ปัจจุบันบ้านเรายังอยู่ในห้วงการระบาดของโควิด 19 หัวอกของคนเป็นพ่อแม่คงหนีไม่พ้นจากความห่วง กังวล ไม่อยากให้ลูกต้องเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ อยากดูแลบุตรหลานที่เป็นเสมือนแก้วตาดวงใจ ให้มีสุขภาพแข็งแรงปลอดภัย ซึ่งการดูแลสุขภาพของลูกนอกจากการดูแลสุขภาพกายแล้ว สุขภาพใจก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยสามารถช่วยให้ลูกมีสุขภาพจิตดี รู้สึกมั่นคงปลอดภัย ด้วย 5 เทคนิค ดังนี้
- สังเกตและรับฟังเด็ก
พ่อแม่ควรสังเกตและเปิดโอกาสให้เด็กได้ระบายความรู้สึก เช่น หงุดหงิด งอแง กลัว เศร้า ผ่านกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เช่น การเล่น การวาดภาพในบรรยากาศที่ปลอดภัย ให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย นอกจากนี้พ่อเเม่ควรลองสวมบทบาทสมมุติกับลูก พูดคุยตามคาเเรกเตอร์ เพื่อสังเกต – ทำให้เด็กเปิดใจเล่าในสิ่งที่รู้สึกออกมา
- ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
ถ้าเด็กต้องถูกแยกจากพ่อแม่หรือผู้ดูแล เพราะพ่อแม่ ผู้ดูแลถูกกักตัว หรือเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล พ่อแม่หรือผู้ดูแลต้องมั่นใจว่ามีการดูแล ติดตามเด็ก ติดต่อเด็กอย่างส่ำเสมอ เช่น โทรศัพท์หรือวิดีโอคอล 2 ครั้งต่อวัน หรือใช้รูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมกับอายุเด็ก เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง
- จัดสรรเวลาให้ลูก เหมาะสมกับช่วงวัยและพัฒนาการ
ผู้ปกครองอาจแบ่งเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกับลูกตามช่วงวัยดังนี้
– กิจกรรมสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก เช่น เลียนแบบการแสดงออกทางสีหน้า น้ำเสียง ร้องเพลง ใช้ช้อนเคาะจังหวะ เล่าเรื่องราวนิทานหรือให้ดูรูปภาพ หรือ เล่นโมบายแขวน
– กิจกรรมสำหรับเด็กโต เช่น อ่านหนังสือนิทานให้ฟัง พาเดินเล่นในบริเวณบ้าน เต้นรำ ร้องเพลง เล่นบทบาทสมมติ ทำงานบ้าน หรือ ทำอาหารด้วยกัน
– กิจกรรมสำหรับเด็กวัยรุ่น พูดคุยในสิ่งที่ลูกๆ ชอบ เช่น กีฬา ดนตรี ดารา เพื่อนฝูง ออกกำลังกายด้วยกัน เล่นเกมส์ หรือชมภาพยนต์ร่วมกัน โดยให้อิสระแก่ลูกในการเลือกกิจกรรมต่างๆ ตามความชอบและความถนัด
- สังเกตอารมณ์ตนเองและจัดการ
ในสถานการณ์วิกฤต เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเครียดได้ พ่อแม่หรือผู้ดูแลต้องมีวิธีการจัดการกับอารมณ์ของตนเองที่เหมาะสม เช่น เมื่อรู้สึกหงุดหงิดหรือโกรธ ควรสงบสติอารมณ์ก่อนที่จะพูดคุยกับบุตรหลาน ระมัดระวังในการใช้คำพูดโดยใช้อารมณ์ พ่อแม่สามารถพูดคุยเกี่ยวกับโรคโควิด 19 กับลูกได้โดยอธิบายใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เหมาะสมกับอายุเด็ก
ถ้าพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูสามารถปฏิบัติตามเทคนิค 4 วิธีนี้ และหมั่นทำทุกวัน เชื่อว่าลูกที่รักจะต้องสามารถปรับตัวและเผชิญ จนผ่านพ้นภาวะวิกฤตนี้ไปได้อย่างมีสุขภาพจิตที่ดี
- พูดถึงสถานการณ์โควิด 19
ให้ลองสนทนาในเรื่องนี้เพราะพวกเขาอาจได้ยินข่าวแล้ว การปิดเงียบและเก็บเป็นความลับไม่สามารถปกป้องลูกๆ ของเราได้ แต่ความจริงใจและการเปิดใจช่วยได้มากกว่า พิจารณาดูว่าพวกเขาจะเข้าใจได้มากน้อยเพียงใด
ให้เปิดใจและรับฟัง
ให้ลูกของคุณพูดได้อย่างอิสระ ให้ถามคำถามปลายเปิดและประเมินว่าพวกเขารับรู้มากน้อยเพียงใด
จริงใจ
