วิกฤติโควิด-19
ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคอุตสาหกรรมแทบทุกประเภท โดยเฉพาะ อตสาหกรรมอาหาร เหตุผลหลักก็เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เห็นได้ชัดที่สุด คือ การใส่ใจเรื่องการบริโภคมากขึ้น ทั้งในแง่ของการกินอาหารเพื่อดูแลสุขภาพ สร้างภูมิต้านทานโรคภัย และ การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุก สะอาด และปลอดภัย ไปจนถึงวิธีในการเข้าถึงอาหาร ที่หลีกเลี่ยงการเดินทางไปนั่งกินอาหารที่ร้าน เพราะต้องสัมผัสกับผู้คนและมลภาวะต่างๆ รอบตัว การสั่งอาหารรูปแบบ Delivery จึงกลายเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพื่อนำสู่แนวทางที่จะกล่าวถึงต่อไปในการปรับตัวของอุตสาหกรรมอาหาร 2564
แต่คำถามก็คือ “เทรนด์” ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาโดยเฉพาะหลังยุคโควิด-19 จะทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกอาหารชั้นนำของโลกต่อไป ได้หรือไม่ และเราจะนำ “นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์” มาช่วยได้อย่างไร
อุตสาหกรรมอาหารส่งออก กับความท้าทายในปี 2564
ก่อนเกิดวิกฤติโควิดในปี 2563 อุตสาหกรรมอาหารส่งออก ก็ต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าโลกที่มีมาตรการกีดกันทางการค้ามากมาย ไปจนถึงสภาวะที่เงินบาทแข็งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต่างมุ่งที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจในประเทศด้วยการพึ่งพาการผลิตเพื่อกิน เพื่อใช้ ในประเทศมากกว่าการนำเข้าอาหารมาจากต่างประเทศ
และทันทีที่วิกฤตโควิด-19 ได้รุกลามไปทั่วโลก ทุกประเทศต่างต้องล็อกดาวน์ประเทศตัวเอง ก็ทำให้อุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทยเผชิญกับวิกฤติครั้งใหญ่อีกครั้ง
ดังนั้น ผู้ผลิตอาหารของไทยจึงควรหันมาลงทุนกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป ที่เน้นการแข่งขันด้านคุณภาพ และธุรกิจอาหารของไทยอาจจะมีโอกาสสร้างชื่อในเวทีโลก ภายใต้แบรนด์สินค้าของตนเองได้มากขึ้น
เทรนด์สุขภาพ กุมตลาดอาหาร
ศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซปต์แห่งอนาคต หรือ Baramizi Lab เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้มีการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับ Future Food Trend 2021 เผยแพร่ใน งานสัมมนา Future Food Economic Forum 2021 ซึ่งได้มีการกล่าวถึงนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารที่น่าสนใจไว้ทั้งหมด 9 เทรนด์ ดังนี้
- Imunity Boosting กินเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน
การระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมองหาตัวช่วยเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารอาหารและแร่ธาตุที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย
ตัวอย่างแนวทางพัฒนาสินค้าและบริการ :
– Wellness Shots – น้ำผลไม้เข้มข้นแบบช็อต
– Probiotics – เพิ่มลงในอาหาร เพื่อช่วยในเรื่องระบบการย่อย ที่พบได้บ่อยคือ กลุ่มสินค้าประเภท นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ และมิโสะ เป็นต้น
- Personalized Nutrition โภชนาการเฉพาะบุคคล
การออกแบบโภชนาการให้เหมาะสมกับร่างกายแบบเฉพาะบุคคล โดยคำนึงถึงการใช้ชีวิต สารอาหาร และสุขภาพ
ตัวอย่างแนวทางพัฒนาสินค้าและบริการ :
– Microbiome Data – เป็นการใช้ข้อมูลระดับพันธุกรรม เพื่อจัดอาหารในแบบ Personalized ซึ่งจะมุ่งเน้นในเรื่องของการไดเอตเป็นหลัก
– Biomarker Data – ใช้ข้อมูล Biomarkers ในเลือด นำไปวางแผนกำหนดอาหาร ยา การออกกำลังกาย และพฤติกรรม
- Well-Mental Eating กินเพื่อสุขภาพจิตใจ
โอกาสทางธุรกิจของกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ ส่วนใหญ่มักเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารบางอย่างที่ช่วยลดความเสียหายจากอนุมูลอิสระและการอักเสบของสมอง หรือ การกินเพื่อช่วยส่งเสริมการทำงานของสารสื่อประสาท ทำให้การทำงานดีขึ้น
ตัวอย่างแนวทางพัฒนาสินค้าและบริการ :
– CBD-Infused – อาหารที่ผสมสารสกัดจากกัญชา มีสรรพคุณช่วยให้รู้สึกสงบและลดความวิตกกังวล
– Probiotic – นอกจากช่วยสร้างภูมิคุ้มกันแล้วยังช่วยเรื่องสุขภาพจิตใจได้ด้วย โดยนำมาใช้ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าได้
- Gastronomy Tourism หรือ Food Tourism ท่องเที่ยวสายกิน
อาหารถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการออกท่องเที่ยว ผลสำรวจระบุว่า นักท่องเที่ยวกว่า 53% เลือกสถานที่ท่องเที่ยวจากอาหารและเครื่องดื่ม
ตัวอย่างแนวทางพัฒนาสินค้าและบริการ :
– Food Festival – งานเทศกาลที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวได้ค้นพบวัฒนธรรมอาหารประจำท้องถิ่นนั้นๆ
– Meal-Sharing Platform – แพลตฟอร์มที่จะช่วยเติมเต็มการท่องเที่ยวด้วยมื้ออาหารในแบบพื้นถิ่น
