Home Mind เพราะทุกความรัก..ล้วน “เท่าเทียมกัน”

เพราะทุกความรัก..ล้วน “เท่าเทียมกัน”

by Lifeelevated Admin2

เรื่องเพศเป็นเรื่องของทุกคน

ปัจจุบันสังคมไทยให้ความสำคัญในเรื่องความเสมอภาคระหว่างหญิงชายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการยอมรับหลักการในเรื่องการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และโดยส่วนใหญ่ยอมรับว่าสังคมประกอบด้วยบุคคลที่มีรสนิยมทางเพศหรือเพศวิถีที่หลากหลาย หรือเพศสภาพ และมีคู่ชีวิตเพศเดียวกันจำนวนมากที่ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัว

ขณะที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายยังมิได้รับรองให้บุคคลเหล่านี้สามารถทำการจดทะเบียนสมรสกันได้ เป็นเหตุให้ต้องเสียสิทธิตามกฎหมายหลายประการเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับบทบัญญัติที่ได้รับรองสิทธิของคู่สมรสต่างเพศ ดังนั้นการที่กฎหมายไม่รับรองสถานภาพการสมรสของบุคคลรักเพศเดียวกัน จึงมีหลายฝ่ายมีความเห็นว่าเป็นการขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

ในหลายประเทศทั่วโลก ประเด็นการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน (หรือการรับรองความสัมพันธ์) กลายเป็นประเด็นสำคัญที่บ่งชี้ถึงความเท่าเทียมทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนสำหรับเลสเบี้ยน เกย์ และบุคคลข้ามเพศ เป็นข้อเรียกร้องที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายอันแสดงถึงภาพพจน์เชิงบวกของคู่ครองเพศเดียวกัน

พ.ร.บ. คู่ชีวิต” สำคัญไฉน

เจษฎา แต้สมบัติ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า “จากการลงพื้นที่พูดคุยเรื่องชีวิตคู่กับกลุ่ม LGBT ทั่วประเทศ พบว่า ระยะเวลาความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกันอยู่แค่ไม่เกิน 3-5 ปีเท่านั้น สังคมจึงมองว่าคนกลุ่มนี้คบกันไม่ยืด แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อไม่มีกฎหมายที่รองรับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน พวกเขาไม่สามารถเดินขึ้นอำเภอไปจดทะเบียนสมรสได้ จึงเป็นเรื่องยากลำบากมากในการสร้างครอบครัวที่มั่นคง ไม่มีสิทธิ์ทำธุรกรรมทางการเงิน ทำประกันชีวิต เบิกค่าสวัสดิการรักษาพยาบาล ขอบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง แจ้งความแทนกันไม่ได้ ตัดสินใจเรื่องรักษาพยาบาลแทนกันไม่ได้ ไม่สามารถจัดการเรื่องศพกรณีคู่รักเสียชีวิต รวมถึงไม่สามารถจัดการมรดกทรัพย์สินที่มีร่วมกันได้”

เพราะคำว่า “รัก” คงยังไม่พอ

สำหรับการใช้ชีวิตคู่ของคู่รัก LGBT มีความกังวลในเรื่องความมั่นคงของชีวิตในอนาคต เนื่องจากไม่สามารถมีภาระผูกพันทางกฎหมาย แม้กระทั่งเรื่องฉุกเฉินเกี่ยวกับการรักษาทางการแพทย์ก็ไม่มีสิทธิ์ดูแลกัน ไม่สามารถเซ็นอนุญาต ซึ่งหากเกิดเป็นอะไรร้ายแรงหรือฉุกเฉินก็เป็นข้อจำกัดที่อาจส่งผลต่อการเสียชีวิตได้

สิ่งที่กลุ่ม LGBT คาดหวังสำหรับการครองคู่อย่างเป็นสุขก็คือ สิทธิในการทำธุรกรรม การเซ็นยินยอมต่างๆ ให้แก่กัน เช่น การรับการรักษาพยาบาล สิทธิในการจัดการทรัพย์สินมรดก การลดหย่อนภาษี เป็นต้น แต่ก็ยังขาดสิทธิสำคัญอีกหลายประการ เช่น สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมหรือสิทธิของคู่สมรสเดิม หรือกระทั่งบุตรที่เกิดจากการอาศัยนวัตกรรมทางการแพทย์ การเปลี่ยนคำนำหน้านาม หรือการเปลี่ยนนามสกุล รวมถึงสิทธิในการทำประกันชีวิตที่ไม่แตกต่างจากเพศชาย-หญิง ทั่วไป

ไม่ว่าใครก็ควรได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี

นอกจาก “ไทย” แล้ว ยังมีอีก 29 ประเทศ “เพศเดียวกัน” สามารถแต่งงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย

