ปัจจุบันเราอยู่ในยุค “ไร้สาย”
อีกนัยหนึ่งคือ เรามีชีวิตอยู่ท่ามกลาง “แบตเตอรี่” สารพัดที่ช่วยให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานได้ โดยไม่ต้อง “เสียบปลั๊ก”
ชีวิตที่สะดวกขึ้นก็มาพร้อมปัญหาคลาสสิก เราจะทำยังไงให้ “แบตเตอรี่” อายุยืนยาวที่สุด
“แล็บท็อป” ดูจะเป็นสิ่งที่ “เป็นปัญหา” ที่สุด เพราะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินพลังงานมาก ใช้ไม่นานถ้าไม่ชาร์จ แบตฯ ก็หมด และเวลาใช หลายคนก็จะนั่งใช้ไปชาร์จไปเป็นปกติ ผิดกับ “มือถือ” ที่ปกติคนจะชาร์จก่อนนอน เพื่อจะใช้ทั้งวัน ยกเว้นว่าวันไหนลืมชาร์จหรือแบตฯ เสื่อมจริงๆ ถึงจะชาร์จไปเล่นไป
คำถามคือ การใช้ระหว่างชาร์จจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วหรือไม่?
ก่อนจะตอบคำถามนี้ ต้องเข้าใจพื้นฐานของแบตเตอรี่กันก่อน
- แบตเตอรี่มีหลายแบบ และแต่ละแบบก็ดูแลแตกต่างกัน
แต่ถ้าพูดถึงแบตเตอรี่ในแล็บท็อปและสมาร์ทโฟน ส่วนใหญ่จะใช้แบตเตอรี่แบบ “ลิเธียมไอออน” เหมือนกันดังนั้น จะพูดถึงแบตเตอรี่แบบนี้เป็นหลัก แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนจะมีธรรมชาติเหมือนกันคือ ไม่สามารถ “โอเวอร์ชาร์จ” ได้ ถ้าแบตเต็ม 100% แล้วชาร์จต่อ ผลคือไฟจะไม่เข้าแบตเตอรี่ แต่จะเข้าไปที่อุปกรณ์โดยตรง ซึ่งหมายความว่า ถ้าแบตฯ เต็มแล้ว แต่ยังคงชาร์จไปใช้ไป การใช้แบบนี้จะไม่ได้ทำให้แบตเตอรี่เสื่อม
ดังนั้น เรื่องแบตฯ เต็มแล้วชาร์จต่อ ไม่ต้องซีเรียส
- แล้วอะไรทำให้แบตฯ เสื่อม?
ปัจจัยจริงๆ ที่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมง่ายและเร็ว และหลายคนไม่รู้ คือ “ความร้อน” ของตัวเครื่อง หากเครื่องยิ่งร้อน แบตฯ จะยิ่งเสื่อมเร็ว ดังนั้น เราจะสังเกตได้ว่าสมาร์ทโฟนที่เล่นเกมเยอะๆ แบตเตอรี่จะเสื่อมเร็วมาก หรือการใช้แล็บท็อปแบบที่ไม่มีกลไกในการลดอุณหภูมิ ก็จะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วเช่นกัน ในทางกลับกัน การใช้วิธีที่ช่วยให้เครื่องร้อนน้อยที่สุด ตั้งแต่เปิดระบบรักษาแบตเตอรี่จนถึงการติดพัดลมเป่า ไม่ใช่แค่ทำให้เครื่องทำงานได้อย่างราบรื่นเท่านั้น แต่ยังช่วยยืดอายุแบตเตอรี่อีกด้วย
