“ระยะห่างระหว่างกันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานานแล้วในสัตว์ทุกประเภท”
ตั้งแต่มีมาตรการ Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร คนส่วนใหญ่เริ่มเคยชินกับการเว้นระยะห่างกับคนอื่น อันที่จริงถ้าไม่นับเรื่องการป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 พฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมนุษย์เรามีการเว้นระยะห่างทางสังคมกันมานานแล้ว ซึ่งเรื่องนี้สามารถอธิบายได้ด้วย ทฤษฎี Personal Space ในทางมนุษย์วิทยา Personal Space คือพื้นที่ส่วนตัว หรือช่องว่างระหว่างบุคคลในสังคม
ถ้าพูดให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เหมือนกับพื้นที่วงกลมล่องหนรอบตัวเราที่กางแผ่เป็นอาณาเขตส่วนบุคคล ซึ่งปรับเปลี่ยนระยะได้ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น อารมณ์ ความสัมพันธ์ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม สิ่งนี้เกี่ยวพันกับสมองที่ตื่นตัวกับสิ่งเร้ารอบข้างโดยไม่ต้องมีใครสอน คล้ายกับสัญชาตญาณในการระวังตัวในคน และสัตว์
ระยะห่างทางสังคมในสัตว์
นอกจากมนุษย์ สัตว์ก็มี Personal Space เหมือนกัน ในปี 1950 หัวหน้าสวนสัตว์ของสวนสัตว์ Zurich ชื่อว่า Heini Hediger เล่าว่า เขาสังเกตเห็นสัตว์ส่วนใหญ่มีการสร้างอาณาเขตของตัวเอง เพื่อเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง เช่น เวลาสัตว์ป่าเห็นสัตว์ดุร้ายอย่างสิงโต มันจะยังไม่วิ่งหนี แต่จะรอนิ่งๆ จนกว่าสิงโตจะรุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตส่วนตัว จึงจะเริ่มหนี กระทั่งสัตว์ที่เป็นมิตรอย่างนกนางนวล แม้แต่ในฝูงตัวเอง ก็ยังมีระยะห่างต่อกัน โดยระยะและพื้นที่ส่วนตัวของพวกมันจะขยายไปตามขนาดของพื้นที่ และจำนวนประชากร หรือหากพูดถึงสัตว์ดุร้ายอย่างสิงโตในแอฟริกา พวกมันจะมีพื้นที่อาณาเขตในรัศมี 50 กิโลเมตรหรือมากกว่านั้น โดยพวกมันจะอุจจาระและปัสสาวะเพื่อสร้างอาณาเขต อย่างไรก็ตามสิงโตแต่ละตัวจะอยู่ห่างกันไม่เกิน 7 เมตร หรือมากน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร
ระยะห่างทางสังคมในมนุษย์
ในปี 1966 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน Edward Hall ศึกษาเรื่องระยะห่างส่วนบุคคลในมนุษย์ และสร้างทฤษฎี Proxemics ซึ่งมาจากคำว่า “proximity” หรือการสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด หรือเรียกว่า “อวัจนภาษา” โดยแบ่งระยะห่างระหว่างบุคคลออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
ใกล้ชิดสนิทกว่าใคร
ระยะสนิทสนม (Intimate Distance) ประมาณ 0 – 18 นิ้ว หรือ 0 – 15 ซม. เป็นระยะใกล้ชิดที่สุด สามารถสื่อสารได้อย่างใกล้ชิดในทุกๆ ทาง ทั้งภาษาพูด ที่มักจะสนิทสนมและไม่เป็นทางการ รวมไปถึงภาษากาย การสัมผัสใกล้ชิดกัน ซึ่งใช้เฉพาะคนพิเศษหรือในเหตุการณ์เฉพาะอย่าง เช่น การแสดงความรักต่อกันระหว่างคู่รัก คนในครอบครัว การปลอบโยนผู้อื่น หรือในการเล่นกีฬาต่างๆ เช่น มวยปล้ำ เทควันโด เป็นต้น
ใกล้ในระยะพอดี
ระยะส่วนตัว (Personal Distance) ประมาณ 18 – 30 นิ้ว หรือ 45 – 120 ซม. เขตป้องกันตัวระยะใกล้ เป็นระยะที่เราใช้กับเพื่อนหรือคนที่สนิทสนมกัน สามารถเอื้อมมือถึงกันและพูดคุยกันได้ในระดับเสียงพูดปกติ แต่ก็ยังคงรักษาระยะห่างส่วนบุคคลไว้บ้าง
ใกล้พอเป็นพิธี
ระยะสังคม (Social Distance) ประมาณ 7 – 12 ฟุต หรือ 1.2 – 3.6 เมตร เป็นระยะที่มักใช้กับผู้ที่ไม่คุ้นเคย ใช้พูดคุยทางสังคมและหรือติดต่อทางกันธุรกิจ ภาษาที่ใช้ก็จะเป็นภาษาที่เป็นทางการมากขึ้น และท่าทางการแสดงออกอาจอยู่ในเงื่อนไขของมารยาททางสังคมที่ดี อาจพูดเสียงดังขึ้น เพราะอยู่ห่างกันมากขึ้น เช่น ในการประชุมของนักธุรกิจในระดับผู้บริหาร
ใกล้แค่ไหนก็ยังไกล(อยู่ดี)
ระยะสาธารณะ (Public Distance) ประมาณ 12 ฟุตขึ้นไป หรือ 3.6 เมตรขึ้นไป มักเป็นระยะในการสื่อสารทางเดียว เช่นการปรากฏตัวในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นระยะที่เป็นทางการมากขึ้น และต้องใช้เสียงพูดดังขึ้นไปอีก เช่น การกล่าวสุนทรพจน์ การปราศรัยในที่สาธารณะ เป็นต้น
เพราะระยะห่าง ส่งผลต่ออารมณ์
ระยะห่างสามารถส่งผลต่ออารมณ์ของเราได้ทั้งในด้านบวกและด้านลบ เมื่อเกิดระยะห่างที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมขึ้น เช่น ในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่แสดงออกทางความรักด้วยการกอดหรือสัมผัสลูก อาจทำให้โตมาอย่างรู้สึกโดดเดี่ยวและขาดความอบอุ่น หรือในกรณีคู่รักที่มีความสัมพันธ์แบบรักระยะไกล (Long Distance Relationship) หากไม่มีการติดต่อพูดคุยกันอย่างเหมาะสมและมากพอ ก็อาจเกิดความหวาดระแวงในความสัมพันธ์ที่มีต่อกันและรู้สึกห่างเหินได้
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @_lifeelevated_
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @Lifeelevated
Blockdit: Life Elevated
.
.
#LifeElevated #PersonalSpace #ระยะห่างระหว่างบุคคล
.
.
อ้างอิง
http://piyarith-tell.blogspot.com/2014/04/personal-space.html
https://www.mangozero.com/45-cm-theory/
https://faithandbacon.com/personal-space/