อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานในปริมาณมาก และก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการเผาไหม้ โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าว การหาแนวทางมาใช้ในการดำเนินธุรกิจใช้เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์จากอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สู่การเป็นธุรกิจที่ช่วยรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน (ESG)
โดยปัจจุบันผู้ประกอบการ SME ธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลกได้หันมาให้ความสำคัญกับปัญหาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นสัดส่วนมากที่สุดของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมา เมื่อเราใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งที่บ้าน รถยนต์ โรงงาน โรงไฟฟ้า และกระบวนการผลิตซีเมนต์ ตลอดจนการเผาไหม้ในกิจกรรมต่างๆ
ดังนั้น จึงมีการคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) ซึ่งที่ผ่านมาหลายคนคงเริ่มได้ยินบ่อยครั้งขึ้น จนกลายเป็นเทรนด์ของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักที่มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณมากจากกระบวนการผลิต ได้เริ่มนำเทคโนโลยี CCUS เพื่อกักเก็บคาร์บอนและต่อยอดนำไปใช้ในการผลิตสินค้าต่างๆ มาแล้วในต่างประเทศ
กรณีศึกษา Holcim บริษัทผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างในสวิสเซอร์แลนด์ ร่วมมือกับ Eni บริษัทด้านพลังงานของอิตาลี ในการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต กลับมาใช้ใหม่ในการผลิตซีเมนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไว้ใน ‘แร่โอลิวีน (Olivine)’ ซึ่งเป็นหนึ่งในแร่ธาตุที่พบได้บ่อยที่สุดในโลก โดยล่าสุดยังมีการวิจัยและค้นคว้าเพื่อใช้แร่โอลิวีนที่ผ่านกระบวนการแล้ว (Carbonated Olivine) มาเป็นวัตถุดิบชนิดใหม่ที่ใช้ในกระบวนการรผลิตซีเมนต์อีกด้วย
จากแนวทางดังกล่าวทำให้เห็นว่าโซลูชันจากเทคโนโลยี CCUS สามารถนำไปขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นอย่างดีในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากซีเมนต์หรือวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งคล้องกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ที่อุตสาหกรรมในวงการก่อสร้างทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างกระบวนการคัดเลือกโรงงานที่เกี่ยวข้องในยุโรป เพื่อดำเนินโครงการนำร่องในระดับอุตสาหกรรม ให้กลายเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มสู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ ในการลดคาร์บอนจากกระบวนการผลิตและขยายไปสู่ประเภทผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน (ESG) อื่นๆ อีกต่อไปในอนาคต
ไทยหนุนใช้ปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการบูรณาการโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและภาคเอกชน รวม 24 หน่วยงาน ประกาศ ‘MISSION 2023’ ผนึกกำลังมุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ภายในปี 2566 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ มาตรการทดแทนปูนเม็ด
เป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความตระหนักถึงประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้ความสำคัญต่อการยกระดับอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (Sustainability) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาแบบองค์รวม ตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อสร้างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG)
รวมทั้ง มีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมในการปรับตัวรับกับมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการจัดการพลังงานและของเสียในภาคอุตสาหกรรม
สำหรับโครงการดังกล่าวกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายจากมติคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ในการจัดทำ ‘แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564 – 2573 สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม’
โดยได้กำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก ในปี 2573 รวมทั้งสิ้น 2.25 ล้านตัน CO2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามที่ได้แจ้งเจตจำนงการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) ภายใต้ความตกลงที่ร้อยละ 20 – 25 ซึ่งมาตรการทดแทนปูนเม็ด เป็นหนึ่งในมาตรการหลักภายใต้แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว
ย้อนไปเเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 กรอ. ยังได้ร่วมมือกับอีก 15 กับหน่วยงานจากทั้งภาครัฐและเอกชน ลงนามบันทึกความเข้าใจการบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ : มาตรการทดแทนปูนเม็ด จำนวน 300,000 ตัน CO2 ภายในปี 2565 ซึ่งภาคีร่วมดำเนินการสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว เมื่อสิ้นปี 2564 ที่ผ่านมา
