Home Creativity เทคนิค “เพิ่มความจำ” ต้องทำเหมือนรดน้ำต้นไม้

เทคนิค “เพิ่มความจำ” ต้องทำเหมือนรดน้ำต้นไม้

by Lifeelevated Admin1

อะไรที่อยากจำกลับลืม อะไรที่อยากลืมกลับจำ

สมองของคนเราคือส่วนสำคัญไม่แพ้อวัยวะอื่นๆ เพราะต้องคิด วิเคราะห์ วางแผนและสั่งการให้ร่างกายทำในสิ่งต่างๆ ได้อย่างเชื่อมโยงกันด้วยความมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดีเราเชื่อว่าทุกคนอยากจะสั่งให้สมองทำงานเหมือนหน่วยเก็บความจำของคอมพิวเตอร์ที่สามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งหมดที่อยากจะเก็บ และสามารถลบข้อมูลทุกอย่างที่ไม่ต้องการได้อย่างใจนึก

นอกจากนี้เราก็เชื่อว่าทุกคนอยากมีความจำดี เพื่อจะได้เรียนเก่ง เรียนรู้งานได้เร็ว สอนอะไรก็จำได้ เข้าใจง่าย แต่ตราบใดที่คุณยังไม่เข้าใจความลับการทำงานของระบบความจำของ “สมองมนุษย์” คุณก็จะไม่สามารถพัฒนาความจำของตัวเองให้ดีขึ้นได้มากไปกว่านี้ ดังนั้น Life Elevated ทุกคนมาไขความลับการทำงานของระบบความจำของสมองกัน

ผู้ที่เริ่มต้นศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “ความจำ” ของสมองเป็นคนแรกของโลก

ผู้ที่ศึกษาเรื่องระบบความจำของสมองมนุษย์อย่างเป็นวิชาการเป็นคนแรกของโลกก็คือนาย เฮอร์มานน์ เอบบิงเฮาส์ (Hermann Ebbinghaus) นักจิตวิทยาชาวเยอรมันที่ได้เริ่มศึกษาเรื่องนี้ในปี 1880 โดยเขาได้ใช้เวลาวิจัยเรื่องนี้กับตัวเองโดยลำพังเป็นเวลาหลายปีเพื่อไขความลับความจำของมนุษย์

วิธีการศึกษาของเฮอร์มันไม่ได้ซับซ้อนอะไร เขาแค่ทดลองให้ตัวเองได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งใหม่ๆ แล้วจดบันทึกว่าเมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปนั้นจำอะไรได้บ้างแล้ว โดยไม่กลับไปทบทวน เขาทำวนๆ ซ้ำแบบนี้หลายรอบ กับหลายเรื่องราวมาก จนสามารถสรุปได้ว่า

เมื่อเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เมื่อผ่านไป 20 นาทีแรกสิ่งที่เราจำได้จะเหลือ 60% และเมื่อผ่านไป 1 ชั่วโมง สิ่งที่จำได้จะเหลือ 50% และเมื่อผ่านไป 9 ชั่วโมง สิ่งที่จำได้จะเหลือเพียงแค่ 20% เท่านั้น แล้วจากนั้นความทรงจำ 20% ที่เหลือนี้ก็มีแนวโน้มคงที่ (ลดลงทีละนิดๆ) นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าเราจะจดจำได้ไปอีกหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ แต่หากผ่านไปเป็นเดือนๆ ก็ย่อมลืมได้

หลังจากที่ เฮอร์มานน์ ได้ทำการวิจัยนี้ผ่านไป 5 ปี ในปี ค.ศ. 1885 เขาก็ได้ตีพิมพ์งานวิจัยนี้ให้แวดวงวิชาการได้รับรู้ โดยไฮไลต์สำคัญของการตีพิมพ์ซึ่งเป็นการสรุปรวมทุกสิ่งก็คือ “Forgetting Curve” หรือ กราฟแห่งการลืม อันเลื่องชื่อ

งานวิจัยของ เฮอร์มาน ได้รับการยอมรับจากนักประสาทวิทยาสมัยใหม่

อย่างไรก็ดี ในการศึกษาวิจัยของเฮอร์มานนั้น เขาได้ทำการบันทึกความจำแต่ละเรื่องใหม่ๆ ที่เขาศึกษาเพียง 31 วันเท่านั้น นักประสาทวิทยา (Nuerobiologist) ยืนยันว่า หากเวลาผ่านไปหลายเดือน หรือเป็นปี ความทรงจำนั้นย่อมเลือนหายไปมาก แต่จะไม่ถึงกับลืมไปหมดเสียทีเดียว เพราะจะถูกซ่อนไว้ใน Deep State ของระบบความทรงจำที่ค้นหาได้ยากแล้ว

นักประสาทวิทยาสมัยใหม่ยืนยันว่าการอธิบายกระบวนการจำ และการลืมของสมองมนุษย์ที่เฮอร์มานได้ทำไว้นั้นถูกต้อง เป็นจุดเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยมมาก ซึ่งใครได้อ่านแล้วสามารถหยิบไปใช้เพื่อประโยชน์สำหรับพัฒนาความจำ และพัฒนาการเรียนรู้ได้ทันที

