Home Body ควรรับมือเช่นไร? เมื่อฉันเป็น “โรคไบโพลาร์”

ควรรับมือเช่นไร? เมื่อฉันเป็น “โรคไบโพลาร์”

by Lifeelevated Admin1

“โรคไบโพลาร์” (Bipolar Disorder) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว คือโรคความผิดปกติทางอารมณ์แบบหนึ่งที่เกิดจากสารเคมีในสมองไม่สมดุล ทำให้ผู้ป่วยเกิดการแสดงออกของอารมณ์ที่ผิดปกติเป็นสองขั้วคือซึมเศร้ามาก และคึกคักพุ่งพล่านมาก จึงเรียกโรคโบโพลาร์ว่า “โรคอารมณ์สองขั้ว” ไม่ใช่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวสนุกเดี๋ยวซึม อย่างที่หลายๆ คนชอบเข้าใจกัน

 

โรคไบโพลาร์สังเกตได้อย่างไร

ผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์มักจะไม่รู้ตัวเองในช่วงที่เป็น เพราะอาการของไบโพลาร์มี 2 ระยะ คือ

– ระยะพุ่งพล่านหรือที่เรียกว่า มาเนีย (Manic Episode) มีอาการคิดเร็ว ทำเร็ว มั่นใจในตัวเอง นอนน้อย เพราะอยากออกไปทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย อารมณ์พุ่งพล่าน ใช้เงินเยอะ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยและคนรอบข้างเข้าใจว่าเป็นแค่นิสัยไฮเปอร์ ไม่ได้ผิดปกติหรืออะไร และอาจเป็นแบบนี้อยู่นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน

– แต่หลังจากนั้น อาการจะกลับตาลปัตรเข้าสู่ระยะซึมเศร้า (Depressive Episode) ทีนี้ล่ะ ผู้ป่วยจะเป็นตรงข้ามกับระยะมาเนียทุกอย่าง คือท้อแท้เบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร เบื่ออาหารหรือกินมากกว่าปกติ รู้สึกตัวเองไร้ค่า สิ้นหวัง อ่อนเพลีย อยากฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเอง และอาจเป็นอาการซึมเศร้าอยู่นานติดต่อกันเป็นเดือน แล้วจึงกลับไปคึกคักเหมือนช่วงมาเนียอีกครั้ง

ดังนั้นเมื่อไหร่ที่สังเกตตัวเอง หรือคนรอบข้างมีอาการแบบนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ก่อนที่อาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะในระยะพุ่งพล่านอาจก่อหนี้สินมากมายจากการใช้เงินแบบไม่ยั้ง ลงทุนฟุ่มเฟือย สะเปะสะปะ และหาเรื่องทะเลาะวิวาทกับคนอื่น และในช่วงซึมเศร้าอาจรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตนเองหรือมีความคิดฆ่าตัวตายได้

 

สาเหตุของโรคไบโพลาร์

มีสาเหตุ และปัจจัยเกี่ยวข้องหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคนี้ แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือมีสารเคมีบางอย่างในสมองผิดปกติไป ซึ่งอาการของโรคไบโพลาร์จะเกิดขึ้นเมื่อมีสารสื่อประสาทนอร์อะดรีนาลีน เซโรโทนิน และโดปามีน ในระดับที่ไม่สมดุลกัน ซึ่งจะทำให้มีอารมณ์ดี อยู่ในภาวะร่าเริงผิดปกติ และจะมีภาวะซึมเศร้า เบื่อหน่าย สลับกันไป นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากพันธุกรรม ผู้ป่วยไบโพลาร์มักมีญาติที่ป่วยเป็นโรคนี้หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางอารมณ์ โดยเฉพาะญาติสายตรง อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ป่วยได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกที่กระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจ เช่น ความผิดหวัง ความเสียใจอย่างรุนแรงหรือฉับพลัน การเจ็บป่วยทางร่างกาย เป็นต้น

 

“โรคไบโพลาร์” รักษาถูกทาง ก็หายได้

เนื่องจากนี่เป็นโรคที่เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ การรักษาไบโพล่าร์หลักๆ จึงจำเป็นต้องได้รับยาโดยแพทย์จะให้ทานยาเพื่อปรับอารมณ์ให้คงที่ขึ้นอยู่กับชนิดของไบโพล่าร์ที่ผู้ป่วยเป็น แต่สิ่งสำคัญที่ควรทำควบคู่กันเพื่อผลดีในระยะยาวคือการทำจิตบำบัด หรือกิจกรรมบำบัด เพราะจิตแพทย์จะสามารถค้นหาว่าอะไรคือสาเหตุที่ผู้ป่วยเกิดโรคไบโพล่าร์นอกเหนือจากกรรมพันธุ์ และจิตแพทย์ยังสามารถแนะนำวิธีดูแลผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์ให้กับครอบครัวหรือคนใกล้ชิดในการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ และที่สำคัญที่สุดคือการทานยารักษาอย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาเอง หรือลดยาโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้โรครุนแรงกว่าเดิม และต้องเริ่มกระบวนการรักษาใหม่ตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยที่รู้ตัวว่าป่วยควรหันมาดูแลตัวเอง ห้ามอดนอน ควบคุมเวลานอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง พยายามหาวิธีแก้ปัญหา ลดความเครียด และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ ห้ามใช้สารเสพติด สุรา ร่วมด้วย

 

สิ่งที่คนใกล้ชิดต้องเข้าใจและทำให้ได้

ญาติมีบทบาทสำคัญในการดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตามแผนการรักษาเพราะผู้ป่วยทางจิตมักไม่รู้ตัวเอง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือคนรอบข้างที่รู้และเข้าใจ มีวิธีรับมือที่ช่วยบรรเทาอาการและผลร้ายที่เกิดขึ้น สิ่งที่คนใกล้ชิดผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ต้องทำก็คือ

– คอยดูแลให้ผู้ป่วยทานยาตามที่แพทย์สั่ง และห้ามหยุดยาเอง

– เข้าใจในพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทั้งในช่วงมาเนียและซึมเศร้าว่านี่คือการเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัยที่ไม่ดี

– คอยควบคุมกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำในช่วงมาเนีย ควบคุมการใช้จ่ายเงิน หรือลุกมาทำกิจกรรมอะไรที่เสี่ยงอันตราย และคอยดูแลจิตใจผู้ป่วยในช่วงซึมเศร้า ให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจ ไม่ท้อแท้สิ้นหวัง

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @lifeelevatedCLB

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevatedclub

Blockdit: Lifeelevatedclub

Youtube: Life Elevated Club

Pinterest: @Lifeelevatedclub

Blog สสส.: Life Elevated Club

 

Related Articles

Leave a Comment