โซเชียลฮิต
โลกออนไลน์ในปีที่ผ่านมาก็มีทั้งกระแสฮิต เทรนด์ร้อน ไปจนถึงประเด็นชวนสับสนแปรปรวนไม่แพ้สภาพอากาศ Life Elevated จะพาย้อนไปดูว่า คนไทยพูดถึงเรื่องไหนมากที่สุดในโลกโซเชียล มีเดีย และนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้ โดยสรุป Key Takeaway จากงาน Creative Talk Conference 2021 ในหัวข้อ Social Trends 2021 ที่ “กล้า ตั้งสุวรรณ” ซีอีโอบริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Social Listening “Wisesight” นำข้อมูลบนโซเชียลและประโยชน์ที่จับต้องได้มานำเสนอ
พฤติกรรมคนไทยจาก 4 แพลตฟอร์ม Facebook – Twitter – Instagram – YouTube รู้แล้วยังไง?
- ปี 2020 คนไทยโพสต์โซเชียล มีเดียมากขึ้น แต่ใช่ว่าจำนวนการเข้าถึงจะเพิ่มตาม
เทียบปี 2020 กับปี 2019 คนไทยโพสต์ Facebook เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% แต่มีอัตราการเข้าถึง (Engagement) เพิ่มขึ้น 47.9% แสดงว่าการทำตลาดบนเฟซบุ๊ก ไม่จำเป็นต้องโพสต์เยอะ แต่โพสต์คุณภาพก็เข้าถึงได้ ส่วนใน Twitter มีแบรนด์โพสต์เพิ่มขึ้น 15.6% ได้ Engagement 36.9% เมื่อเทียบสองแพลตฟอร์มนี้จะพบว่ามี Engagement คุณภาพสูงกว่าการโพสต์บน Instagram และ Youtube
รู้แล้วยังไง? : แบรนด์ ผู้ประกอบการ ผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์ นักการตลาด ควรดู Data ว่า คุณภาพของการโพสต์แต่ละแพลตฟอร์มเป็นอย่างไร เพื่อประกอบการตัดสินใจว่า ปีนี้ควรใช้แพลตฟอร์มไหนในการสื่อสารการตลาดมากกว่ากัน
- การโพสต์และเข้าถึงโพสต์ของอุตสาหกรรมต่างๆ ลดลง
ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมมี Engagement ลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมร้านอาหาร อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับความสวยความงามและการดูแลตัวเอง ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมยานยนต์ สร้างยอดขายไม่ได้ตามเป้า แต่มี Engagement เพิ่มขึ้นจากการใช้โซเชียล มีเดียทำการตลาด เช่น การเปิดตัวรถผ่านสื่อโซเชียลแทนการจัดงาน Expo การจัดงาน test drive เสมือนจริง เพราะไม่สามารถจัดอีเวนต์แบบออฟไลน์ได้นั่นเอง
รู้แล้วยังไง? : ผู้ประกอบธุรกิจที่ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ ย่อมเพิ่มโอกาสการขายและการทำตลาดแม้ในช่วงวิกฤต ทั้งยังมีผลกระทบเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์อีกด้วย
- ผลจากการสื่อสารของภาครัฐ
ตลอดปี 2020 มีโพสต์ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะรัฐต้องการใช้โซเชียลสื่อสารกับประชาชนเรื่องโควิด-19 โดยครึ่งปีหลังยิ่งมีการโพสต์มากขึ้นแต่กลับมี Engagement ต่ำลง เป็นไปได้ว่า ประชาชนอาจไม่เข้าใจสถานการณ์ เกิดเฟกนิวส์จำนวนมาก ผู้คนไม่เชื่อมั่นข่าวของภาครัฐ ตลอดจนประเด็นเรื่องสาธารณสุขที่ผูกโยงกับการเมือง ส่งผลให้สารจากภาครัฐไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนเท่าที่ควร
รู้แล้วยังไง? : ภาครัฐอาจต้องเปลี่ยนวิธีสื่อสาร หรือใช้เครื่องมืออื่นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นหรือช่วยให้การตรวจสอบข้อมูลได้
- กระแส #save ตั้งแต่ปลายปี 2019 – 2020
อาทิ #saveมาเรียม #saveปีโป้ม่วง #saveภูเก็ต และจากกระแสที่เกิดขึ้นก็ช่วยสร้างยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เช่น กระแสปีโป้ม่วง ปีโป้เห็นกระแสก็ลุกขึ้นมาทำตลาดออนไลน์ แบรนด์อื่นๆ ก็ใช้กระแสนี้ทำการตลาด ส่งเสริมภาพลักษณ์และขายสินค้าร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น เดอะมอลล์ กรุ๊ป แฟมิลี่ มาร์ท แมคโดนัลด์ ท็อปส์ เมเจอร์ ทั้งนี้ หากดูกระแส #save ตลอดปี 2020 พบว่า คนไทยใช้ #save พูดคุยเรื่องการเมืองมากถึง 70% ของกระแส #save ทั้งหมด