ทั้งนี้ ในกรณีของแล็บท็อป ถ้าเป็นรุ่นที่ถอดแบตเตอรี่ออกได้ จะมีคำแนะนำเลยว่า ถ้าจะนั่งทำงาน ก็ถอดแบตเตอรี่ออกเลยจะดีที่สุด เพราะแบตเตอรี่ไม่ต้องเจอกับความร้อน และเป็นการยืดอายุการใช้งานออกไปอีก
- ปัญหา “การชาร์จ”
แน่นอน เราคงเคยได้ยินว่า อย่าใช้งานให้แบตเตอรี่ลดลงจนเหลือ 0% เด็ดขาด เรื่องนี้ถูกต้อง และเวลาชาร์จ ก็ให้ชาร์จเต็ม 100% เรื่องนี้ไม่ถูกซะทีเดียว โดยมีงานวิจัยชี้ว่า ถ้าจะใช้แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนให้อายุยืนที่สุด แบตเตอรี่ต้องมีไฟอยู่ระหว่าง 30-80% พูดง่ายๆ คือถ้าแบตฯ ลดลงมา 30% กว่าๆ ก็ให้ชาร์จ แต่ชาร์จไม่ควรจะเต็ม ควรจะไปหยุดที่ 80% เพราะงานวิจัยระบุว่า ถ้าทำแบบนี้ เราจะชาร์จได้ประมาณ 1,000-2,000 รอบ ในขณะที่ถ้าชาร์จเต็ม 100% จะชาร์จได้เพียง 300-500 รอบเท่านั้น
นี่เป็นเรื่องจริงกับ “สมาร์ทโฟน” เช่นเดียวกับที่เป็นเรื่องจริงกับ “แล็บท็อป” เพราะแบตเตอรี่เป็นชนิดเดียวกัน
แต่สำหรับสมาร์ทโฟน เรื่อง “แบตฯ ไม่เต็ม” ตอนออกจากบ้านไม่ใช่สิ่งที่สมเหตุสมผล เพราะถ้าแบตฯ หมดระหว่างวัน ก็คงจะไม่ใช่เรื่องดีในทางปฏิบัติ คนส่วนใหญ่จึงชาร์จเต็ม 100% แม้ว่านั่นจะไม่ใช่แนวทางที่จะทำให้แบตเตอรี่อายุยืนที่สุด
แต่สำหรับแล็บท็อป การชาร์จให้แบตเตอรี่อยู่ที่ 30-80% เป็นแนวทางที่ทำได้ ยิ่งบวกกับการ “ถอดแบตฯ ออก” เวลานั่งทำงานแล้ว จะยิ่งช่วยยืดอายุแบตฯ ให้นานขึ้น
ในทางปฏิบัติคือ การชาร์จแบตเตอรี่ไปประมาณ 80% แล้วดึงออก จากนั้นให้เสียบปลั๊กใช้งาน แล้วค่อยนำแบตฯ มาใส่เครื่องตอนที่ไม่มีปลั๊กให้เสียบ แล้วใช้ไปจนแบตฯ ลดเหลือประมาณ 30% ก็ค่อยชาร์จต่อ
- แนวทางยืดอายุแบตฯ ไม่สัมพันธ์กับชีวิตจริง
เพราะในชีวิตจริง คงไม่มีใครทำได้ตามนี้เท่าไร และหลายๆ คนก็คงจะใช้แบตเตอรี่แบบที่เคยชินคือชาร์จให้เต็ม 100% บ่อยที่สุด เท่าที่เป็นไปได้ และหากทำแบบนั้นจริง วิธีนี้ก็แทบจะทำลายวัตถุประสงค์พื้นฐานในการ “อำนวยความสะดวก” ไปเลย
ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น แนวทางปฏิบัติที่ว่าก็คงจะไม่น่าใช้เท่าไหร่?
ดังนั้น ถ้าเราทำตามแนวทางยืดอายุแบตเตอรี่ที่ว่าไม่ได้ สิ่งที่ต้องยอมรับก็คืออาจต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่เร็วกว่าปกติเท่านั้นเอง
อ้างอิง
https://www.sanook.com/hitech/1403349/
https://tech.mthai.com/tips-technic/44030.html