Home Body “วัคซีนโควิด” เรื่องควรรู้ เมื่อต้องสู้กับไวรัสร้าย

“วัคซีนโควิด” เรื่องควรรู้ เมื่อต้องสู้กับไวรัสร้าย

by Lifeelevated Admin2

แม้ในบ้านเราสถานการณ์โควิด-19 จะควบคุมได้เป็นส่วนใหญ่ แต่จากเหตุการณ์เมื่อไม่กี่วันก่อนที่มีสาว 2 รายติดเชื้อโควิดที่จังหวัดเชียงใหม่เนื่องจากเดินทางมาจากต่างประเทศ เราจึงไม่ยังวางใจอะไรไม่ได้ กอปรกับสถานการณ์ทั่วโลกยังไม่คลี่คลายมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ “วัคซีนโควิด-19” จึงเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติในการปราบเชื้อไวรัสนี้ ดังนั้น Life Elevated จึงขอนำเรื่องควรรู้มาให้ได้ทราบ รวมถึงบริษัทผู้ผลิตวัคซีนด้วย

บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และไบออนเทค (BioNTech) ซึ่งเป็นผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ประกาศผลการทดลองวัคซีนนี้กับคน 43,500 คน ใน 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี บราซิล อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และตุรกี พบว่าทำให้คน 90% มีภูมิคุ้มกันจากโรคโควิด-19 สร้างความตื่นเต้นไปทั่วโลก

ล่าสุดไฟเซอร์ได้เปิดเผยข่าวดีครั้งใหม่จากการทดลองในขั้นที่ 3 ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ และขณะนี้บริษัททั้งสองแห่งกำลังจะยื่นเรื่องขออนุมัติเป็นการฉุกเฉินให้ใช้วัคซีนชนิดนี้โดยเร็วที่สุด

ในปัจจุบันมีผู้คิดค้นวัคซีนกว่า 10 ชนิด ที่กำลังอยู่ในขั้นของการทดสอบระยะสุดท้าย แต่นี่เป็นวัคซีนแรกที่ได้ผลลัพธ์ออกมา Life Elevated จึงขอพาไปทำความรู้จักวัคซีนนี้ให้ดียิ่งขึ้น

1.วัคซีนชนิดใหม่คืออะไรและมีประสิทธิภาพเพียงใด

วัคซีนนี้ช่วยฝึกระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

วัคซีนชนิดใหม่นี้มีชื่อเรียกว่าวัคซีนอาร์เอ็นเอ ซึ่งผลิตจากชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เมื่อถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของผู้รับวัคซีนสร้างแอนติบอดีที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้

จากการฉีดวัคซีนจำนวน 2 โดส ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการทดลอง ในระยะเวลาห่างกัน 3 สัปดาห์ ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่าผู้เข้าร่วมการทดลองกว่า 90% มีภูมิคุ้มกันจากโรคโควิด-19

2.มีประสิทธิภาพ 94% ป้องกันคนวัย 65 ปีขึ้นไป

ข้อมูลเพิ่มเติมจากการทดลองที่เพิ่งจะเปิดเผยเมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ดีอย่างเท่าเทียมกันในคนทุกวัย และทุกเชื้อชาติ

ในการทดลองวัคซีนของไฟเซอร์ และไบออนเทค มีการใช้อาสาสมัครที่มีความหลากหลาย โดย 42% ของผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมดเป็นคนจากหลากหลายชาติพันธุ์ และ 41% เป็นคนอายุระหว่าง 56-85 ปี

ผลการทดลองบ่งชี้ว่า วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในคนสูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอที่สุดและเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคนี้มากที่สุดได้ดีเทียบเท่ากับคนหนุ่มสาว

แม้จะยังไม่มีการตีพิมพ์ข้อมูลการทดลองฉบับสมบูรณ์ แต่บริษัททั้งสองระบุว่า วัคซีนชนิดนี้ไม่ส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายรุนแรง พบเพียงอาการปวดศีรษะและอ่อนล้าในอาสาสมัครราว 2% ที่ได้รับวัคซีน และดูเหมือนว่าอาสาสมัครสูงวัยจะมีอาการข้างเคียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

3.เคยมีการใช้วัคซีนชนิดนี้มาก่อนหรือไม่

ไม่เคยมีวัคซีนอาร์เอ็นเอที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในคนมาก่อน แต่แนวคิดในการพัฒนาวัคซีนด้วยวิธีนี้เคยมีการศึกษาวิจัยมาก่อนและเคยมีการทดลองทางคลินิกเพื่อใช้ป้องกันโรคอื่นๆ

หน่วยงานกำกับดูแลการผลิตวัคซีนทั่วโลกจะพิจารณาและตัดสินว่าจะสามารถอนุมัติให้ใช้วัคซีนนี้กับมนุษย์ได้หรือไม่

4.ใครจะได้รับวัคซีนก่อนและจะได้เร็วแค่ไหน

ขึ้นกับอายุของแต่ละคน เพราะอายุเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคโควิด -19 รุนแรงแตกต่างกันไป

ในสหราชอาณาจักร ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราและเจ้าหน้าที่ดูแล ได้รับการจัดลำดับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ รองลงมาเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่น เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล จากนั้นจึงเป็นประชาชนทั่วไปที่จะได้รับวีคซีนตามลำดับอายุ โดยมีผู้ที่อายุต่ำกว่า 50 ปี อยู่ในอันดับท้ายสุด

หากผลทดลองเป็นไปโดยราบรื่น การฉีดวัคซีนชุดแรกอาจเกิดขึ้นก่อนเทศกาลคริสต์มาส อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่รออยู่คือการขนส่งวัคซีนที่จะต้องจัดทำภายใต้อุณหภูมิลบ 80 องศาเซลเซียส

5.ผู้รับวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกันยาวนานแค่ไหน

ขณะนี้ยังไม่มีใครทราบคำตอบ แต่หากภูมิคุ้มกันจากวัคซีนชนิดใหม่นี้ไม่คงอยู่ยาวนาน ก็อาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกๆ ปี เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยไม่ได้บ่งชี้ว่าคนทุกช่วงวัยมีภูมิคุ้มกันจากโรคโควิด-19 เหมือนกันหรือไม่ อย่างไรก็ตามการศึกษาก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่าทั้งคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุต่างมีภูมิคุ้มกัน

สำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจะไม่สามารถรับวัคซีนนี้ได้

6.วัคซีนมีผลต่อสุขภาพในระยะยาวหรือไม่

ในทางการแพทย์ไม่มีสิ่งใดที่ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ แม้แต่ยาที่เรารับประทานอยู่เป็นประจำ เช่น ยาพาราเซตามอลก็มีความเสี่ยงต่อร่างกายเช่นกัน

จนถึงขณะนี้ข้อมูลที่ได้จากการทดลองสร้างความมั่นใจได้ว่าวัคซีนมีความปลอดภัย โดยไม่พบข้อกังวลด้านความปลอดภัยในการทดลองกับอาสาสมัคร 43,500 คน มีเพียงรายงานว่าเกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย หากวัคซีนเป็นอันตรายและส่งผลกระทบต่อร่างกายอาสาสมัครหลายคน ก็จะปรากฏผลออกมามากกว่านี้ อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลข้างเคียงที่พบได้ยากหากผู้คนหลายล้านคนได้รับวัคซีนนี้

7.หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์อีกใช่หรือไม่

หวังว่าจะใช่ แต่คงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้

หากคนจำนวนมากพอมีภูมิคุ้มกัน เชื้อไวรัสก็จะหยุดแพร่กระจายและเราไม่จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นมาควบคุมการแพร่ระบาด แต่สิ่งที่ยากคือช่วงเวลาที่ต้องรอคอยจากจุดปัจจุบันไปจนถึงวันที่คนทั่วโลกมีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19

นอกจากนี้การผลิตวัคซีนให้เพียงพอสำหรับทุกคนบนโลกยังเป็นเรื่องท้าทาย เพราะต้องใช้เวลา และจะต้องมีมาตรการบางอย่างมาควบคุมไม่ให้ไวรัสแพร่กระจาย จนกว่าจะถึงเวลานั้น

ดังนั้นการทดสอบหาเชื้อ การล็อกดาวน์ การเว้นระยะห่างทางสังคม และการสวมหน้ากากจะยังคงเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของเราต่อไป

8.จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไวรัสกลายพันธุ์

โดยปกติแล้วไวรัสกลายพันธุ์ตลอดเวลา คำถามคือว่าจะเป็นการกลายพันธุ์ในลักษณะของการเปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ แต่เป็นไปได้ว่าอาจเกิดขึ้นในอนาคตและจะส่งผลให้วัคซีนมีประสิทธิภาพน้อยลง หากเป็นเช่นนั้นอาจต้องมีการออกแบบวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กันอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะผู้ผลิตวัคซีนยังต้องพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ๆ เป็นประจำทุกปี เพื่อพยายามจับคู่สายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ที่มีการกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ และเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนอาร์เอ็นเอ นั้นง่ายต่อการปรับแต่งดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นปัญหาสำคัญ

9.ทำไมถึงมีเพียงไฟเซอร์เท่านั้นที่ทำได้

บริษัทไฟเซอร์และไบออนเทคเป็นผู้ออกแบบ พัฒนาและเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของวัคซีนชนิดนี้

ซึ่งสามารถผลิตได้จำนวน 1.3 พันล้านโดสภายในสิ้นปีหน้า แต่บริษัททั้งสองสามารถร่วมมือกับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นได้

10.ยังมีอะไรที่ต้องรู้อีกบ้างเกี่ยวกับวัคซีนนี้

การประกาศผลการทดลองดังกล่าวเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก แต่ยังขาดรายละเอียดสำคัญ

ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าวัคซีนจะช่วยป้องกันไม่ให้เราติดและแพร่เชื้อไวรัสได้หรือไม่ หรือแค่ยับยั้งไม่ให้เราป่วย และยังไม่มีข้อมูลว่าวัคซีนป้องกันคนในช่วงอายุต่างกันอย่างไร

11.มีผลอย่างไรกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่กำลังทดลองอยู่

ความสำเร็จของไฟเซอร์และไบออนเทค ถือเป็นข่าวดีที่แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ เนื่องจากวัคซีนหลายชนิดที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองต่าง กำหนดเป้าหมายไปที่การจัดการกับโปรตีนที่หนามของเชื้อไวรัส ดังนั้นจึงหวังได้ว่าวัคซีนเหล่านั้นจะได้ผลเช่นกัน

ขณะนี้มีวัคซีนประมาณ 12 ชนิด ที่อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการพัฒนาทางคลินิก

ไม่เคยมีการคิดค้นวัคซีนชนิดใดที่ใช้ระยะเวลาสั้นที่สุดเช่นนี้มาก่อน และโลกกำลังเฝ้ารอผลการทดสอบวัคซีนเหล่านั้นอยู่

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ว่ามีประสิทธิภาพดี สร้างภูมิคุมกันได้คนได้ราวครึ่งหนึ่ง แต่ความพยายามครั้งแรกในการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นี้ ให้ผลคุ้มกันอาสาสมัครถึง 90% ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

 

 

 

อ้างอิง

https://www.thebangkokinsight.com/484610/

http://medicaldevices.oie.go.th/Article.aspx?aid=9945

https://www.bbc.com/thai/international-55019177

https://bit.ly/37iQVey

Related Articles

Leave a Comment