เรารู้กันดีว่าการทำงานต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า Hard Skills หรือก็คือทักษะเชิงเทคนิคความรู้ ความสามารถด้านอาชีพ หรือการทำงานในด้านนั้นๆ ต่อมาก็พบว่าความรู้อย่างเดียวไปไม่รอด ถ้าไม่มีทักษะในการเข้าสังคมเพื่อทำงานเป็นทีม และการอยู่ร่วมกับคนอื่น ซึ่งเป็นทักษะทางด้านอารมณ์และจิตใจ ที่เรียกว่า Soft Skills ทักษะนี้นี่เองที่ทำให้เราแตกต่างจากหุ่นยนต์ ก็เพราะหุ่นยนต์ไม่มีจิตใจ แต่พอมาถึงเวลานี้ เราก็ได้รู้อีกครั้งว่า Hard Skills และ Soft Skills ก็ไม่พอต่อการทำงานแล้วเหมือนกัน
นั่นคือ การทำงานในโลกยุคใหม่ ต้องมีทักษะใหม่คือ Meta Skills ซึ่งเป็นทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นความสามารถในการพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำมาพัฒนาการทำงาน เพราะเราต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีทักษะในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่คนอื่น ๆ ก็พยายามดิ้นรนเหมือนเช่นกัน แต่ถ้าเราไวกว่า เราก็ได้เปรียบ
Meta Skills จึงเป็นการสร้างทัศนคติที่พร้อมจะเติบโต ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ด้วยความเชี่ยวชาญในการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจะทำให้เราอยู่เหนือเกม Meta Skills จึงกลายเป็นทักษะ ที่องค์กรจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ ให้มีส่วนร่วมกับความเชี่ยวชาญด้านการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระตุ้นให้เรียนรู้และสร้างทักษะใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น
Meta Skills มีเพียง 3 ด้านเท่านั้น
- Self-Awareness การรู้จักและเข้าใจตัวเอง และการยอมรับความเป็นจริง
เป็นมุมมองที่เกี่ยวกับการมองเห็นความสามารถและข้อบกพร่องของตนเอง รู้จักและเข้าใจตัวตนของตนเอง แต่การตระหนักรู้ในตัวเอง ไม่ใช่แค่การมองเห็นตัวเองอย่างชัดเจนเท่านั้น แต่รู้ว่าคนอื่นมองเราอย่างไรด้วย เพื่อที่จะเปลี่ยนข้อด้อยให้กลายเป็นข้อได้เปรียบ อีกทั้งการยอมรับในความสามารถตนเอง ก็ช่วยให้ไม่รู้สึกด้อยกว่าใคร ภาคภูมิใจในตนเอง แก้ปัญหาได้เร็วขึ้น เพราะเรารู้ขีดจำกัดตัวเองว่าทำได้แค่ไหน แล้วเมื่อใดต้องขอความช่วยเหลือ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังคือการยอมรับความเป็นจริงให้ได้ด้วย เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงในโลกได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนวิธีคิดและการตอบสนองของเราเองได้ การยอมรับความเป็นจริงจึงเป็นการมุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมากกว่าสิ่งที่เราจะอยากให้เกิดขึ้น
นั่นหมายความว่า ยิ่งเรารู้จักตนเองได้ดีเท่าไร่ เราก็จะสามารถพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ใช่ได้เร็วเท่านั้น ช่วยให้เราพัฒนาก้าวกระโดดกว่าคนอื่น เพราะเรารู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไร ทั้งยังสำคัญต่อการมองคนรอบข้าง รู้ว่าคนเราต่างกัน ไม่ซ้ำเติมใคร จัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ เข้าสังคมได้ดี ก็ทำให้ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดีตามไปด้วย
- 2. Creativity สร้างสรรค์
การสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่พัฒนาความคิดใหม่ ๆ เท่านั้น แต่คือการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น และแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้ก็คือ “เราไม่มีทางได้ผลลัพธ์ใหม่ หากยังใช้วิธีเดิม” ดังนั้น ต้องมีวิธีคิดใหม่ที่เหนือกว่า มาแก้ปัญหาที่วิธีคิดเดิมแก้ไม่ได้ การค้นหาวิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา อาจจำเป็นต้องละทิ้งความคิดแบบเก่าไปบ้าง ถ้าไม่ใช้ความคิดใหม่เลยก็ไม่มีทางได้อะไรใหม่ ๆ
ไม่ใช่แค่การมีความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่หมายถึง การมีปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนด้วย กรอบความคิดที่แน่นอน มองว่ากระบวนการที่ถูกต้องเท่านั้นสามารถพบวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะความเปลี่ยนแปลงมักมาพร้อมกับสิ่งที่คาดไม่ถึง ต้องอาศัยการประยุกต์ ปรับเปลี่ยน ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า หาทางออกและแก้ปัญหาเฉพาะหน้านี้ได้ ซึ่งต้องอาศัยความคิดในมุมมองที่กว้างขึ้น คิดสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมี ออกนอกกรอบจากที่เคยอยู่ และลงมือทำออกมาให้เป็นนวัตกรรมใหม่
ดังนั้น ความคิดสร้างสรรค์ จึงไม่ใช่แค่เพียงการคิดสิ่งใหม่ แต่คือการคิดกว้าง คิดต่าง และคิดเร็ว การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์นี้สำคัญมากในอนาคตที่เทคโนโลยีกำลังคืบคลานเข้ามาแทนที่คน เพราะความคิดที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ จะทำให้เราแตกต่างจากหุ่นยนต์ที่ถูกป้อนโปรแกรมไว้แล้ว จึงไม่สามารถคิดใหม่ทำใหม่ที่แตกต่าง และถูกใช้กับงานที่ต้องทำซ้ำๆ
- 3. Resilience ยืดหยุ่นทางความคิด
ความยืดหยุ่นทางความคิด คือความสามารถในการลุกขึ้นยืนได้ เมื่อเจอกับความล้มเหลว เป็นทักษะทางความคิดที่จะเอาชนะความพ่ายแพ้ สามารถยอมรับในความผิดพลาด โดยไม่ยึดติดกับผลลัพธ์ที่ผ่านไปแล้ว จึงก้าวไปข้างหน้าได้เร็วกว่าคนอื่น ควบคุมตัวเองให้มีสติอยู่เสมอ โดยไม่ปล่อยให้สถานการณ์ลำบากเข้าครอบงำ
ความยืดหยุ่นทางความคิดอาจต้องอาศัยการลองผิดลองถูกก่อน จนกว่าจะเจอผลลัพธ์ทั้งที่ดีและไม่ดี หากล้มเหลว หรือผลที่ไม่ได้ดังใจ อย่าจมกับความผิดพลาด ให้ก้าวข้ามความผิดพลาดนั้นไป ด้วยการเรียนรู้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นว่าเป็นครู เพื่อหาหนทางเดินหน้าต่อ และไม่เกิดความผิดพลาดซ้ำซาก
แม้ว่าการทดลอง คือการต้องอยู่ในความไม่แน่นอนตลอดเวลา เราเองจึงต้องรับรู้ข้อผิดพลาดให้เร็ว อย่าให้สายเกินไป จะเรียนรู้ข้อผิดพลาดได้อย่างไร และจะก้าวผ่านมันไปอย่างไร คือสิ่งที่ต้องตีโจทย์ให้แตก
กล่าวง่ายๆ ว่า Meta Skills คือการสร้างทัศนะคติที่พร้อมจะเรียนรู้ แก้ไข พัฒนา จากสิ่งเดิมไปสู่สิ่งใหม่ที่ท้าทาย ทัศนคติดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นรู้จักตนเองเป็นอย่างดี มีความพร้อมที่จะพัฒนา มีความคิดสร้างสรรค์ ริเริ่มสิ่งใหม่ การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนอย่างชาญฉลาด และมีความยืดหยุ่นทางความคิด ไม่จมอยู่กับความล้มเหลว ล้มก็ลุก และเรียนรู้ที่จะพัฒนาไปข้างหน้าเสมอ หากสามารถพัฒนาตนเองให้มีทักษะด้าน Meta Skills ได้แล้ว ย่อมมีโอกาสเติบโต และยังอยู่รอดในตลาดแรงงาน
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @_lifeelevated_
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @Lifeelevated
Blockdit: Life Elevated