Home Body ทำความรู้จักยาต้านไวรัสโควิด 3 ชนิด กับประสิทธิภาพสยบเชื้อร้าย

ทำความรู้จักยาต้านไวรัสโควิด 3 ชนิด กับประสิทธิภาพสยบเชื้อร้าย

by Lifeelevated Admin1

การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด 19

ยาต้านไวรัส (Antivirals) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อไวรัสก่อโรค จึงให้ยาหลังจากเกิดการติดเชื้อแล้วเพื่อใช้รักษาโรค ต่างจากวัคซีนที่ออกฤทธิ์กระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสจึงเป็นการป้องกันไม่ให้เป็นโรค ด้วยเหตุนี้ยาต้านไวรัสจึงไม่อาจใช้ทดแทนการให้วัคซีน ยาต้านไวรัสออกฤทธิ์ขัดขวางการเจริญและการเพิ่มจำนวนของไวรัส

โดยยาอาจไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส (RNA polymerase หรือ RNA replicase) ซึ่งเอนไซม์นี้มีความสำคัญในการเพิ่มจำนวนไวรัส หรือยาไปขัดขวางไม่ให้ไวรัสเข้าสู่ภายในเซลล์โฮสต์ เช่นเซลล์ที่ทางเดินหายใจของคน (การเจริญและการเพิ่มจำนวนของไวรัสเกิดขึ้นภายในเซลล์โฮสต์) หรือยาทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมชนิดกลายพันธุ์ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ หรือยาอาจออกฤทธิ์อย่างอื่น สิ่งเหล่านี้ทำให้ไวรัสไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้

การระบาดของโควิด 19 ทำให้มีนักวิจัยหลายกลุ่มได้คิดค้นยาต้านไวรัสโควิด 19 ซึ่งการคิดค้นอาจเริ่มต้นจากสารชนิดใหม่และนำยาที่มีใช้อยู่แล้วมาศึกษาต่อยอดหลากหลายชนิด สำหรับยาต้านไวรัสโควิด  ที่ Life Elevated ได้นำมาให้ทราบ การศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 ยังคงดำเนินอยู่ และยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี ได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินแล้วในบางประเทศ

 

  1. กลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibodies)

ยา ‘โมโนโคลนอลแอนติบอดี’ คืออะไร?

ยา ‘โมโนโคลนอลแอนติบอดี’ หรือยา ‘แอนติบอดีโคลนเดี่ยว’ เป็นยาชีววัตถุ (biological drugs หรือ biologics) ผลิตด้วยกรรมวิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพ มีโครงสร้างเป็นสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีชนิดที่มีความจำเพาะในการจับกับอีพิโทป (epitope) บนผิวของโมเลกุลแอนติเจน (อีพิโทปเป็นชิ้นส่วนจำเพาะบนผิวของโมเลกุลแอนติเจนซึ่งรับรู้ได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกัน)

การออกฤทธิ์ต้านไวรัสโควิด 19

ยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดีออกฤทธิ์จับกับอีพิโทปที่จำเพาะบนผิวของโมเลกุลแอนติเจนซึ่งได้แก่สไปก์โปรตีนหรือโปรตีนเอส (spike protein S) บนไวรัสโควิด 19 จึงขัดขวางการจับของสไปก์โปรตีนกับตัวรับชนิดเอซีอี 2 (angiotensin-converting enzyme 2 receptor หรือ ACE2 receptor) บนเซลล์โฮสต์ (เช่นเซลล์ที่ทางเดินหายใจคน)

ทำให้ไวรัสไม่สามารถเข้าสู่ภายในเซลล์โฮสต์ หรือยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีบางชนิดเมื่อจับกับอีพิโทปแล้วไม่ได้ขัดขวางการจับของสไปก์โปรตีนกับตัวรับชนิดเอซีอี 2 แต่ขัดขวางขั้นตอนการผ่านเซลล์เมมเบรน เมื่อไวรัสเข้าสู่ภายในเซลล์โฮสต์ไม่ได้จึงไม่อาจดำรงชีพได้

 

  1. โมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir)

ชื่ออื่น: MK-4482, EIDD-2801 ของบริษัทเมอร์ค (Merck) ยานี้พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเอมอรี (Emory University) ในประเทศสหรัฐอเมริกา เดิมพัฒนายานี้เพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ต่อมามีการศึกษาเพื่อใช้กับโควิด 19 โมลนูพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน ผลิตในรูปยาแคปซูล ยาถูกดูดซึมดีจากทางเดินอาหาร

ยานี้อยู่ในรูปโพรดรัก (prodrug) (โพร-ดรัก หมายถึงยาที่ยังไม่มีฤทธิ์หรือมีฤทธิ์เพียงเล็กน้อย) ภายหลังรับประทานจึงถูกเปลี่ยนเป็นสารออกฤทธิ์คือเอ็น-โฮดรอกซีไซทิดีน (N-hydroxycytidine หรือ β-d-N4-hydroxycytidine หรือ NHC) ทำให้เอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรสของไวรัสนำสารนี้ไปสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอชนิดกลายพันธุ์ ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้อีกต่อไป

 

  1. ยาอื่นที่อยู่ในการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3

ไนตาซอกซาไนด์ (nitazoxanide)

เป็นยาชนิดรับประทานที่มีใช้อยู่แล้ว ใช้รักษาโรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากจุลชีพจำพวกปรสิตเซลล์เดียวกลุ่มโปรโตซัว (โรค cryptosporidiosis และโรค giardiasis) โดยใช้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่

ในการศึกษาเพื่อใช้กับผู้ป่วยโควิด 19 นั้น ผลการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 2 ในประเทศบราซิลที่ศึกษาในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 392 คนที่มีอาการเล็กน้อย พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาไนตาซอกซาไนด์ 500 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 5 วันช่วยทุเลาอาการได้ไม่แตกต่างจากยาหลอก แต่ปริมาณไวรัสในกลุ่มที่ได้รับยาพบน้อยกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างชัดเจนและขนาดยาดังกล่าวมีความปลอดภัย

ส่วนการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 เปรียบเทียบการใช้ยานี้กับยาหลอกในการรักษาผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและมีอาการมาไม่เกิน 3 วัน โดยให้ยานี้ในขนาด 300 มิลลิกรัมในรูปยาเม็ดออกฤทธิ์เนิ่น (extended-release tablets) รับประทานวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 5 วัน มีผู้ป่วยเข้าร่วมในการศึกษา 1,092 คน อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

ในเบื้องต้นประเมินผลในผู้ป่วย 379 คน พบว่ายาช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ 85% ของผู้ป่วย (ความรุนแรงของโรคพบ 0.5% ในกลุ่มที่ได้รับยาและพบ 3.6% ในกลุ่มยาหลอก) และผู้ป่วยทนต่อการใช้ยาได้ดี ผลไม่พึงประสงค์ในกลุ่มที่ได้รับไนตาซอกซาไนด์พบไม่ต่างจากกลุ่มยาหลอก มีเพียงอาการท้องเดินที่พบได้มากกว่า (3.4% เทียบกับ 2.2%) แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

 

อ้างอิง :

https://bit.ly/3zhRfWI

https://bbc.in/3nLI2Ut

https://bit.ly/3klxWra

https://bit.ly/3lBhl21

https://bit.ly/39fXwaW

Related Articles

Leave a Comment