เมื่อเวลาเปลี่ยนไป อะไรๆ ก็ย่อมเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับเมื่ออายุเพิ่มขึ้น สภาพร่างกายก็ย่อมถดถอยอ่อนแอลงไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะใน “ผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นวัยที่อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ คือมีความเสื่อมถอย ความแข็งแรงลดลง ส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น
ดังนั้น “การหมั่นตรวจสุขภาพ” จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับผู้สูงวัย เพราะนอกจากจะเป็นการประคับประคองสุขภาพให้อยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว ยังเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อน หรือแม้แต่การพบโรคได้เร็วในระยะเริ่มต้น การรักษาก็จะง่ายและหายได้เร็วกว่า
โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง?
เมื่อการทำงานของอวัยวะ เซลล์ และภูมิคุ้มกันต่างๆ ในร่างกายของผู้สูงอายุถดถอยลง โรคต่างๆ ก็จะเริ่มเข้ามารบกวนมากขึ้น เช่น…
โรคเบาหวาน
โรคนี้เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินไปใช้ได้อย่างเพียงพอ และร่างกายเกิดภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ที่ทำหน้าที่เผาผลาญน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน จึงทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ
โรคข้อเข่าเสื่อม
เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดได้ทั้งจากอายุที่เพิ่มขึ้น และการใช้งานหนักมาเป็นเวลานาน ทำให้กระดูกผิวอ่อนของข้อเข่าสึกหรอ มีโครงสร้างเปลี่ยนแปลงไปหรือเสื่อมสภาพลง หากไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลให้ข้อเข่าผิดรูป และมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวในที่สุด
โรคไต
เมื่อไตทำงานผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ก็ส่งผลให้มีปัญหาในการกำจัดของเสีย และการควบคุมความเป็นกรดในกระแสเลือด โดยในช่วงแรกผู้ป่วยโรคไตแทบจะไม่มีสัญญาณของโรคร้ายนี้เลย แต่อาการจะปรากฏออกมาในระยะท้ายๆ ที่ไตเสื่อมไปมากแล้ว ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด
โรคความดันโลหิตสูง
ถือเป็นภัยเงียบที่มักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่บางรายอาจพบว่ามีอาการปวดหัว เวียนศีรษะ มึนงง และเหนื่อยง่ายผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อวัยวะต่างๆ ได้รับผลกระทบ เช่น หัวใจ หลอดเลือด สมอง ไต และตา
โรคอัลไซเมอร์
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสมอง จนสมองบางส่วนทำงานเสื่อมลงอย่างช้าๆ จึงมีอาการแสดงออกมา เช่น มีอาการหลงลืมบ่อยๆ ผู้ป่วยจะชอบถามคำถามซ้ำๆ หรือในบางรายสมองอาจจะใช้การต่อไปไม่ได้เลย ซึ่งกว่าจะรู้ตัวอาจใช้เวลานานหลายเดือนหรือเป็นปีๆ ทีเดียว
ต้องตรวจอะไรและบ่อยแค่ไหน… ในผู้สูงอายุ
สำหรับผู้สูงอายุ นอกจากการตรวจสุขภาพพื้นฐาน และการดูแลเอาใส่ใจในสุขภาพโดยทั่วไปแล้ว ยังต้องเพิ่มการตรวจสุขภาพแบบเจาะลึกและเพิ่มความถี่ให้มากขึ้นอีกด้วย ตัวอย่างเช่น
ตรวจตา
– อายุ 60-64 ปี ควรตรวจตาทุก 2-4 ปี
– อายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 1-2 ปี
ตรวจอุจจาระ
– อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรตรวจอุจจาระปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
การประเมินภาวะสุขภาพ
– ควรได้รับการประเมินภาวะโภชนาการ ความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน สมรรถภาพในการทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน
– อายุ 65 ปีขึ้นไป ควรประเมินสมรรถภาพการทำงานของสมองเพิ่มเติม
ตรวจเต้านมในสตรี
– อายุ 60-69 ปี ควรตรวจเต้านมทุกปี
– อายุ 70 ปีขึ้นไป ควรตรวจตามความเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์
ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- อายุ60-64 ปี ควรตรวจทุกๆ 3 ปี
- อายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจตามความเหมาะสม
ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
– อายุ 70 ปีขึ้นไปควรตรวจทุกปี
ตรวจระดับไขมันในเลือด
– ควรตรวจทุก 5 ปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์
ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และตรวจปัสสาวะ ตรวจการทำงานของไต
– ควรตรวจทุกปี
จริงๆ แล้ว “การตรวจสุขภาพ” เป็นเรื่องที่คนทุกเพศทุกวัยควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้สูงอายุ” ที่ต้องการการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด ตรวจให้ครอบคลุมขึ้น และตรวจอย่างสม่ำเสมอ เพราะบางโรคจะไม่มีสัญญาณใดๆ บ่งชี้ให้ผู้ป่วยเห็นหรือสังเกตตนเองได้เอง การจะตรวจพบรอยนั้นจึงต้องอาศัยเครื่องมือแพทย์และแพทย์เฉพาะทางทำการตรวจให้
ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้ว โรคที่เกิดกับ “ผู้สูงอายุ” มักมีความรุนแรงกว่าการเกิดในผู้ที่อายุยังน้อย นั่นเป็นเพราะประสิทธิภาพในการทำงานของอวัยวะต่างๆ นั้นลดลง เซลล์มีความเสื่อมสภาพมากกว่า รวมถึงภูมิคุ้มกันโรคก็ไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มเป็นสาวนั่นเอง
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @_lifeelevated_
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @Lifeelevated
Blockdit: Life Elevated
.
.
#LifeElevated #ผู้สูงอายุ #Elderly #โรคผู้สูงอายุ #ผู้สูงอายุตรวจสุขภาพ
.
อ้างอิง : ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์
https://thainakarin.co.th/elderly-health-check-med/
https://www.bangkokhospital.com/content/longevity-program
https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/elderly-health-check