Home Technology รู้ทันกลโกงซื้อ – ขายออนไลน์ยอดนิยม ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

รู้ทันกลโกงซื้อ – ขายออนไลน์ยอดนิยม ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

by Lifeelevated Admin1

จากกรณีการเกิดเป็นกระแสร้อนแรงบนโลกออนไลน์ไม่นานมานี้เกี่ยวกับประเด็น ‘การโดนโกงจากการซื้อ – ขายสินค้าออนไลน์’ ซึ่งบางกรณีพบว่ามีผู้เสียหายจำนวนมากนั้น เพื่อการไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพเหล่านี้ Life Elevated จึงขอนำกลโกงเจ้าประจำที่ถูกใช้บ่อยๆ มาให้ได้ทราบ เพื่อให้คุณรู้ทันไม่ตกเป็นเหยื่อ

 

  1. หลอกโอนเงิน ไม่มีสินค้าส่งจริง

จากสถิติร้องเรียนมายังรับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212) พบว่า ปัญหาการสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้ามาเป็นอันดับ 1 ถึง 45% ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อ ควรตั้งข้อสังเกตในเรื่องการตั้งราคาที่ถูกเกินจริง เช็กข้อมูลชื่อผู้ขาย เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคารของผู้ขายจากเว็บไซต์ https://www.blacklistseller.com/ ว่าอยู่ในบัญชีดำคนโกงหรือไม่ รวมถึงลองนำชื่อร้านไปค้นหาบนแพลตฟอร์ม e-Commerce เช่น ช้อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada)

 

  1. สินค้าไม่ตรงปก

จริงอยู่ว่าอาจมีขาช้อปหลายคนอ่านรายละเอียดก่อนสั่งซื้อสินค้าไม่ครบถ้วน แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่อ่านรายละเอียดทั้งรูปภาพและข้อความดีแล้ว แต่สินค้าที่ส่งมากลับไม่ตรงปก ผิดสี ผิดขนาด ไม่ได้อย่างที่ตกลงกัน รวมถึงติดต่อร้านเพื่อแจ้งเปลี่ยนก็ทำไม่ได้ ซึ่งปัญหานี้มีการร้องเรียนถึง 29% ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับสินค้า แนะนำให้ถ่ายรูปและถ่ายวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับร้องเรียนได้

 

  1. ซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม

แม้จะชอบอุดหนุนสินค้าแบรนด์เนม ก็อาจพลาดโดนผู้ค้าหัวใสบนโลกออนไลน์ได้ โดยมักจะโพสต์รูปสินค้าแบรนด์เนมแท้ขายบนช่องทางออนไลน์ หลอกลูกค้าว่าได้ของแท้ แต่สุดท้ายกลับได้สินค้าผิดกฎหมายหรือสินค้าปลอม ดังนั้นแนะนำให้พิจารณาข้อมูลร้านค้าอย่างถี่ถ้วน ตรวจสอบรหัสสินค้า ใบรับประกันสินค้า ตรวจสอบบัญชีธนาคารก่อนโอน หรือติดต่อซื้อขายที่ร้านค้าทางการ (Official) จะดีกว่า

 

  1. นักรับหิ้วของเชิดเงิน

การรับหิ้วของ หรือการมองหาคนมารับหิ้ว โดยยอมเสียเงินจ้างเพิ่มเล็กน้อยทดแทนการเสียค่ารถออกจากบ้านและความเสี่ยงเข้าไปในย่านชุมชนในยุคโควิด 19 เป็นเรื่องที่ควรระวัง เพราะจะเชื่อใจผู้มาสวมบทรับหิ้วได้อย่างไร ตรวจสอบประวัติให้ดี เลี่ยงการจ้างวานผู้ที่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวมารับหิ้วให้ หรือสั่งจากร้านโดยตรงจะดีกว่า

 

  1. หลอกเซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย

บางครั้งเหล่ามิจฉาชีพก็มากันเป็นทีม และใช้ความฮิตเรื่องการซื้อของออนไลน์ที่กลายเป็นวิถีปกติของคนยุคโควิด 19 มาลวงเหยื่อถึงหน้าบ้าน ล่าสุดทางไปรษณีย์ไทยออกจดหมายแจ้งเตือน ระวังมิจฉาชีพหลอกเป็นผู้คนส่งของ แล้วให้เซ็นรับพัสดุที่อาจเป็นสิ่งของผิดกฎหมาย พร้อมจัดฉากเป็นตำรวจปลอมเข้าตรวจ ดังนั้นเมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้ แนะนำให้ตั้งสติ แล้วตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่ได้สั่งของ และห้ามรับสิ่งของที่ไม่ได้สั่งเด็ดขาด

 

