ทวิตเตอร์ (Twitter) แพลตฟอร์มโซเชียล มีเดีย ซึ่งมีมานาน 14 ปี แต่คนไทยมาใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีมานี้ ซึ่งถ้าระบุแบบเจาะจงลงไป Generation Z หันมาทวีต (ส่งข้อความ/สนทนา) รีทวีต (ทำให้ข้อความนั้นโผล่ขึ้นมาซ้ำๆ) ติดแฮชแท็ก (ทำให้ค้นหาได้ง่าย รู้ว่าคนส่วนใหญ่คุยอะไรในช่วงเวลานั้นๆ) มากขึ้นและเข้มข้น จนบางคำหรือบางวลีติดอันดับ Twitter Trends ประเทศไทย แล้วทะยานขึ้นไปติดอันดับโลก
Twitter, Inc. ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2006 โดย Jack Dorsey, Ev Williams, Biz Stone และ Noah Glass แต่ชื่อของ Jack Dorsey เป็นที่รู้จักมากที่สุดเนื่องจากได้เป็นซีอีโอทวิตเตอร์ ปี 2006-2008 และกลับไปเป็นอีกครั้งในปี 2015
ตัวอย่างเกี่ยวกับ Twitter Trends
ทวิตเตอร์มีฟีเจอร์ที่ผู้ใช้งานต่างรู้จัก แต่หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้วิธีการใช้งานฟีเจอร์เฉพาะ ยิ่งปีนี้ ทวิตเตอร์เทรนด์ ในประเทศไทยสะท้อนความคิดหลากหลายด้านบนโลกโซเชียล แต่มีปัจจัยใดบ้างที่ควรรู้เกี่ยวกับทวิตเตอร์เทรนด์ ข้อควรระวัง และการนำไปสร้างประโยชน์
เช่นเทรนด์ที่ทวิตเตอร์สร้างขึ้นไม่นานมานี้ เมื่อวันที่ 24-31 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นสัปดาห์แห่งการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล (Global Media and Information Literacy Week) ทวิตเตอร์ ร่วมกับ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ-ยูเนสโก ส่งเสริมการตระหนักรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องโดยเลือกธีม “การต่อต้านการแพร่กระจายของเชื้อโรค: การรู้สื่อและข้อมูลสำหรับทุกคนและโดยทุกคน (Resisting Disinfodemic: Media & Information Literacy)” และเปิดตัวอีโมจิพิเศษเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนใช้แฮชแท็ก #คิดก่อนแชร์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างข้อความสนทนาที่มีคุณภาพ โดยอีโมจิจะปรากฏขึ้นเมื่อมีคนใช้แฮชแท็ก #สัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล #คิดก่อนแชร์ และ #คิดก่อนคลิก
8 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ Twitter Trends
1) เทรนด์เกิดจาก “อัลกอริทึม”
อัลกอริทึม (Algorithm) คือ ตัวกำหนดเทรนด์ โดยค่าเริ่มต้นของเทรนด์นั้นจะถูกกำหนดให้เหมาะสมกับ ผู้ใช้แต่ละคน โดยอ้างอิงจากคนที่กำลังติดตาม เรื่องที่สนใจ และจากตำแหน่งที่ตั้ง เช่น การที่เรา Follow แอคเคานต์สำนักข่าว, นักแสดงชาวไทย, ศิลปินต่างชาติ, แบรนด์, เกมออนไลน์ ข้อมูลทั้งหมดจะเข้าสู่ระบบและประมวลผลว่า เรื่องไหนหรือคำใดที่มีคนพูดถึงมาก ณ ช่วงเวลานั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนค่าเริ่มต้นของเทรนด์ได้โดยเลือกสถานที่ที่ต้องการ เช่น ตั้งค่าการใช้งานเป็น ประเทศไทย และเลือกที่จะเห็นหัวข้อซึ่งได้รับความนิยมหรือเกาะติดเทรนด์ทวิตเตอร์จากตำแหน่งที่ตั้งหรือประเทศแบบเจาะจงลงไปได้
2) เทรนด์ไม่ใช่แค่เรื่องของ “จำนวนทวีต”
เทรนด์แสดงให้เห็นว่า ณ ตอนนี้มีเรื่องอะไรที่กำลังได้รับความนิยมบนทวิตเตอร์ ซึ่งไม่ได้นับจากจำนวนทวีตทั้งหมดในหัวข้อเฉพาะแล้วจึงแสดงรายการที่มีการทวีตมากที่สุด แต่เทรนด์สะท้อนถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน และยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถค้นหาหัวข้อที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงบนทวิตเตอร์แบบเรียลไทม์ได้
