‘เดือนเมษายน’ ถือเป็นช่วงพีคของฤดูร้อนบ้านเรา หลายจังหวัดในประเทศไทยมีอุณหภูมิทะลุสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส จากสภาพที่ร้อนจัดดังกล่าว ทำให้ต้องเผชิญกับโรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก (Heatstroke) ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต ที่หลายคนอาจยังไม่เห็นถึงอันตรายของโรค
จากสถิติข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ตั้งแต่ปี 2558-2562 พบว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากฮีทสโตรกเฉลี่ยปีละ 38 คน และมีมีรายงานผู้ป่วยประมาณ 2,500 – 3,000 รายต่อปี และคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตสูงขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะอากาศร้อนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี Life Elevated จึงอยากพาทุกคนมารู้จักโรคนี้ให้มากขึ้น พร้อมวิธีป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิต
รู้จัก โรคฮีทสโตรก (Heatstroke) ให้มากขึ้น
‘ฮีทสโตรก’ (Heat Stroke) หรือ ‘โรคลมแดด’ คือ โรคอันตรายที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการหรือไม่สามารถระบายความร้อนออกได้มากกว่า 2 ชั่วโมง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ล่าช้า ก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
ควรระวัง! สัญญาณเตือน ‘โรคฮีทสโตรก’
สำหรับสัญญาณสำคัญของ ‘โรคฮีทสโตรก’ คือ อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ตัวจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก มีอาการกระหายน้ำมาก ใจสั่น หัวใจ – ชีพจรเต้นเร็ว วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย อาจถึงขั้นชักกระตุก เกร็ง และหมดสติไป
กลุ่มใดบ้าง? ที่มีความเสี่ยงเกิดโรค ‘ฮีทสโตรก’
- ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน เช่น ออกกำลังกาย นักกีฬา เกษตรกร ผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- ผู้ที่ทำงานออฟฟิศ ที่ทำงานในห้องแอร์เป็นเวลานานแล้วออกมาเจอกับอากาศร้อนจัด จนร่างกายปรับตัวไม่ทัน
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม และในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จนอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว
6 วิธีป้องกัน รู้ทันภัยร้ายช่วงหน้าร้อน
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรเตรียมตัวโดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน
- สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้ และก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง
3.จิบน้ำบ่อยๆ อย่างน้อย 6 – 8 แก้วต่อวัน ถึงแม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม เพื่อเติมความชุ่มชื้นและลดอุณหภูมิร่างกาย
- เมื่อต้องเผชิญกับอากาศร้อน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา รวมถึงกาแฟ และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง
- เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ไม่ควรอยู่ในที่อากาศร้อนและไม่ควรอยู่ตามลำพัง
- สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย แนะนำออกกำลังกายในที่ที่อากาศถ่ายเท ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้ง
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคฮีทสโตรก
การปฐมพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคฮีทสโตรก ควรดูแลให้ดีก่อนนำส่งโรงพยาบาล เบื้องต้นหากคนไข้มีภาวะความรู้สึกที่ผิดปกติไป ให้คลำชีพจรดูว่าการหายใจคนไข้ผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีการหายใจที่ผิดปกติ ต้องทำ CPR และโทร. 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วที่สุด
สำหรับในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังมีความรู้สึกตัวที่ปกติดีอยู่ ให้รีบนำคนป่วยเข้าไปอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่โดนแสงแดด และให้คนป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น คลายเสื้อผ้าให้หลวม และให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เยอะๆ และรีบลดอุณหภูมิกายโดยการใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง
นอกจากนี้ ถ้าใช้เป็นผ้าชุบน้ำ ในคนไข้ที่เป็นโรคกลุ่มฮีทสโตรก มักจะไม่ค่อยได้ผล แต่สามารถใช้ได้ โดยการเช็ดตัวสวนขึ้นเข้าทางหัวใจ โดยให้เช็ดทางเดียว และถ้ามีพัดลม สามารถเปิดพัดลมเพื่อระบายความร้อนได้
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @lifeelevatedCLB
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @Lifeelevatedclub
Blockdit: Lifeelevatedclub
Youtube: Life Elevated Club
Pinterest: @Lifeelevatedclub
Blog สสส.: Life Elevated Club