การฉีดยาจะไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หรือทำให้เราเจ็บตัวอีกต่อไป กับนวัตกรรม ‘ไมโครนีดเดิลแบบละลายได้’ แผ่นแปะเข็มฉีดยา ทางเลือกใหม่ในการดูแลสุขภาพ ใครๆ ก็ฉีดยาให้ตัวเองได้ สู่การพัฒนาลู่ทางการตลาดโอกาสผู้ประกอบการไทย ต่อยอดนวัตกรรมสู่ความสำเร็จ
นวัตกรรมแผ่นแปะเข็มฉีดยาขนาดจิ๋ว ที่สามารถฝังตัวและละลายใต้ผิวหนังของเราได้ จากบริษัท ไมนีด เทคโนโลยี จำกัด สตาร์ทอัพภายใต้การสนับสนุนของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) นวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยให้การฉีดยาเป็นเรื่องง่าย ไม่เจ็บ ใครๆ ก็ทำให้ตัวเองได้ ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะอันตรายทางการแพทย์อย่างเข็มฉีดยาได้อีกด้วย
สะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์คนกลัวเข็ม
นวัตกรรมไมโครนีดเดิลเป็นการนำตัวยาผสมเข้าไปในเข็มขนาดเล็กไม่เกิน 1 มิลลิเมตร (1,000 ไมครอน) สามารถละลายเข้าสู่ผิวหนังได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ความรู้สึกบนผิวหนังที่ได้รับตัวยาแตกต่างจากการให้ยาด้วยเข็มฉีดยา
สำหรับนวัตกรรมนี้ นอกจากจะไม่รู้สึกเจ็บเหมือนเวลาโดนเข็มฉีดยา ยังสามารถใช้เองได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญ และนอกจากลดความรู้สึกเจ็บและความน่ากลัวของเข็มฉีดยาแล้ว ข้อดีอีกประการของการใช้ไมโครนีดเดิลคือปริมาณยาที่ใช้ลดลง ยกตัวอย่างสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด 19 จากที่เราเห็นในข่าว การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 มีอยู่ 2 ประเภท คือการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อและการฉีดวัคซีนใต้ผิวหนัง สำหรับการฉีดยาใต้ผิวหนังจะสามารถกระตุ้นภูมิได้ดีกว่าและใช้โดสยาน้อยกว่าการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ แต่การฉีดยาใต้ผิวหนังจะฉีดได้ยากกว่าและหากฉีดบ่อยๆ ด้วยเข็มฉีดยาจะทำให้เกิดแผลเป็นได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องฉีดยาใต้ผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน
พร้อมตอบโจทย์ให้ผู้ที่จำเป็นต้องฉีดยาใต้ผิวหนังบ่อยๆ จะได้ไม่ต้องเดินทางไปรับบริการทางการแพทย์ ที่ต้องเสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกทั้งยังเหมาะกับผู้ที่กลัวเข็มหรือไม่กล้าฉีดยาให้ตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนหนึ่งต้องเสียชีวิตเพราะไม่กล้าฉีดอินซูลินด้วยตัวเอง ทำให้ไม่ได้รับยาเพื่อรักษาโรคอย่างเต็มที่ ดังนั้น ไมโครนีดเดิล จึงถือเป็นวัตกรรมการแพทย์ สำหรับคนกลัวเข็ม เพราะผู้ป่วยสามารถฉีดยาเองได้ง่ายๆ
ใช้งานง่าย เหมาะกับยาและวัคซีนทุกประเภท
วิธีการใช้นวัตกรรม ‘ไมโครนีดเดิลแบบละลายได้’ ประกอบด้วยอุปกรณ์ 2 ชิ้น คือ แผ่นไมโครนีดิล และแผ่นน้ำที่มีลักษณะคล้ายแผ่นทิชชูเปียก โดยวิธีการใช้งานเริ่มจากแปะแผ่นไมโครนีดเดิลบนผิวหนังบริเวณที่ต้องการฉีดยา ใช้นิ้วมือกดให้ทั่วแผ่นเพื่อให้ตัวเข็มที่ฝังยาไว้ฝังตัวใต้ผิวหนัง จากนั้นนำแผ่นน้ำมาวางทาบลงบนบริเวณที่แปะแผ่นไมโครนีดเดิลไว้เพื่อให้ตัวเข็มละลาย ปล่อยทิ้งไว้ 2 นาที เพื่อให้ตัวยาละลายเข้าใต้ผิวหนัง แล้วจึงลอกแผ่นน้ำและแผ่นไมโครนีดเดิลออกเป็นอันเสร็จสิ้น
สำหรับไมโครนีดเดิลทำมาจากสารไฮยาลูโรนิค แอซิค ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ที่อยู่ในร่างกายของคนอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ตัวเข็มสามารถใช้ได้กับทุกคน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดยาหรือวัคซีนที่ใช้ฉีด หากผู้ใช้แพ้ยาหรือวัคซีนก็มีโอกาสที่จะแพ้
นอกจากนี้ ไมโครนีดเดิล ยังช่วยการยืดอายุและการเก็บรักษา รวมถึงยืดอายุของตัวยา เนื่องจากเป็นการนำของเหลวมาทำให้เป็นของแข็ง ทำให้สามารถเก็บได้นานขึ้น 1 – 2 ปี และสามารถใช้ได้กับยาและวัคซีนทุกประเภทที่ฉีดเข้าทางผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นยาเฉพาะจุด เช่น ยารักษาสิว ยาแก้แผลเป็นนูน หรือยาที่ใช้กับระบบในร่างกาย เช่น ยารักษาเบาหวาน ยารักษาไมเกรน ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด
โอกาสผู้ประกอบการไทย ต่อยอดนวัตกรรมสู่ความสำเร็จ
นวัตกรรมไมโครนีดเดิลแบบละลายได้ สามารถต่อยอดพัฒนาใช้ได้กับยาได้หลายประเภท เช่น แผ่นแปะสมุนไพรสำหรับแผลยุงกัด นอกจากนี้ ยังสามารถปรับคุณสมบัติและองค์ประกอบของตัวเข็มเพื่อให้เข้ากับคุณสมบัติของยาต่างๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจง เช่น สารที่ใช้ฉีด ขนาดของเข็ม ระยะเวลาในการละลายสาร
อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในตัวช่วยให้ผู้คนเข้าถึงการรักษา และป้องกันโรคอย่างกว้างขวาง เพราะไม่ต้องกลัวเข็มและกลัวเจ็บอีกต่อไป
ด้วยคุณสมบัติต่างๆ ของนวัตกรรมไมโครนีดเดิล นับว่าจะมีบทบาทช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการให้บริการการรักษาทางไกล โดยคนไข้ไม่ต้องเข้ามารับการฉีดยาเพื่อรักษาโรคต่างๆ ที่โรงพยาบาลในอนาคตอีกทั้งยังเปิดโอกาสธุรกิจเฮลท์แคร์ ผู้ประกอบการหรือ SME ในประเทศไทยให้ก้าวทันไกลอีกด้วย
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @lifeelevatedCLB
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @lifeelevatedclub
Blockdit: Lifeelevatedclub
Youtube: Life Elevated Club
.
.
#LifeElevated #ไมโครนีดเดิลแบบละลายได้ #นวัตกรรมเข็มฉีดยา #เข็มฉีดยา #เฮลท์แคร์ #สตาร์ทอัพไทย #DigitalTechnology #Innovation
.
.
อ้างอิง : ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub)