Home Body คลายสงสัย ทำไม? ยิ่งหิว..ยิ่งอายุยืน

คลายสงสัย ทำไม? ยิ่งหิว..ยิ่งอายุยืน

by Lifeelevated Admin2

การกินเป็นหนึ่งในความต้องการพื้นฐานที่ร่างกายคนเราต้องการและทำเป็นกิจวัตร เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีพลังงานในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ ยิ่งกินยิ่งอิ่ม ยิ่งสบายท้อง และต้องกินให้ครบ 3 มื้อจึงจะครบหลักสุขภาพ

นี่เป็นความคิดของเราๆ ที่มองว่าเป็นเรื่องถูกต้องโดยปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยใด

ร่างกายเจริญเติบโตและแข็งแรงด้วยการกิน แล้ว “ยิ่งหิว ยิ่งอายุยืน” จะเป็นไปได้อย่างไร

“ปัญหาสุขภาพ” ของนายแพทย์โยะชิโนะริ นะงุโม (Yoshinori Nagumo) ผู้เขียนหนังสือ “ยิ่งหิว ยิ่งอายุยืน” คือจุดเริ่มต้นของการทดลองรักษาตัวเองสู่การค้นพบว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร เน้นผักและเลิกกินเนื้อสัตว์ ทำให้สุขภาพดี จนนำไปสู่ “การกินอาหารวันละมื้อ” นับแต่นั้นมาตลอด 10 กว่าปี สุขภาพของคุณหมอก็ดีขึ้นมาก จากน้ำหนัก 77 กิโลกรัม ลดเหลือ 62 กิโลกรัมและคงที่ตลอด แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่าคือ ผิวพรรณหมออ่อนเยาว์ขึ้นและกลับมาเป็นหนุ่มอีกครั้ง ซึ่งจากการตรวจร่างกายพบว่าคุณหมอซึ่งมีอายุ 56 ปี (ในขณะนั้น) แต่กลับมีอายุหลอดเลือด 26 ปี อายุกระดูก28 ปี และมีสมองอ่อนเยาว์เทียบเท่าคนอายุ 38 ปี

ทำไมต้องกินอาหารวันละมื้อ

เพราะความสามารถในการอยู่รอด หรือ “ยีนที่ช่วยให้รอดชีวีต” (Sirtuin) จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเผชิญกับความอดอยาก เหน็บหนาว และโรคระบาด ยามปกติยีนนี้จะไม่ทำงาน ดังนั้นคุณหมอจึงปล่อยให้ตัวเองหิวเพื่อให้ยีนที่ว่าเกิดการทำงาน ที่สำคัญการกินอย่างอิ่มหนำสำราญเกินไปจะทำให้ร่างกายแก่ชรา อัตราการเกิดลดลง ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ตามมาด้วยโรคภัยต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ “ยีนที่ช่วยให้รอดชีวิต” จึงกลายเป็นกุญแจของวิธีรักษาสุขภาพ “ยิ่งหิว ยิ่งอายุยืน” ของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านทรวงอกจากประเทศญี่ปุ่น

“ความหิว” ช่วยให้คุณหมออายุยืน แต่ “การกิน” ทำให้คนไทยอายุสั้น

กลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือ ชื่อภาษาไทยเรียกว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคด้วย

องค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยสถิติในปี 2561 พบว่า ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตด้วยโรค NCDs มากถึงร้อยละ 62 ส่วนในประเทศไทยมีมากถึง 75% กล่าวคือในทุกๆ ชั่วโมงจะมีคนเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 37 คน และจากข้อมูลของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ทราบว่า ในปี 2561 มีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs (4 โรค) ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดหัวใจ สูงถึง 74,518 คน

พฤติกรรมเสี่ยง…ตัวการก่อโรค NCDs

สาเหตุหลักสำคัญของกลุ่มโรค NCDs คือพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย การนอนดึก การมีความเครียดสูง การรับประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เป็นต้น

คนที่มีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตดังที่กล่าวมาจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค NCDs มากกว่าคนอื่นๆ

ห่างไกล NCDs ทำได้ด้วยตัวคุณ

แม้จะเป็นโรคที่ไม่ติดต่อแต่ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเพราะเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของตัวเราเอง ดังนั้นเราต้องเปลี่ยน หันมาดูแลตัวเอง ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ เพียงเท่านี้ก็สามารถลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรค NCDs ได้

 

อ้างอิง :

https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1219

https://www.thairath.co.th/content/786607

http://visitdrsant.blogspot.com/2015/02/blog-post.html

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/629608

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1507443

https://bit.ly/3ky5Y9A

https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/may-2016/ncds-non-communicable-diseases-symptoms-prevention

 

 

Related Articles

Leave a Comment