  1. ได้รับของชำรุด – เสียหาย

การซื้อสินค้าออนไลน์อาจถือเป็นความเสี่ยง หากเราไม่ได้ป้องกันความเสี่ยง เช่น สินค้าที่ได้รับชำรุด เสียหาย สาเหตุมาจากต้นทางคือร้านค้า หรือระหว่างทางจากระบบการขนส่ง ดังนั้น แนะนำให้ตรวจสอบกับทางร้านค้าก่อนเป็นอันดับแรก อาจจะให้ร้านค้าช่วยถ่ายรูปส่งมาให้ดู เช็กประวัติการเดินทางของสินค้า หากเสี่ยงต่อการแตกหัก ทางร้านค้ามีการรับประกันความเสียหายแค่ไหน – อย่างไร รวมทั้งเสิร์ชหาข้อมูลการรีวิวการขนส่งสินค้าของร้าน ตลอดจนเช็กบริษัทขนส่งว่ามีการรับประกันความเสียหายหรือไม่

 

  1. หลอกซื้อลอตเตอรีออนไลน์

สำหรับผู้ชื่นชอบการซื้อลอตเตอรีเสี่ยงดวง ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มซื้อขายลอตเตอรี่ออนไลน์ถูกกฎหมาย แต่การเสี่ยงดวงก็มาพร้อมความเสี่ยงของกลโกงที่มาในรูปแบบตัวแทนขายเช่นกัน ซึ่งในกรณีถ้าเราถูกลอตเตอรีออนไลน์ ตัวแทนจะเป็นผู้ติดต่อบริษัทซื้อขายใหญ่ เพื่อแจ้งข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล เลขที่บัญชีธนาคาร เพื่อให้บริษัทจัดการโอนเงินเข้าบัญชีให้ แต่ก็อาจเจอตัวแทนโกง ใส่เลขที่บัญชีตนเองแล้วเชิดเงินหนีได้เช่นกัน ดังนั้นควรตรวจสอบข้อมูลตัวแทนที่เชื่อถือได้จริง แหล่งซื้อขายลอตเตอรีออนไลน์ รวมถึงตรวจเช็กเลขบนลอตเตอรีให้ถี่ถ้วน

 

  1. โปรไฟล์หลอกเช่าพระบูชา

ในวงการคนชอบพระ ก็พบกับปัญหาโดนหลอกลวงจากการซื้อขายออนไลน์ เช่น โอนเงินเร็วแล้วร้านค้าหนีหาย มิจฉาชีพใช้รูปโปรไฟล์ปลอมมาหลอกให้ซื้อ ดังนั้นการซื้อขายในยุคดิจิทัลแบบนี้ ควรใช้เครื่องมือให้เป็นประโยชน์โดยขอวิดีโอคอลล์กับคนขายเพื่อดูพระ

 

  1. หลอกขายแบบผ่อนชำระทางออนไลน์

การซื้อขายแบบผ่อนชำระทางออนไลน์ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าขนาดใหญ่หรือราคาสูง ซึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่โดนเชิดเงิน ชวดได้รับสินค้า ซึ่งกรณีเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยเช่นกัน ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อขายแบบผ่อนชำระทางออนไลน์ จึงควรพิจารณาเอกสารสัญญาซื้อขายที่แจ้งรายละเอียดชัดเจน หรือถ้าซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ควรเลือกร้านที่เป็นทางการ (Official) ดูรีวิวผู้ซื้อต่างๆ พร้อมตรวจสอบข้อมูลร้านและบัญชีผู้ขาย

 

  1. หลอกขายต้นไม้ไม่ตรงปก

วงการต้นไม้ที่กำลังร้อนแรง โดยเฉพาะไม้มงคลและไม้ประดับภายในบ้านในยุค Work From Home การโกงผ่านซื้อ – ขายออนไลน์ก็มีเช่นกัน ถ้าซื้อต้นไม้ราคาถูก แนะนำให้ซื้อขายแบบนัดรับกับทางร้านจะดีกว่า และเลี่ยงการโอนเงินมัดจำก่อน สิ่งที่แนะนำคือควรเลือกร้านขายที่โพสต์รูปต้นไม้พร้อมมีป้ายระบุชื่อต้นไม้ หรือร้านที่เจ้าของร้านถ่ายภาพคู่ต้นไม้ ซึ่งจะช่วยยืนยันเบื้องต้นได้ว่า ร้านและเจ้าของร้านนี้มีอยู่จริง นอกจากนี้ควรขอวิดีโอคอลเพื่อตรวจสอบต้นไม้ว่าตรงปกหรือไม่ และก่อนโอนชำระเงินแนะให้เจ้าของร้านถ่ายรูปคู่กับต้นไม้ โดยถือบัตรประชาชนหรือกระดาษที่เขียนเลขที่บัญชีธนาคารมาให้ดูอีกครั้ง

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

.

.

#LifeElevated #ซื้อขายออนไลน์ #ออนไลน์

.

.

อ้างอิง :  ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ ‘1212 OCC’

Related Articles

Leave a Comment