  1. ในปี 2001 ประเทศเนเธอร์แลนด์คือประเทศแรกที่ให้สิทธิ์ในการแต่งงานของเพศเดียวกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
  2. ประเทศเบลเยียมให้สิทธิ์เท่าเทียมกันเรื่องการแต่งงานของเพศเดียวกันในปี 2003
  3. ปี 2005 รัฐสภาแคนาดาลงมติผ่านร่างกฎหมายที่ทำให้การแต่งงานเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกต้อง
  4. ปี 2005 รัฐสภาสเปนก็ผ่านร่างกฎหมายนี้เช่นกัน
  5. รัฐสภาแอฟริกาใต้อนุมัติการแต่งงานของเพศเดียวกันให้ถูกต้องตามกฎหมายในปี 2006
  6. ในปี 1993 ประเทศนอร์เวย์อนุญาตให้คู่รักเกย์เข้าร่วมสหภาพแรงงานได้ แต่กว่าจะได้รับการอนุมัติเรื่องการสมรสอย่างถูกกฎหมายก็ล่วงเลยมาจนปี 2008
  7. ปี 2009 สวีเดนลงมติเห็นชอบให้ลงนามรับรองการแต่งงานเพศเดียวกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
  8. รัฐสภาของไอซ์แลนด์ลงมติเป็นเอกฉันท์เรื่องการแต่งงานเพศเดียวกันในถูกต้องตามกฎหมายในปี 2010
  9. โปรตุเกสอนุมัติเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกันในปี 2010 หลังจากกฎหมายถูกคัดค้านจากประธานาธิบดี
  10. ปี 2010 อาร์เจนตินาเป็นประเทศแรกในละตินอเมริกาที่อนุญาตการแต่งงานเพศเดียวกัน
  11. ในปี 2012 สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก มีพระบรมราชานุญาตเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว
  12. ประเทศอุรุกวัยผ่านร่างกฎหมายอนุมัติการแต่งงานเพศเดียวกันในปี 2013
  13. ปี 2013 นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกในแถบเอเชียแปซิฟิกในการได้สิทธิ์แต่งงานเพศเดียวกัน
  14. อดีตประธานาธิบดีฟร็องซัว ออล็องด์ ลงนามกฎหมายการสมรสเพศเดียวกันของฝรั่งเศส ในปี 2013
  15. ในปี 2013 สภานิติบัญญัติแห่งชาติของบราซิลตัดสินว่าคู่รักเพศเดียวกันไม่ควรถูกปฏิเสธใบอนุญาตสมรส
  16. อังกฤษและเวลส์ เป็นสองประเทศในสหราชอาณาจักร ที่อนุมัติความเสมอภาคการสมรสในปี 2014
  17. สกอตแลนด์ได้รับคะแนนโหวตขาดลอยสำหรับกฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกันในปี 2014
  18. ประเทศลักเซมเบิร์กได้คะแนนโหวตอย่างท่วมท้นในการอนุญาตคู่รักเกย์และเลสเบี้ยนแต่งงาน ทั้งยังสามารถรับอุปถัมภ์เด็กได้ มีผลบังคับใช้ในปี 2015
  19. ประเทศฟินแลนด์อนุมัติกฎหมายความเสมอภาคในการสมรสในปี 2014
  20. ไอร์แลนด์เป็นประเทศแรกในปี 2015 ที่รับรองกฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกัน
  21. กรีนแลนด์ เกาะใหญ่ที่สุดในโลก อนุมัติร่างกฎหมายการสมรสเพศเดียวกันในปี 2015
  22. ศาลสูงสหรัฐฯ ได้ทำกฎหมายการแต่งงานของรัฐบาลกลางให้มีความเท่าเทียมกันในปี 2015
  23. โคลอมเบียเป็นประเทศที่ 4 ในละตินอเมริกาที่ได้รับอนุมัติการแต่งงานเพศเดียวกันในปี 2016
  24. ในปี 2017 เยอรมนีกลายเป็นประเทศที่ 15 ในยุโรป ที่อนุญาตกฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกัน
  25. ต้นปี 2017 รัฐสภาประเทศมอลตาเห็นชอบให้มีการสมรสกับเพศเดียวกัน
  26. ประเทศออสเตรเลีย กฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันผ่านการลงมติในปี 2560 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ม.ค. 2018
  27. ไต้หวัน เป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่สภาผ่านกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2019
  28. ถัดมาในวันที่ 12 มิ.ย. เอกวาดอร์ เป็นประเทศลำดับ 28 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การรับรองกฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ
  29. คอสตาริกา เป็นประเทศที่ 29 ที่มีกฎหมายรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันออกมาแล้วเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563

เข้าใจ…ทุกรูปแบบความรัก

ทุกอย่างที่ก่อตัวขึ้นเป็นความรักล้วนสวยงามทั้งนั้น ได้โปรดอย่าให้ “เพศ” เป็นตัวแบ่งแยกทำให้แตกต่าง

ฉันรักเธอ” ให้ทุกคนได้เอ่ยคำนี้อย่างเต็มภาคภูมิ

.

.

อ้างอิง :

https://www.thaipost.net/main/detail/70849

https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/12know/k132.pdf

https://kyotoreview.org/issue-18/same-sex-relationships-vietnam-thailand-th/

https://www.posttoday.com/politic/report/373912

https://www.krungthai-axa.co.th/en/lgbt

https://www.scholarship.in.th/25-legalizing-same-sex-wed-around-the-world/

https://www.thansettakij.com/content/441517

Related Articles

Leave a Comment