ปี ค.ศ. 2020
น่าจะเป็นปีแห่งความเซอร์ไพรส์ของเราทุกคนตั้งแต่ต้นจนปลายปี จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลต่อเนื่องถึงวิถีชีวิตในระยะยาว รวมถึงกระทบธุรกิจในหลายๆ วงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการเทคโนโลยี
Gartner บริษัทวิจัยและผู้ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับกลยุทธ์การใช้เทคโนโลยีที่จะมีผลจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั่วโลก โดย Gartner วิเคราะห์ว่า จะมี 9 แนวโน้มกลยุทธ์การใช้เทคโนโลยีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจริงในปี 2021 โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 People Centricity : เทคโนโลยีที่คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา
- Internet of Behavior (IoB) : จะมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเก็บข้อมูลของผู้คนมากขึ้น ทั้งในเชิงธุรกิจและภาครัฐ เช่น การจดจำใบหน้าหรือการติดตามพิกัด ทำให้สามารถเข้าใจพฤติกรรมผู้คนได้มากขึ้น และอาจนำมาใช้ต่อยอดในด้านอื่นๆ ได้ด้วย ทั้งเรื่องของการพัฒนาการให้บริการลูกค้า หรือการควบคุมการเกิดโรคระบาด Gartner
- Privacy-Enhancing Computation : เมื่อมีข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น สิ่งที่จะพัฒนาตามมาคือการพัฒนาระบบและสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีเพื่อจะประมวลผลข้อมูลได้อย่างปลอดภัย รวมถึงสามารถส่งต่อข้อมูลเหล่านั้นเพื่อประมวลผลข้ามองค์กรด้วยได้ ภายในปี ค.ศ. 2025 เกินครึ่งของบริษัทขนาดใหญ่จะต้องเพิ่มความสามารถนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่อง Privacy และ Security ของผู้บริโภคให้ได้
- Total Experience : การออกแบบประสบการณ์ในยุคต่อไป จะไม่ได้มุ่งเน้นแค่ผู้ใช้หรือลูกค้าเป็นหลัก หากแต่ต้องรวมเอาประสบการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งจากผู้ให้และผู้รับบริการ เพื่อทั้งผลลัพธ์และการดำเนินงานที่ดีขึ้น เพราะในยุค Social Distancing การออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ให้บริการเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้
กลุ่มที่ 2 Location Independence : เทคโนโลยีที่ทำให้การทำงานหรือการเข้าสังคมที่ไม่ยึดติดกับสถานที่
- Cybersecurity Mesh : ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ทรัพยากรด้านไอทีจำนวนมากถูกกำหนดไว้ให้ใช้เฉพาะภายในองค์กร แต่ด้วยข้อจำกัดที่เปลี่ยนไป จึงเกิดแนวคิดในการสร้างระบบที่อนุญาตให้ผู้ใช้กำหนดพื้นที่หรือระบุตัวตนเพื่อใช้ทรัพยากรได้ แม้ไม่ได้นั่งทำงานอยู่ในองค์กร ซึ่งเราก็พอเห็นแล้วว่า Cloud สามารถผลักดันแนวคิดนี้บ้างแล้ว
- Anywhere Operation : การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและแอปพลิเคชัน จะกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจหลายๆ ธุรกิจที่อาจไม่เคยมีมาก่อน เพื่อให้ธุรกิจสามารถให้บริการลูกค้าจากที่ใดก็ได้ และพนักงานทำงานจากที่ใดก็ได้ผ่านโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้
- Distributed Cloud : ผู้ให้บริการ Cloud จะขยายขอบเขตของการใช้งานกว้างมากขึ้น พร้อมทั้งกระจายการติดตั้งระบบไว้ในหลายๆ แห่ง เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถใช้ Cloud Services ในการส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
กลุ่มที่ 3 Resilient Delivery : เทคโนโลยีที่ทำให้ธุรกิจสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
- Intelligent Composable Business : การตัดสินใจทางธุรกิจจะพึ่งพาข้อมูล และโมเดลทางธุรกิจที่ทำให้เกิดการตัดสินใจอย่างอัตโนมัติมากขึ้นในอนาคต องค์กรจึงจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่สามารถหยิบใช้ข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์เชิงลึกแบบอัตโนมัติได้ ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างเหล่านั้นให้สามารถเลือกหยิบใช้ข้อมูลหรือระบบแค่บางส่วน มาสร้างบริการใหม่ได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่กะทันหัน แทนที่จะต้องพัฒนาระบบใหม่ทั้งหมด
- AI Engineering : องค์กรจะต้องทำให้ AI เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาและการทำงานต่างๆ แทนที่จะมองเป็นโปรเจกต์ด้าน AI โดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยต้องคำนึงในเรื่องของความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส จริยธรรม สามารถอธิบายได้ และเป็นไปตามกฎปฏิบัติต่างๆ
- Hyperautomation : จะมีการผสมผสานระหว่าง Machine Learning และ Automation Tool หลายๆ ตัวเข้าด้วยกัน ซึ่งเราเริ่มเห็นแนวโน้มมาระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่สถานการณ์แพร่ระบาดครั้งใหญ่นั้นเป็นการยกระดับให้องค์กรเปลี่ยนทุกอย่างเป็น Digital First อย่างรวดเร็ว ทำให้เราน่าจะได้เห็นระบบอัตโนมัติมากขึ้นในปีต่อๆ ไป
แนวโน้มเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงเทรนด์ของปี ค.ศ. 2021 เท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางสำคัญที่ปูทางให้องค์กรต่างๆ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกยาวๆ ต่อไปได้ด้วย
อ้างอิง
https://www.trueidc.com/th/article-detail/58/Gartner-Trends-2021
https://thematter.co/quick-bite/gartners-tech-trend-2021/131422