“ภาวะซึมเศร้า” เป็นปัญหาใหญ่ในผู้สูงอายุที่หลายคนมักมองข้าม เพราะไม่ใช่โรคภัยที่แสดงอาการทางร่างกายอย่างชัดเจน แต่แท้จริงแล้วหากปล่อยไว้ภาวะเช่นนี้จนกัดกร่อนจิตใจ และอาจนำไปสู่ “โรคซึมเศร้า” ซึ่งกระทบต่อความสุขในชีวิต และยังอาจส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างอีกด้วย
หากผู้สูงอายุมี “ภาวะซึมเศร้า” ท่านควรทำอย่างไร เมื่อผู้สูงอายุมีอาการดังต่อไปนี้
- กินอาหารได้น้อยมาก หรือแทบไม่กินเลย น้ำหนักลดลง
คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล ผู้สูงอายุที่กินอาหารได้น้อยลงหรือน้ำหนักลดลง มีโอกาสที่จะขาดสารอาหาร ควรดูแลให้ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ ให้กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย และไม่กระทบต่อโรคประจำตัว
- เบื่อหน่ายมาก อะไรที่เคยชอบก็ไม่อยากทำ/ไม่ค่อยสนใจ หรือไม่สนใจที่จะดูแลตัวเอง จากที่เคยเป็นคนใส่ใจดูแลตนเองมาก แต่ตอนนี้กลับไม่สนใจการแต่งตัว/ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง แม้แต่เรื่องง่ายๆ เช่น การแต่งตัว
คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล พยายามกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมง่ายๆ ให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น ควรกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำความสะอาดช่องปาก กระตุ้นให้เคลื่อนไหวร่างกาย และหากผู้สูงอายุมีปัญหาทางการได้ยิน ควรพบแพทย์เพื่อใส่เครื่องช่วยฟัง หรือหากมีปัญหาด้านการมองเห็น ควรให้ตรวจสายตาและใส่แว่นตา
- ชวนไปไหนก็ไม่ค่อยอยากไป
คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล กรณีผู้สูงอายุปลีกตัวจากผู้อื่น ใครชวนไปไหนก็ไม่อยากไป ถ้าปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้จะทำให้ผู้สูงอายุปลีกตัวมากขึ้น อารมณ์จะยิ่งเลวร้ายลง ควรหากิจกรรมทำ โดยควรเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ ในครอบครัว
- ตอนกลางคืนนอนไม่ค่อยหลับ
คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล หากผู้สูงอายุนอนกลางวัน แต่ถ้าง่วงมากให้นอนได้ระหว่าง 12.00-14.00 น. แล้วปลุก เพราะถ้านอนกลางวันมากเกินไป ตอนกลางคืนย่อมมี
- พูดคุยน้อย ผู้ดูแลไม่ทราบว่าจะพูดอย่างไรให้ถูกใจ
คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล ควรให้ความรักแก่ผู้สูงอายุ ใส่ใจความรู้สึก อารมณ์และความคิด พร้อมทั้งให้โอกาสผู้สูงอายุพูดในสิ่งที่ต้องการ ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า ความคิดและการเคลื่อนไหวจะช้าลง ทำให้บางทีแม้อยากจะพูด แต่ก็พูดไม่ทัน จึงควรเปิดโอกาสให้พูด ไม่ควรขัดจังหวะ หรือตัดบท และผู้ดูแลควรเป็นฝ่ายตั้งคำถามก่อน ชวนพูดคุยเรื่องที่ผู้สูงอายุสนใจ หรือชวนคุยถึงเรื่องราวในอดีตที่มีความสุข
- มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนฉียว
คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล ไม่ควรโวยวายหรือโต้เถียง ถ้าโต้งเถียงจะเกิดอารมณ์ขุ่นมัวขึ้นได้ทั้งสองฝ่าย เป็นอุปสรรคขวางกั้นความสัมพันธ์ ต้องรับฟังอย่างเข้าใจ ปล่อยให้ผู้สูงอายุระบายความรู้สึกออกมาก่อน จากนั้นลดสาเหตุที่ทำให้หงุดหงิด เบนความสนใจ ไปยังเรื่องที่มีความสุข หรืออาจจัดให้พักผ่อนในสถานที่สงบ รับฟังอย่างตั้งใจ อาจจะจับมือและนวดเบาๆ ที่หลังมือของผู้สูงอายุระหว่างคุย จะช่วยลดอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวได้
