารธุรกิจ” เราอาจจะต้องใช้ความรู้ ด้านบัญชี ด้านการบำรุงรักษา ด้านปัญหาเกี่ยวกับภาษี ด้านการตลาด การเงิน ฯลฯ แต่การเป็น “ผู้ประกอบการ” หรือ “สร้างธุรกิจ”นี้ เราเพียงแต่มุ่งความสนใจไปที่ “แนวคิดการทำธุรกิจ” เท่านั้น คือทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างแนวคิดธุรกิจของตนเองขึ้นมาได้
มีผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายถึงการพัฒนาแนวคิดสร้างสรรค์ ไว้น่าสนใจทีเดียว เรื่องแรก คือ การประกอบการ จะเป็นสิ่งสามัญธรรมดาในอนาคต ไม่ใช่สิ่งพิเศษหรือสิ่งแปลกใหม่อีกต่อไป เพราะว่าตอนนี้อยู่ในสภาพการแข่งขันที่สูงเรื่อยๆการแข่งขันทำให้ทุกบริษัทต้องมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างแนวธุรกิจใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ วางแผนตั้งบริษัทขึ้นมาเอง แต่การสร้างธุรกิจแนวสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญต่อการบริหารธุรกิจโดยทั่วไป
เรื่องที่สอง อย่าเอาเรื่องการประกอบการมาปนกับการจ้างงานตนเอง เพราะ 2 สิ่งนี้ไม่เหมือนกัน การจ้างงานตนเองเป็นแง่มุมหนึ่งของการประกอบการแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ถ้าเราได้ศึกษาธุรกิจขนาดย่อมจะพบว่า คนพวกนี้ทำงานหนักเกินไป มีความตึงเครียดสูง และประสบปัญหากับการที่จะเอาตัวรอดในดำเนินธุรกิจ
ผู้ประกอบการเสมือนนักกระดานโต้คลื่น ผู้ท้าทายคลื่นลมและชอบต่อสู้ รับมือกับคลื่นลมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นักกระดานโต้คลื่นชอบความท้าทายและจัดการกับมันได้
ขณะเดียวกัน เจ้าของกิจการขนาดย่อมและเป็นเจ้านายตัวเองนั้น ถ้าขาดคุณสมบัติอย่างผู้ประกอบการแล้วก็เปรียบเสมือนกะลาสีบนเรือแตกนั่นเอง มักจะด่าทอคลื่นลม เพราะต้องแบกภาระหนักเกินไปและขาดความสามารถ อีกทั้งยังไม่เต็มใจและไม่ชอบต่อสู้รับมือกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น
ดังนั้นหากใครสักคนจะเป็นผู้ประกอบการ จะต้องรู้ว่าการสร้างธุรกิจเป็นเหมือนการโต้คลื่น ต้องสามารถจัดการรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
อยากจะย้ำว่า การประกอบการนั้นต้องเกิดจากการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา เป็นการพลิกผันจากสิ่งหนึ่งไปเป็นอีกสิ่งหนึ่งในธุรกิจแขนงที่คุณต้องการทำ แปลไทยเป็นไทยคือว่า เรามีฐานธุรกิจเดิมอยู่แล้วแต่ต่อยอดไปสู่สิ่งใหม่ที่แตกต่างกว่า ถ้ายึดติดกับสิ่งที่เป็นไปตามแผนเดิมๆมีแต่จะรอวันตาย
เรามักจะได้ยินคำสั่งสอนบ่อยๆ ว่าจะต้องเพิ่มผลผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้นให้ได้ ในทางกลับกันถ้าเราทำเหมือนคนอื่นที่เขาทำกัน เราก็ต้องแข่งขันด้านต้นทุนการผลิต แข่งขันทุกอย่างเหมือนๆกัน และการแข่งขันก็จะรุนแรงขึ้น
นั่นหมายความว่า ถ้าเรายังอยู่ในลู่วิ่งที่ใครๆเขาอยู่ลู่วิ่งเดียวกับเรา แปลว่าเราต้องแข่งกับทุกคนโอกาสจะเอาชนะก็ยากดังนั้นหากยากชนะต้องสร้างลู่วิ่งใหม่ หรือกำหนดเกมขึ้นมาใหม่ นั่นคือ จะต้องสร้างแนวธุรกิจขึ้นมาใหม่ นั่นเอง
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @lifeelevatedCLB
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @lifeelevatedclub
Blockdit: Lifeelevatedclub
Youtube: Life Elevated Club