ทริกรับมือปัญหา Mental Health เผชิญโควิดไม่ป่วยใจ
การระบาดของ COVID-19 ทุกคนล้วนมีความเครียด ความกังวลใจ สุขภาพจิต (Mental Health) ลองมาดูสักนิดว่า เราจะช่วยกันรับมือ ดูแลจิตใจ และผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้อย่างไร กับการจัดการความเครียดเพื่อรับมือ COVID-19 อย่างถูกวิธีที่จิตแพทย์อยากแนะนำ
ความรู้สึกกังวลที่เกิดขึ้นเป็นกลไกธรรมชาติของมนุษย์ในการเผชิญวิกฤติ
ความเครียดเป็นกลไกโดยธรรมชาติที่ช่วยให้มนุษย์เตรียมตัว วางแผน และรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ามีใครสักคนที่ไม่รู้สึกเครียด ไม่กลัวติดเชื้อ ไม่สนใจว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ไม่ฟังการประกาศจากรัฐบาล กลุ่มนี้ถือว่าผิดปกติและอาจนำพาไปสู่ความเสี่ยงมากมายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ดังนั้นการที่รู้สึกเครียด กังวล กลัว ตื่นตระหนกนั้นถูกต้องแล้ว และควรจะเป็นแบบนั้นเพื่อที่ทุกคนจะได้ขวนขวายหาความรู้ หาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ มีการวางแผน และเตรียมการอย่างถูกวิธี
สถานการณ์ COVID-19 แนะนำให้สังเกตอาการเหล่านี้
– อารมณ์เปลี่ยนแปลง แปรปรวน
– กลัว เครียด กังวล
– เบื่อ เฉยชา
– หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย
– นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท
– ฝันร้ายต่อเนื่องเรื้อรัง
– พฤติกรรมการกินผิดปกติ บางรายกินไม่ลง บางรายกินมากผิดปกติ
– รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่สดชื่น เฉื่อยชาลง
– ลดกิจกรรมลงอย่างชัดเจน เบื่อ ไม่อยากทำอะไร
– สมาธิจดจ่อไม่ดี หลงๆ ลืมๆ ทำงานบกพร่อง
– สูญเสียการตัดสินใจ
– บางคนดื่มแอลกอฮอล์หนักขึ้น หรืออาจมีการสูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติดมากขึ้น
– ผู้ป่วยที่มีโรคทางกาย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ ในระยะนี้อาการอาจกำเริบแปรปรวน เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ปวดตามตัวหรือมีผื่นขึ้น ตื่นตระหนก ฯลฯ
– เริ่มรู้สึกท้อแท้หมดหวัง รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่
สิ่งสำคัญคือ คนจำนวนมากไม่ตระหนักว่ามีความผิดปกติด้านอารมณ์ เมื่อไม่รู้ตัวก็ไม่ได้จัดการอย่างถูกต้อง จนอาจส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงาน สมาธิไม่ดี ทำงานบกพร่องหรืออารมณ์แปรปรวนจนมีปัญหาความสัมพันธ์ ทั้งเรื่องส่วนตัวและกับเพื่อนร่วมงาน ความเครียดสะสมยังอาจนำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาดนำชีวิตดิ่งลงได้โดยง่าย
COVID-19 ทำให้เครียดระดับสูง สาเหตุที่พบบ่อยเมื่อผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์
- กลัวการติดเชื้อ อาจเกิดความรู้สึกหวาดระแวงคนรอบข้าง คนใกล้ตัว แม้แต่คนที่ดูปกติที่สุด แข็งแรงร่าเริงดีก็สามารถกลายเป็นผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการและแพร่เชื้อได้โดยง่ายดาย ต้องระแวงแม้แต่ตัวเอง พอมีอาการไอแห้ง ๆ คัดจมูกก็เริ่มวิตกจริตไม่แน่ใจว่าไปรับเชื้อมาแล้วหรือเปล่า หรือจะต้องไปตรวจหาเชื้อหรือไม่
- สถานการณ์เปลี่ยนแปลงรายวัน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น นโยบายรัฐบาลปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เกือบทุกวัน วันนี้อาจไปทำงานปกติ วันรุ่งขึ้นที่ทำงานอาจถูกปิด ในกรณีที่บางคนติดตั้งแอปพลิเคชันติดตามข่าวทุก 1 ชั่วโมง หรือมีเสียงเตือนทุกครั้งที่มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น อาจทำให้มีอาการตื่นตระหนกมากเกินไป
- กังวลกับทุกเรื่อง นอกจากกลัวติดเชื้อ COVID-19 ยังมีความกังวลในเรื่องต่าง ๆ เช่น ตกงาน ปิดโรงงาน หยุดสายการบิน ปรับลดจำนวนพนักงาน ปิดโรงเรียน เป็นต้น ทำให้เกิดความกังวลในการใช้ชีวิต ความเครียดจากการติดตามข่าวรายวันอาจสะสมเป็นขยะโดยที่เราไม่รู้ตัว
