Home Body “เปลี่ยนน้ำเสียเป็นน้ำดื่มสะอาด” วิธีรักษ์โลกในแบบฉบับสิงคโปร์

“เปลี่ยนน้ำเสียเป็นน้ำดื่มสะอาด” วิธีรักษ์โลกในแบบฉบับสิงคโปร์

by Lifeelevated Admin2

“สิงคโปร์” ประเทศที่มีพื้นที่ไม่ถึง 730 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพียงน้อยนิด และส่วนใหญ่แล้ว ต้องพึ่งพาน้ำจากมาเลเซียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านติดกันมาโดยตลอด

รัฐบาลสิงคโปร์ตัดสินใจริเริ่มโครงการพัฒนาระบบที่มีความก้าวล้ำนำสมัยในการบำบัดน้ำเสีย ที่ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอุโมงค์และโรงงานไฮเทคจำนวนหนึ่ง ด้วยความหวังที่จะเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองและยังเป็นอีกหนึ่งวิธีรักษ์โลกด้วย

หน่วยงานดูแลกิจการที่เกี่ยวกับน้ำของสิงคโปร์ ประเมินไว้ว่า การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่นี้จะช่วยตอบสนองความต้องการน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคภายในประเทศได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการรวม และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 55 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2060 ด้วย

ปัจจุบัน น้ำที่ได้รับการบำบัดเพื่อนำมาใช้ใหม่นั้น ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมเสียส่วนใหญ่ และที่เหลือนั้นถูกส่งไปยังอ่างเก็บน้ำของประเทศที่มีประชากร 5.7 ล้านคนแห่งนี้

รายงานข่าวระบุว่า ระบบที่สิงคโปร์นำมาใช้บำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำคุณภาพดีนี้ยังสามารถช่วยลดปัญหามลพิษทางน้ำด้วย เนื่องจากมีการปล่อยน้ำที่ได้รับการบำบัดแล้วเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นกลับคืนลงสู่ทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากสิ่งที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกทำอยู่

องค์การสหประชาชาติประเมินไว้ว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของน้ำเสียจากทั่วโลกนั้นไหลกลับสู่ระบบนิเวศ โดยไม่ได้รับการบำบัดหรือถูกนำกลับมาใช้อีก

โหลว เพ่ย ชิน หัวหน้าทีมวิศวกรแผนกฟื้นฟูน้ำ ของคณะกรรมการสาธารณูปโภคสิงคโปร์ บอกกับผู้สื่อข่าว เอเอฟพี ว่า “สิงคโปร์ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ และมีพื้นที่อันจำกัด ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเรา(สิงคโปร์)จึงต้องคอยหาหนทางสำรวจแหล่งน้ำและหาวิธีเพิ่มอุปทานน้ำของเรา(ประเทศ)ตลอดเวลา” และเธอยังบอกด้วยว่า ยุทธศาสตร์หลักอย่างหนึ่งที่สิงคโปร์ใช้ก็คือ “การเก็บรวบรวมทุกหยด” และ “นำมาใช้ใหม่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด” นั่นเอง

วิธีการดังกล่าว คือสิ่งที่สิงคโปร์นำมาปฏิบัติใช้นอกเหนือจากช่องทางหลักๆ เช่น การนำเข้าน้ำ การกักเก็บน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำ และกระบวนการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล

สำหรับระบบรีไซเคิลน้ำที่สิงคโปร์ใช้อยู่นั้น มีศูนย์กลางใหญ่ที่โรงงาน Changi Water Reclamation Plant ซึ่งมีใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการดำเนินงาน และตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของเกาะ โดยส่วนหนึ่งของโรงงานนี้ตั้งอยู่ใต้ดินที่มีความลึกเท่ากับอาคาร 25 ชั้น และรับน้ำเสียที่ไหลผ่านมาทางอุโมงค์ยักษ์ซึ่งมีความยาว 48 กิโลเมตร และเชื่อมต่อกับบ่อน้ำเสียต่างๆ อยู่