3) “ไม่ติดแฮชแท็ก” ก็ติดเทรนด์ได้
การติดแฮชแท็กเป็นส่วนหนึ่งของทวิตเตอร์เทรนด์ ดังนั้น แต่ละคำหรือวลีที่ใช้ในทวีตจะถูกนับรวมเข้าด้วยกัน หากเป็นแฮชแท็ก ทวิตเตอร์จะจัดกลุ่มแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องมาไว้ด้วยกัน เช่น #MondayMotivation และ #MotivationMonday จะแสดงผลเป็น #MondayMotivation
4) วิธีดูทวีต “ติดเทรนด์”
ผู้สนใจหรือผู้ใช้งานสามารถคลิกหรือแตะตรงข้อความที่อยู่ในเทรนด์ จากนั้นระบบจะนำไปสู่หน้าแสดงผลการค้นหาเทรนด์นั้นๆ ทำให้เห็นทวีตต่างๆ รวมถึงวลี คำ หรือแฮชแท็กที่เกี่ยวข้อง
และหากต้องการดูทวีตที่เคยติดเทรนด์ก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่ได้อยู่ในลิสต์ของเทรนด์แล้ว ผู้ใช้ทวิตเตอร์ก็สามารถค้นหาทวีตเก่าเหล่านั้นในช่องค้นหาได้
5) อยากเป็น “ส่วนหนึ่งของเทรนด์”
ผู้ใช้ทวิตเตอร์สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์ได้ โดยการ ทวีตข้อความที่มีวลี คำ หรือแฮชแท็กที่กำลังติดเทรนด์อยู่ ข้อความดังกล่าวก็จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์ทันที
หมายเหตุ ทวิตเตอร์มีตัวกรองในการค้นหาเฉพาะ “ข้อความหรือทวีตที่มีคุณภาพ” ทวีตใดที่ไม่มีคุณภาพจะถูกคัดกรองออกไป
6) เห็นข้อมูลเพิ่มจาก “เทรนด์”
บางครั้งผู้ใช้อาจเห็นข้อมูลของเทรนด์ได้ เช่น จำนวนทวีตโดยประมาณ หรือบริบทส่วนบุคคล เช่น ใครในเครือข่ายกำลังทวีตเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ อยู่ หากดูจำนวนทวีตที่แสดง ก็จะเห็นว่าทวีตที่มีจำนวนมากกว่าอาจปรากฏอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าทวีตที่มีจำนวนทวีตน้อยกว่าได้ (ตามที่อธิบายไปแล้วในข้อที่ 2 ว่า เทรนด์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนทั้งหมดของทวีตในหัวข้อนั้น แต่เป็นการสะท้อนถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ณ ตอนนั้น)
7) ทวีตแบบไหนไม่มีสิทธิ์ติดเทรนด์
ทวิตเตอร์ต้องการให้ฟีเจอร์เทรนด์เป็นการโปรโมตบทสนทนาที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายความว่า ในบางครั้ง ทวิตเตอร์อาจป้องกันเนื้อหาบางประเภทไม่ให้ติดเทรนด์ได้ เช่น ทวีตที่มีเนื้อหาหยาบคายหรือมีการโพสต์รูปภาพที่ไม่เหมาะสม ปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังด้านเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ชาติกำเนิด รสนิยมทางเพศ เพศ อัตลักษณ์ทางเพศ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาสนา อายุ ความทุพพลภาพ ฯลฯ ที่ละเมิดข้อบังคับหรือนโยบายของทวิตเตอร์
8) ทวิตเตอร์เทรนด์ มี 2 แบบ
- เทรนด์แบบทั่วไป
- เทรนด์ที่มีการโปรโมต
เทรนด์แบบทั่วไป คือสิ่งที่อธิบายไปข้างต้นและทำงานภายใต้ข้อบังคับของทวิตเตอร์ ซึ่งไม่สามารถซื้อขายได้ (เกิดขึ้นจากบทสนทนาหรือทวีตกันเป็นปกติ) ส่วนเทรนด์ที่มีการโปรโมต ทวิตเตอร์มี 2 ฟีเจอร์โฆษณาไว้รองรับ ได้แก่
โปรโมตเทรนด์บนทวิตเตอร์ (Promoted Trends) เป็นฟีเจอร์โฆษณาที่สร้างผลลัพธ์ได้สูงภายใน 24 ชั่วโมง จึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากแบรนด์ต่างๆ และเพื่อความโปร่งใส เทรนด์ที่เป็นการโปรโมทในรูปแบบนี้จะมีเครื่องหมายแสดงอย่างชัดเจนว่าโปรโมต (Promoted)
โปรโมตสปอตไลท์เทรนด์ (Promoted Trend Spotlight) คือ การโฆษณาแบบภาพที่ปรากฏเหนือรายการเทรนด์ โดยฟีเจอร์นี้รองรับทั้งภาพนิ่ง วิดีโอ และภาพเคลื่อนไหว (GIFs) ซึ่งรวมเวลาที่แสดงผลไม่เกิน 6 วินาที
อ้างอิง
https://www.marketingoops.com/news/trend-twitter/