- ไม่รู้ว่าสถานการณ์นี้จะจบลงเมื่อไร สิ่งที่ทำให้ทุกคนเครียดมากที่สุดคือ การที่เราไม่มีทางรู้ได้ว่า สถานการณ์นี้จะเนิ่นนานอีกสักเท่าไร บางคนพยากรณ์ว่าการระบาดจะยาวนานถึงปีหน้า เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบอีกยาว ปัจจุบันไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เหตุการณ์จะแย่ลงอีกหรือไม่ เราเดินทางมาถึงจุดสูงสุดของการระบาดหรือยัง แม้จะร่วมมือกับนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม ปฏิบัติตามรายงานของภาครัฐอย่างเคร่งครัด การแพร่ระบาดก็น่าจะยังไม่ยุติในระยะเวลาอันใกล้
ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต (Mental Health) อยู่เดิม อาการอาจกำเริบรุนแรง
ก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 มีผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะเครียด องค์การอนามัยโลกได้มีรายงานเมื่อต้นปี 2020 ว่า ทั่วโลกมีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 264 ล้านคน โดยประเทศไทยพบอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากปี 2560 คือ 4.94 ต่อประชากรแสนคน เป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคนในปี 2561 นอกจากนี้ยังมีโรควิตกกังวล ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีรายงานผู้ป่วยวิตกกังวลโดย The Anxiety and Depression Association of America สูงถึง 18.1% ของประชากร หรือประมาณ 40 ล้านคน และยังไม่นับรวมผู้ที่มีปัญหาติดแอลกอฮอล์ จึงเป็นที่แน่นอนว่า เมื่อเกิดวิกฤติ COVID-19 เข้ามา ผู้ป่วยเหล่านี้อาจมีอาการกำเริบหรือแย่ลง แม้ยังได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นหากคุณหรือคนใกล้ชิดเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยอยู่ก่อน ช่วงนี้ควรพบจิตแพทย์เพื่อประเมินและรักษาอย่างเหมาะสม หรือหากมีนัดสม่ำเสมอก็ไม่ควรหยุดพบแพทย์ เพราะอาจนำไปสู่อาการรุนแรง และเป็นอันตรายได้ ซึ่งปัจจุบันมีการให้บริการการรักษาทางไกล (E – Mental Health) ทำให้สะดวกมากขึ้น
รับมือกับสถานการณ์ COVID-19 อย่างเข้าใจ
- อย่าทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ความเครียดระยะยาวอาจทำให้เกิดภาวะท้อถอย หมดหวัง นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ง่าย เช่น การทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตาย การลาออกจากงาน การย้ายที่อยู่ การขายบ้าน การหย่าขาดจากคู่สมรส การตัดสินใจผิดพลาดทางธุรกิจ การทะเลาะกับคนใกล้ชิด การกระทบกระทั่งกันในหมู่เพื่อนในระหว่างที่เราเผชิญกับความเครียด เป็นต้น อารมณ์ที่ไม่เป็นปกติ ทำให้มีโอกาสตัดสินใจทำสิ่งใด ๆ โดยไม่รอบคอบ คำแนะนำเบื้องต้นคือ ระหว่างนี้ไม่ควรมีการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น เพียงประคับประคองให้ผ่านสถานการณ์แต่ละวัน รักษาตัวให้ดี ระวังอย่าให้ติดเชื้อ COVID-19
- ติดตามข่าวสารเท่าที่จำเป็น อาจเช็กข่าวสักวันละครั้งก็เพียงพอ เลือกรับข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เช่น ประกาศของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ลดการเสพโซเชียลมีเดีย ระมัดระวังข่าวปลอม
- ปฏิบัติตามคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด การเว้นระยะห่างทางสังคม กินร้อนช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัส
- ตรวจสอบอาการทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของตัวเองสม่ำเสมอ เฝ้าระวังอาการซึมเศร้า การนอนที่ผิดปกติ การดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น หากมีอาการเหล่านี้จนถึงขั้นกระทบศักยภาพ หน้าที่การงาน หรือความสัมพันธ์ ควรพบแพทย์โดยเร็ว
- ใช้ชีวิตอย่างปกติและมีคุณค่า แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เราก็จำเป็นต้องดำเนินชีวิตให้เป็นปกติ แม้จะต้องหยุดงานกักตัวอยู่บ้าน 14 วันก็สามารถจัดการกิจวัตรแต่ละวันให้มีสุขภาพดีได้ อย่ามัวแต่จดจ่ออยู่กับข่าวจนป่วยทั้งใจและกาย
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @lifeelevatedCLB
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @lifeelevatedclub
Blockdit: Lifeelevatedclub
Youtube: Life Elevated Club