- บ่นว่าไม่สบาย ปวดนั่นปวดนี่อยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ตรวจแล้วไม่พบอะไรผิดปกติ
คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล การบ่นว่าปวดคลอดเวลาเป็นสัญญาณหนึ่งที่แสดงว่า ผู้สูงอายุต้องการความรักและความเอาใจใส่มากขึ้น ผู้ดูแลไม่ควรพูดตอกย้ำว่าผู้สูงอายุไม่ได้เป็นอะไร แม้แพทย์จะตรวจแล้วก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ผู้ดูแลควรพูดถึงอาการที่ผู้สูงอายุบ่น เพื่อให้เขารู้สึกว่าได้รับความเอาใจใส่จากผู้ดูแล รู้สึกว่าผู้ดูแลรับฟังและให้ความสำคัญกับปัญหาของเขา
การสื่อสารด้วยความรัก คอยสัมผัสและดูแลด้วยความใส่ใจเช่นนี้ เปรียบเหมือนการทดแทนหรือเติมเต็มสิ่งที่ผู้สูงอายุอยากได้รับ
- บ่นว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน เบื่อตัวเองมาก รู้สึกว่าตนไร้ค่า มีความคิดอยากตายหรืออยากทำร้ายตัวเอง
คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล ปัญหาเรื่องผู้สูงอายุคิดอยากทำร้ายตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผู้ดูแลต้องใส่ใจป้องกัน
สัญญาณเตือน
– บ่นว่าไม่ไหว ไม่อยากอยู่แล้ว เบื่อโลก เบื่อชีวิต
– พูดฝากฝังลูกและครอบครัวไว้กับคนใกล้ชิดว่าถ้าตนเองเป็นอะไรไป ฝากดูแลลูกเมียให้ด้วย
– จัดการสมบัติ ทำพินัยกรรม ทั้งที่ยังไม่ถึงเวลาอันควร
– รู้สึกสงสัยว่าตนเองเกิดมาทำไม ในเมื่อเกิดมาแล้วก็เป็นภาระให้คนอื่น
– ผู้สูงอายุหลายคนที่มีท่าทีเศร้าสร้อย อยู่ดีๆ ก็รู้สึกสุดชื่นขึ้นมากะทันหันเหมือนพบทางออก เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เหมือนตัดสินใจได้ว่า “ฉันจะไม่อยู่อีกต่อไปแล้วฉันจะไปแล้ว”
การสังเกตและเฝ้าระวัง
– ควรสังเกตความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอาจบ่งบอกว่ามีความคิดที่จะทำร้ายตนเอง และเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดพยายามไม่ให้คลาดสายตา
– ระวังสิ่งของที่ใช้เป็นอาวุธได้ เช่น เชือก มีด กรรไกร ปืน ยาฆ่าแมลง หรือยารักษาโรค ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะมียาหลายชนิดอยู่กับตัว บางทีเกิดความคิดอยากจะหลับไปเลยไม่อยากตื่นขึ้นมา ก็จะกินยาทั้งหมดที่มี
– พยายามหาคุณค่าในตัวผู้สูงอายุและบอกให้ผู้สูงอายุรับทราบ
สอบถามความคิดที่อยากทำร้ายตนเองของผู้สูงอายุ
อย่ากลัวที่จะถามผู้สูงอายุว่ามีความรู้สึกหรือมีความคิดที่อยากจะทำร้ายตนเองหรือไม่ การถามคำถามนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้าได้ระบายความทุกข์ใจหรือบอกเล่าปัญหา ซึ่งจะทำให้ผู้ดูแลเริ่มเข้าใจสามารถวางแผนการดูแลแก้ไขและป้องกันการทำร้ายตนเองของผู้สูงอายุได้ ที่สำคัญคือคำถามเกี่ยวกับความคิดที่จะทำร้ายตัวเองไม่ได้กระตุ้นให้ผู้สูงอายุเริ่มมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง โดยผู้ดูแลควรเลือกใช้คำพูดให้เหมือนกับมาจากความรู้สึกของตนเอง
โปรดระลึกไว้เสมอว่า ความคิดอยากตายอยากทำร้ายตัวเองหรืออยากฆ่าตัวตาย ถือเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญหากผู้สูงอายุที่ท่านดูแลมีความคิดเช่นนี้ โปรดรีบแจ้งทีมผู้ช่วยเหลือในชุมชนของท่าน เช่น อสม. ผู้ใหญ่บ้าน อปพร. หรือทีมพยาบาลเยี่ยมบ้าน
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @_lifeelevated_
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @Lifeelevated
Blockdit: Life Elevated
.
.
#LifeElevated #ผู้สูงอายุ #Elderly #โรคผู้สูงอายุ #โรคซึมเศร้าผู้สูงอายุ #โรคซึมเศร้า
.
อ้างอิง : โรงพยาบาลปาย
https://www.bpksamutprakan.com/care_blog/view/100