Home Society เนเธอร์แลนด์รับมืออย่างไร? เมื่อ ‘อัตราเงินเฟ้อยุโรป’ สูงสุดรอบ 13 ปี

เนเธอร์แลนด์รับมืออย่างไร? เมื่อ ‘อัตราเงินเฟ้อยุโรป’ สูงสุดรอบ 13 ปี

by Lifeelevated Admin2

ขณะนี้ยุโรปกำลังเผชิญกับวิกฤตอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551

สำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) เผยว่า ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 2 ซึ่งกำหนดโดย European Central Bank (ECB) อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทาง ECB มีแผนที่จะลดมาตรการสนับสนุน เพื่อรับมือวิกฤตโคโรนาในต้นปี 2565 ทำให้ราคาพลังงานทั้งแก๊สและไฟฟ้าในเนเธอร์แลนด์คาดจะมีการปรับราคาประเมินเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 4 เท่าจากราคาปัจจุบัน โดยมีสาเหตุมาจาก

  1. การลดการสกัดแก๊สจากบ่อก๊าซธรรมชาติที่ Groningen ทำให้เนเธอร์แลนด์ต้องพึ่งพาการนำเข้าแก๊สจากต่างประเทศมากขึ้น
  2. ประเทศรัสเซียปฏิเสธที่จะส่งแก๊สเพิ่มขึ้นให้กับทางประเทศในยุโรป และหนึ่งในนั้นคือเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ อาจมีผลเกี่ยวเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งรัสเซียต้องการกดดันให้สหภาพยุโรปเปิดใช้ท่อส่งแก๊ส Nord Stream 2 ซึ่งเป็นท่อส่งแก๊สจากรัสเซียสู่เยอรมนีให้เร็วขึ้น
  3. การปิดโรงงานไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วยุโรป เนื่องจากโรงงานดังกล่าวมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง จึงต้องเสียภาษี CO2 เพิ่มเติมตามสัญญาสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป
  4. โรงไฟฟ้าพลังงานลมในปีนี้ผลิตไฟฟ้าได้น้อยลงเนื่องจากลมปีนี้พัดน้อยกว่าปกติ

 

เมื่อราคาน้ำมันและราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ราคาสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคจะมีการปรับตัวสูงขึ้นตามห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าที่ใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิต ซึ่งสถานการณ์ความผันผวนทางด้าน ราคาน้ำมันนี้คาดว่าจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นในฤดูหนาว แล้วจะเริ่มทรงตัวและลดลงเมื่อกลับเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

ด้วยราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงกับสินค้าการทำเกษตรกรรมในเนเธอร์แลนด์เป็นอย่างมาก เนื่องจากการทำเกษตรกรรมส่วนใหญ่เป็นสวนเกษตรในเรือนกระจก ดังนั้นเกษตรกร ชาวดัตช์จำเป็นต้องใช้พลังงานแก๊สเพื่อควบคุมอุณหภูมิให้มีความเหมาะสมกับพืชผักผลไม้แต่ละชนิด จึงคาดว่าในอนาคตอันใกล้ ราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรในเรือนกระจกทั้งหมดที่มีวางจำหน่ายที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาดทั่วไป จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน

ภาวะเงินเฟ้อในยุโรปครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าตลาดในประเทศเนเธอร์แลนด์ค่อนข้างมาก ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการในการแก้ปัญหาโดยการ นำเข้าพลังงานแก๊สจากประเทศคู่ค้าอื่นแทนรัสเซีย การชะลอดอกเบี้ยให้คงที่ และการเพิ่มเงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับผู้ประกอบการด้านเกษตรกรรม เพื่อช่วยพยุงราคาสินค้าและพลังงานให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

เนเธอร์แลนด์เล็งเห็นถึงปัญหาและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ผ่านโครงการความช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมถึงสร้างความเข้าใจพื้นฐานและการสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญของปัจจัยหลัก ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้ออย่างรวดเร็ว

โดยมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาระยะยาว ที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันปรับเปลี่ยนเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ รัฐบาลมีแผนสนับสนุนการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า และการเริ่มต้นการทำ Remote Work เพื่อเป็นแบบอย่างในการลดการใช้รถยนต์ในการเดินทางไปทำงาน เพื่อลดความต้องการในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และใช้พลังงานทดแทนที่มีอยู่อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ลดการใช้พลาสติกในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้า เพื่อให้ภาคเอกชนให้ความสนใจและร่วมกันลดการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

.

.

#LifeElevated #อัตราเงินเฟ้อ #เงินเฟ้อ #Inflation

.

.

อ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

.

.

Related Articles

Leave a Comment