ความท้าทายสำหรับประชากรโลก เมื่อผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า การผลิตอาหารจากปศุสัตว์ และประมง กำลังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
รายงานการประเมินประจำปีของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ได้สร้างกระแสกการอภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวงกว้าง โดย IPCC เชื่อว่า หากไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับมหัพภาคให้ทันท่วงที การจำกัดอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หรือแม้แต่ 2 องศาเซลเซียส จะเป็นไปไม่ได้เลย การผลิตอาหารจากสัตว์
การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างของสภาพภูมิอากาศไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายพันปี และการเปลี่ยนแปลงบางอย่างสร้างผลกระทบที่ไม่อาจแก้ไข่ได้ ผานเหมา ไจ่ ประธานร่วมของคณะกรรมการ IPCC กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาคบนโลกแล้วในหลายๆ ด้าน และการเปลี่ยนแปลงก็มีแต่จะเกิดบ่อยขึ้นพร้อมกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น”
เนื้อหาบางส่วนในรายงานชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้น ฤดูร้อนยาวนานขึ้น และฤดูหนาวสั้นลง ฝนตกอย่างหนักและเกิดอุทกภัย ในขณะที่หลายๆ ภูมิภาคจะประสบภัยแล้งรุนแรง ในรายงานได้เตือนถึงระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิของนำทะเลจะสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในมหาสมุทร การกลายเป็นกรดของน้ำทะเล และระดับออกซิเจนที่ลดลง
ปศุสัตว์มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร
โดยการทำปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ 3 ชนิด คือ
- ก๊าซมีเทน (Methane, CH4) แหล่งผลิตก๊าซมีเทนจากสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ การหมักย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งจะปล่อยออกมาทางลมหายใจและการเรอ รวมถึงมูลสัตว์ที่ถูกเก็บไว้ในโรงเรือนและกลางแจ้ง ทั้งในรูปแบบของเหลวและของแข็ง ซึ่งก๊าซเรือนกระจกชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 21 เท่า
- ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide, N2O) แหล่งผลิตก๊าซไนตรัสออกไซด์จากสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในแปลงพืชอาหารสัตว์ และเกิดจากมูลและปัสสาวะของสัตว์ ซึ่งก๊าซเรือนกระจกชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 310 เท่า
- ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide, CO2) แหล่งผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ การหายใจของสัตว์ การขยายพื้นที่สำหรับทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตอาหารสัตว์ การแปรรูป และการขนส่ง ซึ่งก๊าซเรือนกระจกชนิดนี้ถูกปล่อยออกมาในปริมาณค่อนข้างต่ำ
การทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมนอกจากเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญของโลกในขณะนี้แล้วนั้น ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ อีกมากมาย เช่น
– การตัดไม้ทำลายป่า เพื่อใช้พื้นที่ในการทำฟาร์ม และปลูกพืชอาหารเลี้ยงสัตว์
– สิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์กำลังสูญพันธุ์ ทำให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
– การทำลายผิวดิน เนื่องจากมีการใช้ปุ๋ยเคมี และสารกำจัดศัตรูพืชในแปลงอาหารสัตว์
– สิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำ เนื่องจากการทำปศุสัตว์มีกระบวนที่ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก
โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด โจเซฟ พูร์ และโทมัส เนเมเซ็ค ได้เผยแพร่รายงานในปี 2018 ซึ่งสรุปว่า การผลิตอาหารมีส่วนรับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึงร้อยละ 26 โดยมีสัดส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 13.5 ล้านตัน
การปศุสัตว์และการประมงเป็นกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันร้อยละ 31 โดยกิจกรรมการปศุสัตว์ได้นับรวมทั้งการเลี้ยงสัตว์เพื่อเอาเนื้อ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากสัตว์ เช่น นม ไข่ และอาหารทะเลในบ่อเลี้ยง โดยตัวเลขที่คำนวนออกมานี้เกิดจากการคำนวนการปล่อยก๊าซมีเทนในฟาร์มปศุสัตว์ และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอุตสาหกรรมประมง
