หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์โตเกียว 2020 ที่เพิ่งจบไปเมื่อเดือนที่แล้วก็คือ ช่วงพิธีเปิดและพิธีปิดนั่นก็คือพิธีจุดคบเพลิงซึ่งในปีนี้ถือเป็นครั้งแรกของกีฬาโอลิมปิกที่ได้นำ ‘พลังงานไฮโดรเจน’ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับกระถางคบเพลิง จุดประกายให้ผู้คนจากทั่วโลกสนใจกับพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตมากขึ้น
โดยประเทศจีนเองก็ได้มีการค้นคว้าวิจัยแหล่งพลังงานสะอาดใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงพลังงานไฮโดรเจนเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกในการลดการพึ่งพาพลังงานจากเขื้อเพลิงฟอสซิล และเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านคาร์บอน
ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2021 – 2025) จีนจัดให้อุตสาหกรรมไฮโดรเจนเป็น 1 ใน 6 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต สะท้อนถึงการให้ความสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ของแดนมังกร ในขณะเดียวกัน ยังมีการส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนหรือยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle หรือ FCEV) ควบคู่ไปด้วย
อย่างไรก็ดี การเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนของจีน และประเทศอื่นๆ ในโลกยังคงมีจำกัดเนื่องจากอุปสรรคหลายประการ เช่น การผลิตก๊าซไฮโดรเจนมีต้นทุนสูง โดยนักวิจัยจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันการผลิตก๊าซไฮโดรเจนสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนมีต้นทุนประมาณ 70 หยวนต่อกิโลกรัม ซึ่งหากต้องการให้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนสามารถแข่งขันในเชิงพาณิชย์กับรถยนต์พลังงานฟอสซิล ต้นทุนนี้ควรจะลดลงมาอยู่ที่ต่ำกว่า 40 หยวนต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงต้นทุนของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงอุปสรรคทางด้านต้นทุนและความยากลำบากในการเก็บรักษาและการขนส่งก๊าซไฮโดรเจนซึ่งมีสมบัติทางเคมีระเบิดได้ง่าย
ขณะที่พลังงานไฮโดรเจนของจีนส่วนใหญ่ยังคงเป็น ‘พลังงานไฮโดรเจนสีเทา’ ซึ่งผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และอาจไม่สามารถช่วยให้จีนบรรลุเป้าหมายด้านคาร์บอนที่วางไว้ได้
ดังนั้นจีนจะต้องเร่งผลิต ‘พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว’ ซึ่งผลิตขึ้นโดยใช้กระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ โดยบริษัทด้านการลงทุนไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล แคปิตอล คอร์ป (CICC) เผยว่า เพื่อให้จีนสามารถบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral ในปี 2603 ร้อยละ 8 ของพลังงานที่ใช้ในจีนทั้งหมดจะต้องมาจากพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว
โดย CICC คาดว่าต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวของจีนจะลดลงต่ำกว่าต้นทุนการผลิตพลังงานไฮโดรเจนจากเชื้อเพลิงถ่านหินได้ภายในปี 2583 ทั้งนี้ จีนวางแผนที่จะใช้พลังงานไฮโดรเจนในอุตสาหกรรมที่อาจลดการปล่อยคาร์บอนได้ยาก เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ ก่อสร้าง และขนส่ง
แม้ว่าในปัจจุบันจีนยังไม่มีการประกาศแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮโดรเจนในระดับประเทศ แต่ในกว่า 10 มณฑลและ 40 เมืองมีการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนในระดับท้องถิ่นแล้ว เช่น เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 สำนักงานอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของกรุงปักกิ่ง ประกาศ แผนการดำเนินการเพื่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนของกรุงปักกิ่ง (2564 – 2568) โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2568
- อุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนของเขตเศรษฐกิจกรุงปักกิ่ง – นครเทียนจิน – มณฑลเหอเป่ย (จิง – จิน – จี้) จะมีมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านหยวน และจะสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ 2 ล้านตัน ในช่วงเวลา 5 ปี
- จะต้องมีการพัฒนาองค์กรในอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนจำนวน 10 – 15 แห่งให้เป็นองค์กรชั้นนำและมีอิทธิพลในระดับนานาชาติ
- 3. จะมีการสร้างศูนย์การวิจัยและพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนระดับโลกจำนวน 3 – 4 แห่ง
- 4. จะมีการใช้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนมากกว่า 10,000 คัน
กระทรวงการคลังจีน กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน (MIIT) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประกาศรายชื่อเมือง/มณฑลที่ได้รับการอนุมัติให้สาธิตรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนชุดแรก เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้แก่
- 1. กลุ่มเมืองในเขตกรุงปักกิ่ง – นครเทียนจิน – มณฑลเหอเป่ย (จิง – จิน – จี้)
- 2. นครเซี่ยงไฮ้
- 3. มณฑลกวางตุ้ง
โดยเมือง/มณฑลดังกล่าวจะได้รับเงินรางวัล หากสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนารถยนต์พลังงานไฮโดรเจนในช่วงเวลา 4 ปี โดยข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน (CAAM) ชี้ว่า ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.ค. 2564 จีนมีจำนวนการผลิตและการจำหนายรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนอยู่ที่ 664 คันและ 675 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.5 และร้อยละ 47.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามลำดับ
ซึ่งสหพันธ์พลังงานไฮโดรเจนจีน (China Hydrogen Alliance) คาดว่า ในปี 2568 มูลค่าของผลผลิตของอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนจะอยู่ที่ 1 ล้านล้านหยวน และในปี 2573 จะมีอุปสงค์ของก๊าซไฮโดรเจนอยู่ที่ 35 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 5 ของพลังงานที่ใช้ในจีนทั้งหมด ในขณะเดียวกัน สมาคมวิศวกรรมยานยนต์จีน (China-SAE) คาดการณ์ว่าในปี 2568 จีนจะมีรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนกว่า 1 แสนคัน และจะเติบโตสู่จำนวน 1 ล้านคันภายในปี 2578
จีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังมุ่งหน้าให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับเทรนด์ของประเทศอื่นๆ ในโลกที่ต่างกำลังพยายามลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและปรับมาใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมพลังงานและภาคการผลิตที่เกี่ยวข้อง ควรคอยติดตามข่าวสารและพิจารณาปรับกลยุทธ์มาเน้นด้านพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจจากทิศทางการเปลี่ยนแปลงของจีนในอนาคต
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @_lifeelevated_
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @Lifeelevated
Blockdit: Life Elevated
.
.
#LifeElevated #พลังงานไฮโดรเจน #จีน #เชื้อเพลิงฟอสซิล #HydrogenEnergy
.
.
อ้างอิง :
https://thaibizchina.com/#section-1
https://www.globaltimes.cn/page/202104/1220923.shtml