5) Elderly Food อาหารการกินของวัยเก๋า
ปัจจุบันโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตลาดอาหารสำหรับผู้สูงอายุก็กำลังเติบโตควบคู่ไปด้วย ปี 2025 คาดการณ์ว่าตลาดอาหารสำหรับผู้สูงอายุจะขยายตัวขึ้นไปจนถึง 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีปัจจุบันกว่า 25%
ตัวอย่างแนวทางพัฒนาสินค้าและบริการ :
– 3D Printed Food – ขึ้นรูปอาหารจากวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อการกลืนและการย่อยอาหารของผู้สูงอายุ แต่ยังให้รูปลักษณ์เหมือนกับอาหารปกติ
อElderly Snack – ขนมคบเคี้ยวที่ลดสารอาหารที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย หรือเพิ่มสารอาหารจำเป็นที่จะมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพเข้าไป
- Shared Kitchen ครัวที่แชร์กันมากขึ้น
ครัวกลางที่ให้บริการด้านอาหารรูปแบบใหม่ สร้างเครือข่ายธุรกิจ และลดค่าใช้จ่ายในการขยายธุรกิจ
ตัวอย่างแนวทางพัฒนาสินค้าและบริการ :
– Cloud Kitchen – เป็นการให้บริการเช่าพื้นที่ทำครัวและอุปกรณ์ทำครัวแบบอุตสาหกรรมเพื่อใช้ประกอบธุรกิจอาหาร
– Co-Cooking Kitchen – พื้นที่สร้างสรรค์อาหารจานโปรด โดยรวบรวมกลุ่มของผู้สนใจด้านเดียวกัน มีโอกาสฝึกฝน ทดลอง และรังสรรค์จานอาหารใหม่ๆ ร่วมกัน
- Biodiverse Dining กินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ
จากผลสำรวจการบริโภคทั่วโลก ผู้บริโภคส่วนใหญ่ มักกินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ส่งผลให้ร่างกายและทรัพยากรเกิดความไม่สมดุล
ตัวอย่างแนวทางพัฒนาสินค้าและบริการ :
– Biodiverse Restaurant – ร้านอาหารแนวใหม่ที่ชูจุดยืนในการรักษาความหลากหลายและช่วยให้การกินของผู้บริโภคเกิดความสมดุลมากขึ้น
– Supply Partnership – ร้านอาหารที่จับมือกับผู้ผลิตวัตถุดิบ ร่วมกันสร้างสรรค์เมนูที่มีความแปลกใหม่และหลากหลาย
- Food Waste Rescue แก้ปัญหาขยะอาหาร
อาหารที่รับประทานอยู่ในชีวิตประจำวัน สามารถสร้างขยะรวมๆ แล้วได้มากถึง 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั่วโลก โดยจะมีผลิตภัณฑ์อาหารราว 30-50% ที่ไม่ถูกกิน และส่วนใหญ่เป็นขยะอาหารที่เกิดจากครัวเรือนเป็นหลัก หากคำนวณเป็นมูลค่าทางการเงินแล้ว สูญเสียไปไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ
ตัวอย่างแนวทางพัฒนาสินค้าและบริการ :
– Transform – การนำขยะอาหารที่เหลือใช้กลับมาปรุงอาหารอีกครั้ง ตัวอย่างเช่น การนำธัญพืชไปผลิตเบียร์ แต่ by product ที่เหลือจากกระบวนการผลิต ได้แก่ โปรตีน, ไฟเบอร์, ไมโครนิวเทรียน เหล่านี้สามารถนำมาผลิตเป็น Snack Bar ได้
– Fertilizer – การนำขยะอาหารที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ไปทำเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในวงการเกษตรกรรม
- Newtrition โภชนาการรูปโฉมใหม่
ผู้คนเริ่มตระหนักในสวัสดิภาพสัตว์และภาวะการขาดแคลนอาหาร ทำให้เกิดโภชนาการรูปโฉมใหม่ คือการไม่บริโภคอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ เลือกบริโภคเฉพาะอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากผัก ผลไม้ และธัญพืชแบบ 100%
ตัวอย่างแนวทางพัฒนาสินค้าและบริการ :
– Plant-based Meat – อาหารโปรตีนทางเลือกที่มีลักษณะคล้ายเนื้อสัตว์แต่ไม่ได้ผลิตจากเนื้อสัตว์
– Bio-Based – ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพเข้ามาช่วยในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง เช่น ลดการเกิด Carbon Footprint เป็นต้น
เมื่อพิจารณา 9 เทรนด์ในข้างต้นจะเห็นได้ว่า ล้วนเป็นเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับ “อาหารเพื่อสุขภาพ” ที่ช่วยป้องกันหรือเยียวยาสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ รวมถึงการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากประสบการณ์ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา หล่อหลอมให้ผู้บริโภคมีแนวคิดและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นแล้ว กลุ่มผู้ประกอบการด้านอาหารจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ ปรับตัว และเตรียมความพร้อมที่จะก้าวต่อไปสู่ปี 2564 ปีแห่งการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพ และรักษามาตรฐานการผลิต ลดความเสี่ยงของธุรกิจ ด้วยการกระจายตลาด สร้างโอกาสและสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในวงกว้างมากขึ้น
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @_lifeelevated_
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @Lifeelevated
Blockdit: Life Elevated
.
.
#LifeElevated #อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต #FoodTrends
.
.
อ้างอิง
บทความเรื่อง “เทรนด์นวัตกรรมอาหาร 2564 พลวัตผู้บริโภค ที่ผู้ผลิตต้องจับตา” สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)