นอกจากนี้รายงานของพูร์และเนมเซ็คอธิบายว่า เนื้อวัวที่ผลิตได้แต่ละกิโลกรัมปล่อยก๊าซเรือนกระจก 60 กิโลกรัม ชีสหนึ่งกิโลกรัมปล่อยก๊าซเรือนกระจก 21 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับการผลิตเต้าหู้ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนจากพืชในน้ำหนักที่เท่ากันแล้ว การผลิตเนื้อวัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเต้าหู้ 20 เท่า ส่วนชีสปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเต้าหู้ 7 เท่า การผลิตนมวัว 1 กิโลกรัมปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 2.8 กิโลกรัม ในขณะที่นมถั่วเหลืองปริมาณเท่ากันปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น โดยข้อมูลที่ใช้ถูกอ้างอิงมาจากฟาร์มปศุสัตว์ทั้งหมด 38,700 ฟาร์มใน 119 ประเทศ และผลิตภัณฑ์บริโภค 40 ผลิตภัณฑ์ที่นับว่าเป็นร้อยละ 90 ของแหล่งโปรตีนและแคลอรีทั่วโลก
หากเป็นไปได้ การลดการผลิตและบริโภคอาหารที่ทำจากสัตว์จะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้อย่างมาก ก๊าซมีเทนยังเป็นหนึ่งในข้อกังวลหลักซึ่งระบุไว้ในรายงานของ IPCC เนื่องจากมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลและภาคปศุสัตว์ นอกจากนี้ ก๊าซมีเทนยังส่งผลกระทบในระยะยาวมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า
อาหารที่เรากินปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากแค่ไหน
– 1 ใน 4 ของก๊าซเรือนกระจกมาจากอาหาร (26%)
– มากกว่าครึ่งของก๊าซเรือนกระจกจากอาหารที่เรากินมาจากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ (58%)
– 50% ของก๊าซเรือนกระจกที่มาจากฟาร์มสัตว์ เป็นฟาร์มที่ผลิตเนื้อวัวและเนื้อแกะ
5 เทรนด์ลดน้ำหนักแบบคนดังที่ควรหลีกเลี่ยง
อาหารที่คุณบริโภคส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน?
องค์กรคอมแพชชั่น อิน เวิลด์ฟาร์มมิ่ง ซึ่งเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่า การลดการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นสิ่งจำเป็นหากต้องการลดปัญหาด้านสภาวะภูมิอากาศให้ได้ตามเป้า อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศอย่างจีน การกินเนื้อวัวกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีความพยายามจากรัฐบาลจีนในการส่งเสริมให้กินอาหารพื้นถิ่น
รายงานของสหประชาชาติ ยังกระตุ้นให้หยุดการบริโภคอาหารแล้วเหลือทิ้ง ทั้งในขั้นก่อนและหลังที่จะขายให้กับผู้บริโภค ตัวอย่างของการลดการเกิดอาหารที่ไม่ถูกบริโภค อาจนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ หรืออาหารตามร้านค้าที่ขายไม่หมดควรบริจาคให้กับผู้คนที่จำเป็น เช่น ที่สวิตเซอร์แลนด์มีองค์กรที่นำอาหารจากร้านค้าต่าง ๆ ที่ขายไม่หมดและกำลังจะถูกทิ้ง นำไปส่งต่อให้กับครอบครัวในท้องถิ่น วิธีการเหล่านี้จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเกิดจากกระบวนการผลิตอาหาร
มาตรการ EU – สหรัฐฯ ตัวเร่งปรับตัว
ดร.พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักประเมินและรับรองโครงการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อธิบายว่า เหตุผลที่ภาคเกษตรและปศุสัตว์ต้องปรับตัวเพื่อรองรับกระแสโลกร้อน คือ มาตรการใหม่ๆ ที่ออกมาค่อนข้างให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็น CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU) โดยเริ่มการรายงานปี 2566 และเริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบบในปี 2569 แม้ขณะนี้จะยังไม่รวมผลิตภัณฑ์ภาคเกษตรแต่ต้องมีการเตรียมพร้อม รวมถึง ภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Tax) ของสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะเริ่มใช้ในปี 2567 โดยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน และจะมีการพิจารณาภาคเกษตรในการก่อสร้างอีกด้วยด้วย
