Home Body ‘ภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ’ เรื่องควรทราบหลังฉีดวัคซีน

‘ภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ’ เรื่องควรทราบหลังฉีดวัคซีน

by Lifeelevated Admin1

สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ยังไม่มีทีท่าจะจบลงในระยะเวลาอันใกล้ วัคซีนโควิด 19 จึงเป็นความหวังสูงสุดในการหยุดโรคร้ายนี้ โดยประเทศไทยได้เริ่มการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นการที่ประชาชนมีความเข้าใจและสังเกตอาการตนเอง เพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 และหากเกิดอาการจะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

1. ลิ่มเลือดและภาวะการเกิดลิ่มเลือดคืออะไร เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?

การเกิดลิ่มเลือดเป็นกลไกการตอบสนองของร่างกาย ในภาวะเมื่อเรามีบาดแผลเกิดขึ้น เกล็ดเลือดจะทำหน้าที่รวมกลุ่มกันจนกลายเป็นลิ่มเลือดเพื่อทำให้เลือดหยุด ส่วนสาเหตุการเกิดลิ่มเลือดอุดตันนั้น เกิดจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่

  1.  ผนังหลอดเลือดผิดปกติ เช่น เกิดบาดแผลจากของมีคม การผ่าตัดทำหัตถการอาจทำให้หลอดเลือดบางส่วนเสียหาย หรือแม้แต่การเกิดลิ่มเลือดจากภาวะไขมันเกาะผนังเส้นเลือด
  2.  การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ เช่น การไหลเวียนเลือดช้าลง เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวอาจเกิดการอุดตันจนเกิดลิ่มเลือดในที่สุด
  3.  การแข็งตัวของเกล็ดเลือดผิดปกติ เช่น การขาดสารต้านการแข็งตัวของเลือด (anti-coagulation factors) หรือร่างกายขาดโปรตีนในการยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย ปกติภาวะลิ่มเลือดอุดตันพบในกลุ่มประชากรสูงวัยมากกว่าในอายุน้อยและส่วนใหญ่จะพบลิ่มเลือดอุดตันในบริเวณขาและปอด

2. ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำภายหลังฉีดวัคซีนคืออะไร?

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำจากวัคซีน หรือ Vaccine-Induced immune Thrombotic Thrombocytopenia (VITT) มีการรายงานครั้งแรกในทวีปยุโรปหลังผู้ป่วยได้รับวัคซีนโควิด 19 และการอุดตันของลิ่มเลือดจะเกิดในตำแหน่งที่พบน้อยกว่าการเกิดลิ่มเลือดด้วยสาเหตุอื่นๆ เช่น หลอดเลือดดำในสมองหรือในช่องท้อง นอกจากนั้นยังมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วย ซึ่งจะคล้ายกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำและหลอดเลือดอุดตันในผู้ป่วยที่ได้รับเฮปาริน (heparin) หรือเรียกว่า heparin-induced thrombocytopenia (HIT) แต่ภาวะ VITT เกิดขึ้นในคนไข้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 ซึ่งไม่มีประวัติการได้รับเฮปาริน

3. ลิ่มเลือดอุดตันหลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีอาการอย่างไร?

เนื่องจากลิ่มเลือดสามารถเกิดได้ในหลายบริเวณของร่างกาย ดังนั้นอาการที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามอวัยวะที่ลิ่มเลือดไปอุดตัน เช่น ในปอด จะมีอาการเจ็บหน้าอกแปล๊บๆ หายใจไม่อิ่มและเหนื่อยง่าย บริเวณขา จะเกิดอาการขาบวมข้างเดียว ในท้องจะเกิดอาการปวดท้องรุนแรง ส่วนในอวัยวะที่สำคัญต่อชีวิต (Vital Organs) เช่น เส้นเลือดสมองจะเกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง เมื่อ ไอ จาม จะปวดมากขึ้น และอาจมีภาวะอ่อนแรง ชาซีกเดียวคล้าย Stroke ได้

4. วัคซีนโควิด 19 ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้อย่างไร?

ปัจจุบันสาเหตุการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากวัคซีนโควิด 19 ยังไม่ทราบแน่ชัด แพทย์และผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า เป็นผลจากวัคซีนโควิด 19 ไปเพิ่มการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และภูมิคุ้มกันดังกล่าวนี้กระตุ้นการทำงานของเกล็ดเลือด เกิดเป็นลิ่มเลือดไปอุดเส้นเลือดในอวัยวะต่างๆ นอกจากนั้นยังทำให้ปริมาณเกล็ดเลือดในร่างกายลดลงเนื่องจากเกล็ดเลือดส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้การสร้างลิ่มเลือดในขึ้นตอนแรก ซึ่งในปัจจุบันไม่พบภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นใด นอกจากพบในผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนโควิด 19

5. ลิ่มเลือดอุดตันหลังการฉีดวัคซีน พบบ่อยแค่ไหน ท่านใดบ้างที่ต้องระวัง?

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำจากวัคซีน หรือ Vaccine-Induced immune Thrombotic Thrombocytopenia (VITT) เกิดขึ้นได้ในอัตราส่วน 1:125,000 – 1:1,00,000 กล่าวคือ ในผู้รับวัคซีน 1 ล้านคน จะพบภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีนโควิด 19 จำนวนเฉลี่ย 3.6 คน (ข้อมูลวันที่ 8 มิถุนายน 2564) และส่วนใหญ่พบในหญิงที่มีอายุน้อยกว่า 55 ปี ซึ่งอุบัติการถือว่าน้อยมากและประโยชน์จากการฉีดวัคซีนมีมากกว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลในประเทศไทยยังต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันทางสถิติภาวะ VITT กับการได้รับวัคซีนชนิดต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติให้ฉีดในไทย เนื่องจากการฉีดวัคซีนในประเทศเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น

6. สังเกตอาการได้อย่างไรว่ามีอาการลิ่มเลือดอุดตัน?

หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นเวลา 30 นาที ผู้ได้รับวัคซีนอาจจะมีไข้ต่ำๆ หรือปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย มีผื่นเล็กน้อย อาการเหล่านี้จะหายได้เองภายใน 2-3 วัน ส่วนอาการลิ่มเลือดอุดตันจะเกิดในช่วงเวลา 5-42 วันหลังได้รับวัคซีน โดยหากท่านใดมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง แขนขาชา หรือ อ่อนแรง หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ตามัว เห็นภาพซ้อน ซัก เหนื่อยง่าย หายใจลำบากหรือติดขัด เจ็บแน่นหน้าอก ขาบวมแดงหรือซีดเย็น ปวดท้องหรือปวดหลังรุนแรง ให้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุและรักษาในสถานพยาบาลที่ท่านรักษาตัวเป็นประจำ

7. เมื่อเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ แพทย์จะรักษาอย่างไร?

หากผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำร่วมกับค่าสารบ่งชี้ทางชีวภาพ d-dimer สูงซึ่งจากการสลายของโปรตีนไฟบริน หรือมีเกล็ดเลือดต่ำร่วมกับลิ่มเลือดอุดตันภายใน 5-42 วันหลังฉีดวัดซีนโควิด 19 เนื่องจากการตรวจยืนยันภาวะ VITT ต้องทำในห้องปฏิบัติการที่ซับซ้อน ระหว่างรอผลวินิจฉัย แพทย์จะให้สารอิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำ (intravenous immunoglobulin, IVIG) และอาจให้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เช่น methylprednisolone หรือ prednisolone นอกจากนั้นแล้วแพทย์อาจให้ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือดหรืออาจรักษาด้วยวิธีแลกเปลี่ยนพลาสมา

การดำเนินชีวิตประจำวันภายใต้การระบาดของโควิด 19 เป็นไปด้วยความยากลำบาก วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จึงเป็นความหวังในการคืนวิถีชีวิตปกติใหม่ ซึ่งแม้ว่าวัคซีนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงในผู้รับการฉีดบางราย แต่เนื่องจากผลข้างเคียงพบได้น้อยมาก  หากเรารู้เท่าทันผลข้างเคียงที่รุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ตื่นตัว ตระหนักแต่ไม่ตระหนก เฝ้าสังเกตอาการเหล่านี้อยู่เสมอ เราจะอยู่รอดปลอดภัยจากผลข้างเคียงของการได้รับวัคซีนโควิด 19 ได้

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

 

อ้างอิง

https://pharmacy.mahidol.ac.th/

Related Articles

Leave a Comment