Home Body ‘Digital Healthcare’ ตัวช่วยบุคลากรแพทย์ไทย รับมือโควิด 19

‘Digital Healthcare’ ตัวช่วยบุคลากรแพทย์ไทย รับมือโควิด 19

by Lifeelevated Admin3

ยุคปัจจุบัน ‘ดิจิทัล’ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราทุกคน ทั้งด้านเศรษฐกิจ คมนาคม การสื่อสาร และอื่นๆ รวมถึงอุตสาหกรรมทางการแพทย์ (Healthcare) เนื่องจากอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันให้ผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ ต้องปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ ให้ทันท่วงที

เนื่องจากการแพทย์คือแนวหน้าในการสู้กับโควิด 19 จึงมีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างหลากหลายเช่น การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics & Automation) การปฏิบัติงานทางไกล (Telemedicine) รวมถึงการให้คำปรึกษาออนไลน์ (Video Conferencing) เป็นต้น ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ จะส่งผลให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          โดยในต่างประเทศเช่น ‘จีน’ ได้มีการปรับตัวใช้เทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยมีการผสมผสานเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็น Cloud, Blockchain, AI, Big Data, 5G และ Robot มาสนับสนุนทางการแพทย์ เช่น การใช้หุ่นยนต์เพื่อดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องเว้นระยะห่าง รวมทั้งการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในโรงพยาบาล อีกทั้งยังช่วยลำเลียงยารักษาโรค ทั้งยังมีการใช้โดรนในการพ่นยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาความสะอาด อีกด้านหนึ่งที่สำคัญอย่างมากคือ การคัดกรองผู้ป่วย มีการใช้กล้องถ่ายภาพตรวจวัดอุณหภูมิ เป็นต้น

ด้านแคนาดาได้คิดค้นระบบติดตามโควิด 19 ออนไลน์แบบเรียลไทม์ ทำให้ประชาชนได้เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อโดยจะแบ่งตามภูมิภาค เพื่อให้ผู้คนได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็วนำไปสู่การป้องกันตัวเองได้อย่างทันท่วงที ส่วนญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ในเวลาเพียง 5 นาที ขณะที่ไต้หวันได้พัฒนาเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (Virtual Reality) เพื่อสอนนักศึกษาแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 โดยไม่จำเป็นต้องทดลองรักษากับคนไข้จริงเพื่อลดความเสี่ยง

สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรม Healthcare กำลังเผชิญความท้าทายหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปี การเกิดโรคใหม่ๆ ซึ่งผลที่ตามมาคือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนในประเทศที่สูงขึ้น ซึ่งหลังจากการระบาดของโควิด 19 ประเทศไทยต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งที่เรียกว่า New normal โดยมีหลักสำคัญ 3 ประการที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องเตรียมพร้อมคือ

  1. เน้นความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์เป็นสำคัญ
  2. ลดความแออัดของผู้ป่วยในสถานพยาบาล
  3. ต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำในการได้รับการรักษา

โดยตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในไทย ภาครัฐและเอกชนได้มีการคิดค้น – พัฒนานวัตกรรมในการรับมือการระบาดเช่น โครงการ Pattani Model ที่จังหวัดปัตตานี ปรับบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ มีการจำลองโรคผู้ป่วยโดยจำแนกเป็นสามกลุ่มตามสัญญาณไฟจราจร ได้แก่ สีเขียว (มีความเสี่ยงน้อย) สีเหลือง (มีความเสี่ยงปานกลาง) และสีแดง (มีความเสี่ยงสูง) ซึ่งพิจารณาจากความจำเป็นในการดูแลทางการแพทย์โดยตรงและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 ผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องไปที่สถานพยาบาลจะใช้แอปพลิเคชันเพื่อปรึกษาทางไกลกับแพทย์ ส่วนยาและอุปกรณ์ต่างๆ จะถูกส่งไปให้กับประชาชนถึงบ้านโดยมีอาสาสมัครในหมู่บ้านให้ความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น กล้องจดจำใบหน้าเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิและแจ้งเตือนผู้ที่ไม่สวมใส่หน้ากาก มีการนำหุ่นยนต์บริการทางการเแพทย์มาใช้ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อคอยช่วยรับส่งอาหารและยา พร้อมส่งอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพผู้ป่วย หรือที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีหุ่นยนต์ เวสตี้ (Wastie) เก็บขยะติดเชื้อ โดยใช้แขนกลยกถังขยะติดเชื้อไปยังกระบะจัดเก็บ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแก่บุคลากรทางการแพทย์

ในอนาคตหากไทยต้องการเป็น Medical Hub ของอาเซียนรวมถึงเอเชีย ขณะนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองและตระหนักถึงความสำคัญของการนำ ‘Digital Healthcare’ มาใช้ให้มากขึ้นเพื่อเป็นตัวช่วยบุคลากรแพทย์ไทยสู้ภัยโควิดระบาดในขณะนี้ โดยสามารถศึกษาจากกรณีตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ นำมาต่อยอดการพัฒนาทั้งในด้านของเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตยั่งยืนได้

 

 

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

Related Articles

Leave a Comment