Home Mind “สวิส” ขยะพลาสติกสูงกว่ายุโรป 3 เท่า จัดการอย่างไร? ให้ได้ผล

“สวิส” ขยะพลาสติกสูงกว่ายุโรป 3 เท่า จัดการอย่างไร? ให้ได้ผล

by Lifeelevated Admin2

‘ขยะพลาสติก’ เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะระบบนิเวศแหล่งน้ำ เนื่องจากขยะพลาสติกในแหล่งน้ำจะถูกคลื่น ลม แสงแดด ทำให้แตกตัวเป็นไมโครพลาสติกซึ่งมีอนุภาคที่เล็กมากและยากที่จะกำจัด เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ

สวิตเซอร์แลนด์มีปริมาณขยะพลาสติกต่อหัวเกือบ 100 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรปถึง 3 เท่า แต่สวิสมีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพและได้รับความร่วมมือในการส่งเสริมการรีไซเคิลและลดปริมาณขยะพลาสติกจากทุกภาคส่วน ทำให้สามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้อย่างสำเร็จลุล่วง

โดยกระบวนการรีไซเคิลขยะพลาสติกของสวิตฯ เริ่มต้นมาจากครัวเรือน ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม รัฐบาลท้องถิ่นส่วนใหญ่ในสวิตฯ มีนโยบายการเก็บภาษีขยะแบบต่อถุงซึ่งกระตุ้นให้ประชาชนหาวิธีลดปริมาณขยะที่จะทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด โดยคัดแยกขยะที่สามารถรีไซเคิลได้เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการ นอกจากนี้ รัฐบาลกลางสวิสได้ออกรัฐบัญญัติว่าด้วยบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มในปี 2543 ซึ่งกำหนดให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มต้องรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มพลาสติกคุณภาพสูงชนิด PET ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 โดยรัฐบาลจะออกมาตรการเก็บเงินมัดจำบรรจุภัณฑ์ หากไม่สามารถรีไซเคิลได้ตามอัตราที่กำหนด

ส่งผลให้ภาคธุรกิจเกิดความตื่นตัวและส่งเสริมการรีไซเคิลอย่างจริงจังเพื่อหลีกเลี่ยงนโยบายเงินมัดจำบรรจุภัณฑ์ที่จะทำให้สินค้าราคาสูงขึ้น จึงร่วมมือกับสมาคม PET Recycling Switzerland ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ริเริ่มติดตั้งจุดรับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม PET มาตั้งแต่ปี 2533 เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานและดำเนินการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม PET อย่างครอบคลุมทั่วสวิส ปัจจุบันมีจุดรับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม PET มากกว่า 50,000 จุดทั่วประเทศ และมีอัตราเฉลี่ยการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม PET สูงกว่าร้อยละ 80

นอกจากนี้ บรรดาร้านค้าปลีกเริ่มมีการติดตั้งจุดรับขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั่วไปชนิดอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบัน มีขยะพลาสติกที่ถูกนำไปรีไซเคิลประมาณ 800,000 ตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 25 ของขยะพลาสติกทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 75 จะถูกนำไปเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงาน

รวมถึงมีการรณรงค์ส่งเสริมการใช้ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้เพื่อลดปริมาณขยะจากการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง โดยรัฐบาลท้องถิ่น ธุรกิจร้านค้า และร้านอาหารได้ริเริ่มดำเนินมาตรการต่างๆ โดยสมัครใจ เช่น ในปี 2563 เทศบาลนครเจนีวาได้ห้ามจำหน่ายพลาสติกใช้แล้วทิ้งในพื้นที่สาธารณะ โดยตั้งแต่ปี 2560 กลุ่มร้านค้าปลีกเริ่มเก็บค่าถุงพลาสติกในราคา 0.5 แรพเพน (100 แรพเพนเท่ากับ 1 ฟรังก์สวิส) ต่อใบ

ขณะที่ปีที่ผ่านมา บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ดังเช่น Migros และ Coop ก็ได้เริ่มลดการจำหน่ายหรือแจกผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารพร้อมรับประทาน แทนที่ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้หรือสแตนเลส และลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับผลิตภัณฑ์ทั่วไปถึงร้อยละ 47 และร้อยละ 21 ตามลำดับ แต่ยังคงใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับผักและผลไม้

แม้จะจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกได้ดี แต่รัฐบาลกลางสวิสไม่ได้ออกกฎหรือกำหนดมาตรการที่เข้มงวดเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติก ดังเช่นการห้ามใช้/จำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเหมือนสหภาพยุโรป เหตุผลเนื่องจากมีความระมัดระวังในการออกกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยถือว่าเป็นการแทรกแซงเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุสมควรและจำเป็นเท่านั้น

 

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

Related Articles

Leave a Comment