สำหรับการประกาศเป้าหมายใหม่ ในการร่วมขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ มีความสำคัญและจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่จะช่วยให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ โดยใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะช่วยสนับสนุนภารกิจในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ ยังถือเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่ร้อยละ 40 ภายในปี 2573 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
‘ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก’ ลดโลกร้อน
ปัจจุบัน เทรนด์โลกได้เปลี่ยนมาใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจก อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ทั่วโลกจึงมุ่งยกระดับให้ตลอดกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์สามารถมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจก
ดังนั้น อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยจึงทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ‘ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก’ ซึ่งมีกำลังอัดสูงสามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างโครงสร้างประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสูง ถนน พื้นทาง สะพาน หรืออุโมงค์ เช่นเดียวกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และสามารถช่วยลดภาวะก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และวงการก่อสร้างในอนาคต
โดยกระบวนการผลิต ‘ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก’ นั้นนับว่ามีส่วนช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการผลิตปูนซีเมนต์แบบเดิมที่มีการใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างมาอย่างยาวนาน เพราะได้ลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต โดยการลดปริมาณการใช้ปูนเม็ดลงแล้วใช้วัสดุทดแทน ตามที่มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กำหนด (ส่วนผสมปูนเม็ด 83% วัสดุทดแทน 10% และวัสดุอื่น 7%) จากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์สูตรปกติ (ส่วนผสมปูนเม็ด 93% วัสดุอื่น 7%)
ซึ่งการลดปริมาณปูนเม็ดลงแล้วใช้วัสดุทดแทนจะทำให้การใช้พลังงานในการผลิตต่ำลงไปด้วย เนื่องจากปูนเม็ดจะใช้พลังงานในการผลิตสูงทั้งในส่วนของการเผาไหม้และการบด ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเยอะมาก (ปกติจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาประมาณ 800 kg-CO2 ต่อตันปูนเม็ด)
ทั้งนี้ ก่อนจะเป็นปูนซีเมนต์ทุกชนิด ต้องผ่านขั้นตอนการได้มาของปูนเม็ดก่อน (วัตถุดิบที่นำมาผลิตปูนเม็ดจะมาจากธรรมชาติ คือ หินปูน, ดินดาน, ดินเหนียว และศิลาแลงหรือแร่เหล็ก) โดยในประเทศไทยนั้นหินปูนถือเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้มากที่สุดในกระบวนการผลิตปูนเม็ด โดยนำมาย่อยหยาบเพื่อให้ได้ขนาดตามต้องการ ก่อนจะถูกส่งไปสู่กระบวนการเผาตามขั้นตอนการผลิตเพื่อให้ได้ปูนเม็ด
สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 1 ตัน จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.05 ตัน CO2 หากผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจำนวน 20 ล้านตัน จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 1 ล้านตัน CO2 ต่อปี จึงถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยลดภาวะก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ และก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และวงการก่อสร้างในอนาคต สอดคล้องกับเทรนด์รักษ์โลกที่หลายภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างดี
ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในงานโครงการทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การใช้ปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเป็นเรื่องที่ภาคการก่อสร้างสามารถช่วยโลกได้ เพราะนอกจากจะมีประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อมและในด้านของความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังสอดคล้องกับแผนดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยปี 2564 – 2573 และตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: https://www.lifeelevated.club
Facebook: https://www.facebook.com/lifeelevatedclub
Twitter: https://twitter.com/lifeelevatedCLB
Instagram: http://instagram.com/lifeelevatedclub
Line OA: https://lin.ee/fBBFzWx
Blockdit: https://www.blockdit.com/lifeelevatedclub
Youtube: https://www.youtube.com/lifeelevatedclub
Pinterest: https://www.pinterest.com/lifeelevatedclub/
Blog สสส.: https://www.thaihealth.or.th/blog/allblog/1285/Life+Elevated+Club/