ภายในโรงงานแห่งนี้เป็นเหมือนเขาวงกตของท่อเหล็กและถังเหล็กขนาดต่างๆ รวมทั้งระบบการกรองทั้งหลาย และเครื่องจักรอื่นๆ ที่ร่วมกันทำหน้าที่บำบัดน้ำเสียปริมาณสูงสุดได้ถึง 900 ล้านลิตรต่อวัน หรือมากพอที่จะนำไปเปลี่ยนน้ำในสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิกทุก 24 ชั่วโมงได้ตลอด 1 ปีเลยทีเดียว

นอกจากนั้น ยังมีอาคารอีกแห่งภายในพื้นที่โรงงานนี้ที่ได้รับการติดตั้งเครือข่ายเครื่องระบายอากาศเพื่อช่วยทำให้อากาศให้ความรู้สึกสดชื่นเสมอ แม้ว่า จะยังมีกลิ่นเน่าเสียลอยอยู่ในอากาศบ้างก็ตาม

น้ำเสียที่ส่งเข้ามายังโรงงานแห่งนี้จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการกรองเบื้องต้นก่อนที่ปั๊มน้ำกำลังสูงจะส่งต่อไปยังส่วนงานที่อยู่บนดินเพื่อทำการบำบัดในขั้นตอนต่อไป ซึ่งประกอบไปด้วยการทำความสะอาดเพื่อกำจัดเชื้อต่างๆ ทั้งแบคทีเรียและไวรัส ด้วยกระบวนการกรองล้ำสมัย รวมทั้งการฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเล็ต

สิ่งที่ได้ออกมาจากขั้นตอนทั้งหมดคือ ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อว่า NEWater ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในโรงงานผลิตไมโครชิป ที่ตั้งอยู่ดาษดื่นทั่วสิงคโปร์ และต้องใช้น้ำคุณภาพสูงในการผลิต รวมทั้งเพื่อระบบทำความเย็นภายในอาคารโรงงานเหล่านั้นด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น สิงคโปร์ยังมีแผนที่จะขยายระบบการรีไซเคิลของประเทศให้มีการใช้งานมากขึ้นด้วย โดยรัฐบาลวางแผนสร้างอุโมงค์ใต้ดิน และโรงงานฟื้นฟูน้ำขนาดใหญ่ เพิ่มอีกเพื่อให้บริการพื้นที่ทางด้านตะวันตกของเกาะ โดยมีกำหนดที่จะสร้างเสร็จภายในปี ค.ศ. 2025

รายงานข่าวระบุด้วยว่า สิงคโปร์น่าจะลงทุนไปทั้งหมดเป็นเงินราว 10,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 244,000 ล้านบาทเพื่ออัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานที่ทำหน้าที่บำบัดน้ำ เมื่อโครงการก่อสร้างต่างๆ เสร็จสิ้นสมบูรณ์

ทั้งนี้ แรงผลักดันที่ทำให้สิงคโปร์ต้องพยายามพึ่งพาตนเองมากขึ้นก็คือ ความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆ ดอนๆ กับมาเลเซีย ซึ่งเริ่มมีปัญหาตั้งแต่เมื่อปี 1965 ที่มาเลเซียขับสิงคโปร์ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพที่มีตัวตนอยู่ไม่นาน รวมทั้ง ความไม่ลงรอยเกี่ยวกับประเด็นการจัดหาน้ำระหว่างกันที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีต

ความสำเร็จของสิงคโปร์ในเรื่องนี้ ทำให้ สเตฟาน เวิร์ทซ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University ออกมาย้ำถึงความสำคัญที่แต่ละประเทศต้องพยายามทำการบำบัดน้ำเสียของตนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมเตือนว่า หากไม่ทำเช่นนั้น อาจจะต้องเผชิญกับผลกระทบร้ายแรกในระยะยาว เพราะ “โลกใบนี้มีน้ำอยู่จำกัด” และ “หากเราทุกคนยังคงเฝ้าก่อมลพิษต่อน้ำสะอาดต่อไป สักวันหนึ่ง มนุษย์จะก้าวไปถึงจุดที่การบำบัดกลายมาเป็นเรื่องที่มีราคาแพงอย่างที่สุด”

 

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

Related Articles

Leave a Comment