รู้แล้วยังไง? : อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ยอดขายตก ของค้างสต็อก สามารถพลิกกลับมาขายดีได้โดยปรับแผนการตลาดมาเล่นกับกระแส แต่ต้องทำอย่างรวดเร็ว รู้จังหวะ เพราะเรื่องที่เป็นกระแสนั้นมาไวไปไว
ทิศทางของการใช้ Data ต่อจากนี้
Quicker Data การใช้ข้อมูลที่ได้มาอย่างรวดเร็วและเรียลไทม์ ซึ่งแบ่งได้เป็น
- Real Time แบรนด์ต้องได้ข้อมูลหรือสื่อสารเร็วขึ้นและเรียลไทม์ เช่น พีอาร์อาจต้องทำคอนเทนต์ปรับปรุงภาพลักษณ์ ถ้านำข้อมูลในวันศุกร์ ไปนำเสนอวิธีแก้ปัญหาในวันจันทร์อาจช้าไปจนเกิดปัญหาได้
- Fast Response ชาวเน็ตรอแค่อึดใจเดียว ถ้าทักไปแล้วแบรนด์ตอบช้าเกิน 30 นาที โอกาสขายจะหายไป
- Dashboard เมื่อมีข้อมูลมหาศาลที่อัปเดตเรียลไทม์ เราสามารถนำข้อมูลไปให้ผู้บริหารตัดสินใจได้เร็วขึ้น (การทำรายงานช้าอาจช้าเกินไป)
Deeper Data ในปี 2020 นักการตลาดใช้ข้อมูลที่ลึกขึ้น 3 ด้าน ได้แก่
- Image Labeling คือ การใช้ข้อมูลภาพ ซึ่งสื่อสารได้อย่างหลากหลายแต่ข้อมูลภาพที่มีมหาศาล มนุษย์ไม่สามารถอ่านได้ทั้งหมด AI จึงเข้ามาช่วยอ่านภาพ วิเคราะห์ภาพให้ลึกขึ้น
- Lead Signal Data ข้อมูลบนโซเชียลไม่ได้มีแค่คนบ่น คนชม แต่สิ่งที่นักการตลาดและแบรนด์อยากได้คือ ต้องวิเคราะห์ได้ว่า ข้อมูลไหน Generate เพื่อเพิ่มโอกาสการขายได้
- Market Benchmarking เราต้องนำข้อมูลจากโซเชียล มีเดีย ของตัวเองในปัจจุบันเทียบกับอดีต และเทียบกับแบรนด์ข้างเคียงเพื่อดูว่าเราทำได้ดีขึ้นหรือแย่ลง
Integration of Data นำข้อมูลจากส่วนต่างๆ มาประกอบการวิเคราะห์หรือตัดสินใจได้ ทั้งจาก
- Google Search คือค้นหาข้อมูลจากโลกออนไลน์ที่กว้างกว่าโซเชียล มีเดีย
- Multi-tools คือการเชื่อมกับเครื่องมืออื่นๆ เพื่อเก็บข้อมูล เช่น โซลูชันของ Saleforce
- Traditional Media สื่อดั้งเดิม เช่น ทีวี วิทยุ
Social Trends ที่จะเกิดขึ้นในปี 2021
- ผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นอีก
จากการสำรวจของ Deloitte บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกพบว่า คนชอบแบรนด์ที่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์โควิด เช่น ชาบู ที่ผู้บริโภคไปกินที่ร้านไม่ได้ ปรับตัวมาให้บริการเดลิเวอรี ธุรกิจก็ยังไปต่อได้
- การแข่งขันด้าน Digital Marketing เพิ่มสูงขึ้น
ทุกบริษัท ทุกองค์กรต้องเข้าสู่ดิจิทัล แบรนด์จึงต้องฟังผู้บริโภคมากขึ้นว่าต้องการอะไร แล้วปรับตัวให้เร็วที่สุด และจำเป็นอย่างยิ่งที่แบรนด์จะต้องวัดผลทุกโซเชียล มีเดีย เพราะถ้าไม่วัดผลเท่ากับว่าแบรนด์กำลังละลายเงินไปเรื่อยๆ
- 1st Party Data เป็นข้อมูลที่มีมูลค่าสูงมาก แต่จะใช้ข้อมูลนี้เพียงอย่างเดียวไม่ได้
แหล่งข้อมูลแรกมีความแม่นยำสูงสุด มีมูลค่ามากที่สุด แต่ก็มีปัญหาสูงมากเช่นกัน เพราะค่าเฉลี่ยของการพัฒนาแพลตฟอร์มอยู่ที่แพลตฟอร์มละ 3-10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่ใช่ทุกบริษัทที่สามารถลงทุนได้ และไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะใช้งานแพลตฟอร์มได้สำเร็จ เพราะฉะนั้น เราต้องมีข้อมูลอื่นๆ มาประกอบกับ 1st party Data คือ เก็บข้อมูลมากกว่าการวิจัยตลาดทั่วไป
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @_lifeelevated_
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @Lifeelevated
Blockdit: Life Elevated
.
.
#LifeElevated #SocialTrends #โซเชียลมีเดีย #เทรนด์
.
.
อ้างอิง
https://creativetalklive.com/social-media-marketing-trends-2020/
https://www.prosoftibiz.com/Article/Detail/78407
https://www.thinkaboutwealth.com/socialmediastat-thailand2020/