ขณะเดียวกัน Farm to Fork Strategy ของ EU ตั้งเป้าหมายลดการใช้ยาฆ่าแมลงและวัชพืช รวมทั้งยาต้านจุลชีพในสัตว์ลง 50% ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 20% และเพิ่มฟาร์มออร์แกนิกให้มีสัดส่วนคิดเป็น 25% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในยุโรป ในปี 2573 ส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารที่ยั่งยืน และ พัฒนาฉลาก Eco-Score ของฝรั่งเศส และเยอรมนี เริ่มในปี 2564 โดยให้ระดับคะแนนดัชนีด้านสิ่งแวดล้อมของสินค้า
“ในการประชุม Cop26 ซึ่งมุ่งเน้นการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา กว่า 81 ประเทศ ประกาศเป้าหมาย Net Zero และ อีกกว่า 60 ประเทศอยู่ระหว่างพิจารณาเป้าหมายดังกล่าว ขณะที่ไทยตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2608 การที่ไทยเป็นผู้ส่งออกที่สำคัญ และมีความเปราะบางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากอุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นจะส่งผลต่อผลผลิต ดังนั้น จึงต้องพยายามปรับตัวและมีส่วนร่วมในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบทั่วโลก” ดร.พฤฒิภา กล่าว
แนวทางกรมปศุสัตว์ สู่ “เกษตร” อาหารยั่งยืน
น.สพ.รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์กรมปศุสัตว์ กล่าวถึง บทบาทและแนวทางของกรมปศุสัตว์ในการส่งเสริมปศุสัตว์สีเขียว โดยระบุว่า กรอบในการบริหารจัดการห่วงโซ่ผลิตภาคการเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจ เป็นการปรับเปลี่ยนตลอดห่วงโซ่ ทั้งในด้านโภชนาการ ลดการใช้สารเคมีในการผลิต สวัสดิภาพสัตว์ การตลาด การคิดฉลากสินค้า ปรับปรุงระเบียบเกี่ยวกับสารเสริมในอาหารสัตว์ โดยกำหนดเกณฑ์การอนุญาตใช้ Feed additive ที่เป็นผลผลดีต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการออกแบบฉลากต่างๆ
บทบาทและแนวทางของกรมปศุสัตว์ ครอบคลุมตั้งแต่ “อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์” ที่ต้องได้คุณภาพมาตรฐาน นำวัตถุดิบมาใช้ประโยชน์สูงสุด ลดขยะ และระบบฐานข้อมูลของซัพพลายเออร์ ขณะเดียวกัน
“วัตถุดิบอาหารสัตว์” ต้องลดการตัดไม้ทำลายป่า การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ลดการใช้สารเคมี เกษตรอินทรีย์
ส่วนการทำ “ฟาร์ม” มีการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (GAP) ลดการตัดไม้ทำลายป่า สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม ใช้พลังงานทดแทน สวัสดิภาพสัตว์ การใช้ยาต้านจุลชีพ และลดการใช้เคมี
ขณะเดียวกัน “ตลาด” ในเรื่องของฉลากสินค้า การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และ “โรงฆ่าหรือโรงผลิตแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์” ตรวจสอบสัตว์ก่อนฆ่า ไปจนถึงการจัดการซาก
(ร่าง) โรดแมป ปศุสัตว์สีเขียว
Step 1 (2565) ตั้งคณะทำงาน ปศุสัตว์สีเขียว ระหว่างภาครัฐ เอกชนและเกษตรกรร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทาง
Step 2 (2565-2567) นำร่อง วัตถุดิบอาหารสัตว์ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าว ได้มาตรฐาน GAP และ นำร่องโรงงานผลิตอาหารสัตว์จัดทำโครงการ “ปศุสัตว์สีเขียว”
Step 3 (2567-2569) ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ (ฟาร์ม) โรงฆ่า และอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์
Final (2570) ปศุสัตว์สีเขียว ฉลากสามารถ การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตั้งแต่วัตถุดิบ การเพราะปลูก เลี้ยงสัตว์ แปรรูป ผลิต จำหน่าย จนถึงผู้บริโภค
ทั้งนี้ คาดว่าช่วงแรกจะเริ่มในส่วนของ ข้าวโพด มันสำปะหลัง และข้าว หรือโรงงานผลิตอาหารสัตว์จะนำร่องอย่างไร สุดท้ายจะขยายไปยังฟาร์ม โรงฆ่า และตลาด ต้องมีความร่วมมือทั้งเกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และผู้บริโภค เพื่อเป้าหมาย ให้ได้ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกิดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศ และประเทศคู่ค้า ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้น สู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ลดการทำลายทรัพยากรโลก
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @lifeelevatedCLB
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @Lifeelevatedclub
Blockdit: Lifeelevatedclub
Youtube: Life Elevated Club
Pinterest: @Lifeelevatedclub
Blog สสส.: Life Elevated Club