ปริมาณขยะโควิดขยายตัวอย่างรวดเร็ว WHO กังวลความเสี่ยงด้านสาธารณสุข
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กล่าวเตือนถึงความเสี่ยงด้านสาธารณสุขที่มาพร้อมกับอุปกรณ์และขยะทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโควิด-19 พร้อมเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ช่วยกันควบคุมจัดการระบบการทิ้งและกำจัดขยะอันตรายเหล่านั้น ซึ่งรวมถึง ชุดป้องกันเชื้อโรคแบบพีพีอี (PPE) และเข็มฉีดยา
รายงานวิเคราะห์ของ WHO พบว่า ปริมาณขยะทางการแพทย์ที่เกิดจากความพยายามควบคุมการระบาดของโควิด-19 กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลกและก่ออันตรายอย่างมาก
แมกกี มอนต์โกเมอรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมของ WHO กล่าวว่า โควิด-19 ได้ทำให้เกิดขยะทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก และสร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าจากระดับก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่ระบบการกำจัดอุปกรณ์ใช้แล้วทางการแพทย์เหล่านี้ยังไม่มีประสิทธิภาพ
โดยอันตรายที่เกิดจากขยะเหล่านี้ รวมถึงอันตรายต่อสุขภาพของบุคลากร การบาดเจ็บจากเข็มฉีดยา การถูกเผาไหม้ การสัมผัสกับเชื้อไวรัส มลพิษทางอากาศ ตลอดจนอันตรายจากการบริหารจัดการที่กลบฝังขยะแบบไร้ประสิทธิภาพ
WHO ประเมินว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2020 จนถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 มีการขนส่งชุดพีพีอีไปยังประเทศต่างๆ แล้วราว 87,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่จะกลายเป็นขยะ
WHO แนะนำให้ประเทศต่างๆ ใช้แนวทางกำจัดขยะทางการแพทย์เหล่านี้อย่างปลอดภัยและไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มปริมาณการใช้ถุงมือและหน้ากากแบบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ตลอดจนเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีการกำจัดขยะแบบไม่ต้องเผา เป็นต้น
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @lifeelevatedCLB
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @lifeelevatedclub
Blockdit: Lifeelevatedclub
Youtube: Life Elevated Club