Home Technology อียูแก้วิกฤต E-waste มือถือทุกยี่ห้อใช้หัวชาร์จเหมือนกันปี 67

อียูแก้วิกฤต E-waste มือถือทุกยี่ห้อใช้หัวชาร์จเหมือนกันปี 67

by Lifeelevated Admin1

ด้วยความหลากหลายของเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเหตุให้การบริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง และกระจายไปสู่ประชากรทุกชนชั้น ทั้งโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์รุ่นใหม่ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ประกอบกับการก้าวกระโดดของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้การล้าสมัยของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายชนิดเป็นไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ก่อนกลายเป็นขยะในที่สุด

โดยข้อมูลในปี 2562 พบว่า ทั่วโลกมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 53.6 ล้านตัน โดยเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 21 ในเวลาเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้นตั้งแต่ปี 2557 ในขณะที่ Global e-Waste Monitor 2020 ของมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ คาดการณ์ว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นไปหนึ่งเท่าตัวภายในปี 2573 และจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ทั้งอันตรายโดยตรงต่อบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับขยะและโดยอ้อมจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายประเทศได้ประกาศห้ามนำเข้าขยะเหล่านี้

ด้วยเหตุนี้ สหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้นำเสนอร่างแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับอุปกรณ์วิทยุ (Radio Equipment Directive) โดยกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีหันมาใช้หัวชาร์จไฟชนิด USB-C เป็นมาตรฐานสากลของยุโรป สำหรับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ได้แก่ แท็บเล็ต หูฟัง ลำโพงพกพา และอุปกรณ์เสริมสำหรับวิดีโอเกมต่างๆ

โดยมีข้อยกเว้นสำหรับเครื่องอ่านหนังสือ (E-readers) และแท่นชาร์จแบบไร้สาย (wireless charger) เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานแก่ผู้บริโภคและลดปริมาณขยะ รวมทั้งต้องออกแบบเครื่องชาร์จแบตเตอรีที่ใช้ระบบชาร์จเร็ว (Fast charge) ให้สามารถใช้งานร่วมกันกับแบรนด์อื่นๆ ได้

โดยยังมียังห้ามการขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พ่วงสายชาร์จ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้ที่ชาร์จไฟของเดิมที่มีอยู่เมื่อซื้อโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตเครื่องใหม่ได้ ซึ่งจะช่วยลดการสูญเปล่าของทรัพยากรและลดปริมาณขยะ E-waste ที่ไม่จำเป็น

นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานของสายชาร์จ เช่น ปริมาณการจ่ายไฟ หรือเทคโนโลยีการชาร์จไฟ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสายชาร์จที่เหมาะสมกับเครื่องสมาร์ทโฟนของตน ซึ่งภายใต้นโยบายทั้งหมดนี้ อียูคาดว่าจะช่วยผู้บริโภคประหยัดเงินได้ถึงปีละ 250 ล้านยูโร

ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัท Apple ที่ปัจจุบันใช้หัวชาร์จแบบไลต์นิ่ง (Lightning connector) สําหรับ iPhone ในขณะที่บริษัทคู่แข่งอย่าง Samsung หรือ Huawei ได้เริ่มใช้หัวชาร์จไฟแบบ USB-C กับสมาร์ทโฟน Android รุ่นใหม่แล้ว โดยหลังจากที่มีการประกาศร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา Apple ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่าเงื่อนไขใหม่นี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภค

คาดการณ์ว่าการปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้จะได้รับความสนับสนุนอย่างมากจากสมาชิกรัฐสภายุโรปและคณะมนตรียุโรป เพื่อให้มีผลบังคับภายใน 2 ปี (ปี 2567) หลังร่างกฎหมายผ่านการเห็นชอบในระดับอียูซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีหน้า

 

‘ขยะร้าย’ มีค่า ถ้ารู้จักแยกทิ้ง

เพราะซากเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ บางชิ้นส่วนสามารถทำการถอดแยกเพื่อนำไปสกัดแยกโลหะมีค่า เป็นการเพิ่มรายได้ เช่น มีรายงานว่าญี่ปุ่นสามารถสกัดแยกทองคำ 1 กิโลกรัมได้จากโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 แสนเครื่อง ชิ้นส่วนตัวต้านทานในวงจรคอมพิวเตอร์ สามารถสกัดแยกทองคำและพาลาเดียมได้อย่างละประมาณ 50-100 กรัมต่อซากเครื่องใช้ไฟฟ้าหนัก 1 ตัน รวมทั้งยังได้ทองแดงอีก 200 กิโลกรัม

นอกจากนี้ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีส่วนประกอบของโลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ พาลาเดียม และทองแดง แม้ประเทศไทยเองจะมีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่สามารถรีไซเคิลและสกัดแยกโลหะมีค่าเหล่านี้ออกจากซากอุปกรณ์เหล่านี้ได้ก็ตาม แต่การเตรียมพร้อมด้วยการแยกขยะอันตายเหล่านี้ออกจากขยะมูลฝอยทั่วไปก็เป็นการเตรียมตัวอย่างแรกที่ควรทำ เพื่อรอเทคโนโลยีในการจัดการขยะให้เหมาะสมต่อไป

 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ลดได้ ถ้าเราช่วยกัน

คิดก่อนซื้อ : เลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่ออายุการใช้งานที่คงทน

ใช้ให้คุ้ม : ดูแลรักษาให้ดีตามคำแนะนำ

ซ่อมแซมเมื่อเสื่อมสภาพ : แน่นอนว่าอุปกรณ์หลายๆ อย่างราคาไม่แพง และการทิ้งแล้วซื้อใหม่ก็ง่ายกว่าซ่อมแซมมาก แต่นั่นเป็นการผลักภาระขยะมลพิษให้กับโลก ทางที่ดีควรศึกษาปัญหาแล้วหาวิธีซ่อมแซมจะดีกว่า โดยวิธีซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ก็หาได้ง่ายๆ ในยูทูป เป็นการลดทั้งภาระค่าใช้จ่ายและภาระของโลก

ส่งต่อประโยชน์ : บริจาคอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่าสภาพดีที่ไม่ต้องการแล้วให้คนที่ต้องการ

ไม่ทิ้งรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป : เพราะขยะอันตรายเหล่านี้หากรั่วไหลลงสู่พื้นดินและแหล่งน้ำจะกลายเป็นสารพิษที่น่ากลัว นอกจากนี้ยังเป็นอันตรายต่อคนที่เก็บไปจัดการต่อโดยไม่มีความรู้เพียงพออีกด้วย

วิกฤต E-waste มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องตระหนักในความรุนแรงของปัญหานี้ และมีส่วนร่วมแก้ไขอย่างถูกวิธี

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

.

.

#LifeElevated #Ewaste #ขยะอิเล็กทรอนิกส์ #อียู #มือถือ #หัวชาร์จ

.

.

อ้างอิง :

https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_21_4613

https://thaieurope.net/

https://www.pmdu.go.th/electronic-waste/

https://web.facebook.com/watch/?v=284146839498006&t=3

Related Articles

Leave a Comment