UN Water หรือองค์การน้ำแห่งสหประชาชาติ เผยว่า ภายในปี 2025 ประชากรโลกราว 2 พันล้านคนอาจต้องเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง และด้วยสภาพภูมิประเทศ – สภาพภูมิอากาศของสเปนที่เป็นที่ราบสูง ค่อนข้างแห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝนกระจายไม่ทั่วถึง แดนกระทิงดุจึงเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นแรงผลักดันให้สเปนต้องให้ความสนใจอย่างจริงจังกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ประเทศมีน้ำสำหรับบริโภคอุปโภคได้ตลอดทั้งปี เพียงพอสำหรับความต้องการของประชากร 47 ล้านคน
ตามรายงาน España es agua 2020 (Spain is water) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศของสเปน (ICEX) ระบุว่า สเปนเป็นประเทศที่มีการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำมากเป็นอันดับ 1 ของสหภาพยุโรปและอันดับ 2 ของโลก โดยร้อยละ 90 ของพื้นที่ที่มีการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำจะอยู่ในแคว้นบาเลนเซีย แคว้นมูร์เซีย แคว้นอันดาลูเซีย หมู่เกาะคานารี และหมู่เกาะบาเลียแอริก รวมถึงเมืองใหญ่อย่างกรุงมาดริดและนครบาร์เซโลนา โดยแคว้นบาเลนเซียเป็นพื้นที่ที่มีการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำมากที่สุด (158 ลูกบาศก์เฮกโตเมตร ในปี 2015)
โดยลักษณะของการใช้ประโยชน์จากน้ำที่นำมาใช้ใหม่ของสเปนมีหลากหลาย ทั้งการใช้รดน้ำเพื่อการเกษตร (มากกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณน้ำใช้ซ้ำทั้งหมด) กิจกรรมสันทนาการ (เช่น รดน้ำสนามกอล์ฟ) การใช้ประโยชน์ในเขตเมือง (รดน้ำพื้นที่สีเขียว ทำความสะอาดท้องถนน) และใช้ประโยชน์อุตสาหกรรม
นอกจากนี้สเปนยังมีการใช้ ‘เทคโนโลยี’ นำน้ำกลับมาใช้ซ้ำด้วย
สเปนมีสถานีบำบัดน้ำเสีย (Estación Depuradoras de Aguas Residuales – EDAR) จำนวน 2,125 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งร้อยละ 27 เป็นสถานีบำบัดน้ำเสียที่ติดตั้งเทคโนโลยีสำหรับกระบวนการบำบัดน้ำขั้นสูง (advanced treatment หรือ tertiary treatment) ทั้งนี้ สถานีบำบัดน้ำเสียที่ใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ในแคว้นมาดริดชื่อ EDAR Sur ของบริษัท Canal de Isabel II ซึ่งรัฐวิสาหกิจด้านการจัดการน้ำของรัฐบาลสเปน โดยสถานีบำบัดน้ำเสียแห่งนี้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1983 และสามารถจัดการน้ำเสียได้ถึง 80 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี รองรับน้ำเสียจากประชากรเกือบ 3 ล้านคนจากกรุงมาดริดและอีกหลายพื้นที่ในแคว้นมาดริด โดย EDAR Sur ดำเนินงานโดยใช้หลักการ 3R (Reduce, Reuse และ Recycle) ประกอบด้วย การลดสารปนเปื้อนจากน้ำเสีย การผลิตน้ำขึ้นมาใหม่ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกากตะกอนและน้ำเสียเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อนเชื้อเพลิง ปุ๋ยและปุ๋ยหมัก แบบครบวงจร
โดยหนึ่งในเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียเพื่อการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในสเปนคือ ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยเมมเบรน (Membrane Bioreactor – MBR) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการใช้จุลินทรีย์เพื่อกำจัดของเสียที่ละลายในน้ำ และการกรองผ่านเยื่อเมมเบรนที่มีลักษณะเป็นรูขนาดเล็กเพื่อแยกของเสียที่เป็นตะกอนออกจากน้ำเสีย
ซึ่งข้อดีของเทคโนโลยีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับการบำบัดน้ำเสียแบบทั่วไปคือ เป็นการช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ใสสะอาดกว่าเดิม เหมาะสมกับพื้นที่บำบัดที่มีขนาดจำกัด และสามารถขจัดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการตกตะกอน กักเชื้อโรคส่วนใหญ่ไม่ให้ออกสู่สาธารณะได้ดีกว่า
ธุรกิจการบำบัดน้ำเสียของบริษัทสเปนในต่างประเทศ
ด้วยเทคโนโลยีด้านการบำบัดน้ำเสียที่ก้าวหน้าดังกล่าว ทำให้สเปนเป็นประเทศผู้นำด้านการก่อสร้างสถานีบำบัดน้ำเสีย โดยภาคเอกชนของสเปนเข้าไปลงทุน/ดำเนินธุรกิจในสร้างโรงบำบัดน้ำเสียในหลายประเทศ เช่น
เม็กซิโก : บริษัท ACCIONA Agua จากสเปน มีส่วนในการก่อสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสีย Atotonilco ซึ่งเป็นโรงงานบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (world’s largest single-phase wastewater treatment plant) รองรับอัตราการไหล (flow rate) เฉลี่ยที่ 151,200 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง และความต้องการของประชากร 10.5 ล้านคน โดยเป็นผลงานของการออกแบบ ก่อสร้างและปฏิบัติการโดย Valley of Mexico Water Treatment Consortium (ATVM) จุดเด่นของโรงงานบำบัดน้ำเสียแห่งนี้ คือ ระบบโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งมีการใช้ก๊าซชีวภาพในการผลิตพลังงานเพื่อใช้ในโรงงาน
อียิปต์ : โรงงานบำบัดน้ำเสีย New Cairo รองรับอัตราการไหลเฉลี่ยที่ 250,000 ลูกบาศก์เมตร/วันและความต้องการของประชากรได้มากกว่า 1 ล้านคน ก่อสร้างโดยบริษัท Aqualia ของสเปน (ร้อยละ 50) และบริษัท ORASCOM ของอียิปต์ (ร้อยละ 50) ได้รับยกย่องให้เป็นโครงการ PPP แรกที่ประสบความสำเร็จในอียิปต์
ในส่วนของความร่วมมือกับประเทศไทย ภาครัฐและเอกชนสเปนได้เข้ามาขยายตลาดการบำบัดน้ำร่วมกับภาคเอกชนไทย ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีหลายบริษัทที่ประสบความสำเร็จ เช่น บริษัท Fluidra ที่ได้ดำเนินโครงการออกแบบและสร้างระบบน้ำสำหรับสวนน้ำการ์ตูนเน็ตเวิร์ค อเมโซน พัทยา และสร้างสระว่ายน้ำให้กับฟิตเนส Virgin Active ที่กรุงเทพฯ
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @_lifeelevated_
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @Lifeelevated
Blockdit: Life Elevated
.
.
.
.
อ้างอิง : Business Information Center in Spain