ตอบคำถามของพวกเขาอย่างจริงใจ ประเมินว่าลูกของคุณอายุเท่าไรและจะเข้าใจสถานการณ์ได้มากน้อยเพียงใด
ให้กำลังใจ
ลูกของคุณอาจรู้สึกกลัวหรือสับสน ให้พื้นที่กับพวกเขาในการแบ่งปันความรู้สึกและทำให้พวกเขาทราบว่าคุณอยู่กับพวกเขา
ไม่เป็นไรหากไม่ทราบคำตอบ
ไม่เป็นไรหากต้องพูดว่า “เราไม่รู้เลย แต่เราพยายามกันอยู่ หรือ “เราไม่รู้เลยแต่กำลังหาหนทางอยู่” ให้ใช้โอกาสนี้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากลูกของคุณ
ฮีโร่จะไม่ถูกรังแก
อธิบายว่าโควิด ไม่เกี่ยวข้องกับรูปลักษณ์ของผู้คน ไม่ว่าจะมาจากที่ใดหรือพูดภาษาใด บอกลูกของคุณว่าควรจะเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยและผู้ดูแลพวกเขา ให้เล่าเรื่องราวของบุคคลากรที่ทำงานเพื่อยับยั้งโรคระบาดและผู้ดูแลผู้ป่วยเหล่านี้
มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้น
บางเรื่องราวอาจไม่จริง ให้อ้างอิงจากเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้เช่น องค์กรยูนิเซฟ และองค์การอนามัยโลก
ปิดการสนทนาด้วยคำพูดที่จริงใจ
ประเมินว่าลูกของคุณสบายดีหรือไม่ บอกพวกเขาว่าคุณเป็นห่วง และเขาสามารถพูดคุยกับคุณได้ตลอดเวลา และให้ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสนุกสนาน
3 กิจกรรม แนะนำสำหรับเด็ก
ในช่วงที่ทุกคนอยู่บ้านจะจัดการระเบียบชีวิตอย่างไรดี จะทำอย่างไรให้ทุกคน ลดเครียดเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย ถ้าที่บ้านมีเด็กๆ อาศัยอยู่ด้วย มีหลักคิดสำคัญคือ ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมใดให้เด็กต้องสร้างความเพลิดเพลิน สนุกสนานแทรกอยู่ด้วยเสมอ โดยกิจกรรม 3 เสริม สำหรับเด็กๆ ได้แก่
- เสริมความรู้
ให้เด็กรู้ว่าจะป้องกันไวรัสโควิด 19 อย่างไรด้วยนิทาน หรือเป็นคลิปให้เด็กดู ซึ่งมีหลายคลิปที่เป็นความรู้ง่ายๆ สำหรับเด็ก อาจวาดเป็นภาพการ์ตูน ให้เราสนุกกับการทดลองง่ายๆ เช่น ล้างมืออย่างไรให้สะอาดหมดจดโดยใส่ถุงมือ เอาสีมาทาให้ทั่วทั้งฝ่ามือและหลังมือ แล้วสาธิตให้เด็กเห็นว่าจะต้องล้างมืออย่างไร ให้เด็กได้ลองทำด้วย เขาจะสนุกกับการทดลอง
- เสริมงานบ้าน
แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบงานบ้านให้กับเด็กตามความเหมาะสมกับอายุของเขา ตั้งรางวัลหรือให้ดาวสำหรับงานบ้านที่ทำได้สม่ำเสมอตลอดสัปดาห์ สำหรับงานบ้านที่ทำได้เรียบร้อย การทำงานบ้านจะช่วยให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น นิ้วมือ เรียนรู้การรู้จักรับผิดชอบ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์
- เสริมการเล่น การเล่นคือการเรียนรู้ของเด็ก มี 2 แบบ คือ
– ทำเล่นๆ เป็นประโยชน์ ให้เด็กสนุกกับการทำกิจวัตรประจำวัน ยกตัวอย่าง แข่งกันว่าใครจะเก็บเตียง พับผ้าได้เรียบร้อยกว่ากัน ใครจะแปรงฟันได้สะอาดกว่ากัน เวลาเก็บจาน จานใหญ่อยู่ล่าง จานเล็กอยู่บน ก็สอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องขนาด การนับเลข เป็นต้น
– เล่นสนุกๆ ให้เด็กแต่งมุมการเล่นของเขาเอง สร้างสรรค์ของเล่นจากวัสดุรอบตัวหรือคิดการเล่นแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมา
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @_lifeelevated_
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @Lifeelevated
Blockdit: Life Elevated
.
.
อ้างอิง : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
.
.
#LifeElevated #ดูแลใจ #สุขภาพใจ #ลูก #บุตรหลาน #เด็ก #โควิด19 #MentalHealth