นักประสาทวิทยาสมัยใหม่ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า สมองมนุษย์ไม่ได้มีการทำงานเหมือนหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ ใครที่คิดว่าเราเรียนสิ่งใดแล้วสามารถจดจำได้ทุกสิ่ง ย่อมเป็นการเข้าใจผิด สมองคนเราจะจดจำได้แต่สิ่งที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ตกผลึกเท่านั้น หรือไม่ก็จะต้องเป็นสิ่งที่ต้องใช้บ่อยๆ เช่น เราสามารถจดจำเบอร์โทรศัพท์ของเราที่ใช้อยู่ได้ทุกเบอร์ จดจำรหัสนักศึกษาได้ จดจำบ้านเลขที่ได้ จดจำหมายเลขพาสปอร์ตได้ จดจำหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนได้ และจดจำสิ่งที่จำฝังใจได้ เป็นต้น

ในทางตรงข้าม เรามักจะลืมสิ่งที่เราไม่ได้สนใจ ยกตัวอย่างเช่น นายคนนั้นจำได้ว่าเคยแลกนามบัตรกันในงานประชุมวิชาการครั้งที่แล้ว เห็นหน้ากันครั้งนี้จำชื่อไม่ได้ แต่จำหน้าได้ หรือกระทั่งการพูดคุยอย่างสนุกสนานกับเพื่อนๆ ในงานสังสรรค์ จนลืมว่าวางกุญแจรถไว้ที่ไหนจนต้องหากันวุ่น จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นเรื่องที่เพิ่งผ่านมาแป๊บๆ แต่หากเราไม่สนใจก็จะจดจำมันไม่ได้

ความจำมนุษย์ไม่เหมือน “ฮาร์ดดิสก์” แต่เหมือน “ต้นไม้” ที่ต้องรดน้ำทุกวัน

การทำงานของระบบความจำในสมองมนุษย์นั้นแตกต่างจากฮาร์ดดิสคอมพิวเตอร์ที่จำได้ทุกสิ่งไม่ว่าจะนานแค่ไหน แม้ได้ไม่ได้เปิดไฟล์ทุกวัน แต่เปิดเมื่อไหร่ข้อมูลทุกอย่างก็ยังคงอยู่ครบถ้วนในนั้น ตรงข้ามความทรงจำในสมองมนุษย์ทำงานคล้ายกับ “ต้นไม้” ที่ต้องรดน้ำเป็นประจำ มิเช่นนั้นแล้วต้นไม้นั้นก็จะเหี่ยวเฉาตายไป

ดังนั้นหากคุณต้องการจะจำสิ่งใดได้จะต้องหมั่นทบทวนสิ่งนั้น หรือไม่ก็ใช้งานเป็นประจำ ให้กลายเป็นทักษะความเชี่ยวชาญ ตกผลึกติดตัวไปตลอดชีวิต เช่นเดียวกับการที่คุณสามารถปั่นจักรยาน ตีเทนนิส หรือเล่นสกี เมื่อทำได้จนเป็นทักษะแล้วก็จะจดจำได้ตลอดไป เช่น ถ้าคุณเล่นสกีเป็นแล้วแม้ว่าคุณจะไม่ได้เล่นสกีมาเป็นหลายปี เพราะไม่ค่อยมีเวลาได้ออกไปต่างประเทศ แต่หากปีนี้คุณมีโอกาสได้เล่นอีก คุณก็สามารถเล่นได้เลยไม่ต้องมาฝึกใหม่

มนุษย์สร้าง จัดเก็บ และระลึกถึงความทรงจำได้อย่างไร?

เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ในปี 1940 สันนิษฐานถึงความทรงจำซึ่งจัดขึ้นภายในกลุ่มของเซลล์ประสาท หรือที่เรียกว่า ส่วนประกอบของเซลล์ โดยเซลล์เหล่านี้เป็นตัวตอบสนองเพื่อไปกระตุ้นความทรงจำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นใบหน้าของเพื่อนที่เรารู้จัก หรือกลิ่นของขนมปังอบใหม่ๆ และยิ่งเซลล์ประสาททำงานร่วมกันมากเท่าไร การเชื่อมต่อระหว่างกันของเซลล์ก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น

ข้อมูลมากมายที่สมองรับเข้ามาในตอนแรกยังคงเป็น ความจำระยะสั้น (Short-Term Memory) อยู่ ดังนั้นเราต้องเรียกใช้ข้อมูลนั้นซ้ำไปซ้ำมา จึงค่อยๆ เปลี่ยนเป็น ความจำระยะยาว (Long-Term Memory) ภายหลัง โดยผ่านกระบวนการที่มีชื่อว่า การสร้างเสถียรภาพแก่ความทรงจำ (Memory Consolidation) อย่างไรก็ตาม ความจำระยะยาวนั้นไม่จำเป็นต้องเริ่มจากความจำระยะสั้นเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเรื่องราวและเหตุการณ์ ซึ่งอาจมีความสำคัญแตกต่างกัน

เมื่อใดก็ตามที่เราหวนระลึกถึง ส่วนต่างๆ ของสมองจะประสานงานกันอย่างทันท่วงที รวมถึงบริเวณเยื่อหุ้มสมองที่ประมวลผลข้อมูลระดับสูง บริเวณที่จัดการกับข้อมูลดิบ และบริเวณสมองกลีบขมับส่วนใน (Medial Temporal Lobe) ซึ่งมีส่วนช่วยประสานระบบการทำงาน ผลงานวิจัยล่าสุดค้นพบว่า ช่วงเวลาที่คนเราระลึกถึงความทรงจำที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่นั้น เส้นประสาทหลากหลายแขนงที่อยู่บริเวณสมองกลีบขมับส่วนในจะเชื่อมต่อกับคลื่นต่างๆ ในเยื่อหุ้มสมองโดยทันที

Related Articles

Leave a Comment