Home Body วัคซีนโควิด 19 ชนิด “mRNA” กับ 4 ประเด็นน่ารู้

วัคซีนโควิด 19 ชนิด “mRNA” กับ 4 ประเด็นน่ารู้

by Lifeelevated Admin2

ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนสำหรับจัดการกับไวรัสโควิด 19 มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนที่พัฒนามาจากเชื้อตาย (inactivated vaccine) วัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์ (viral vector vaccine) วัคซีนชนิดชิ้นส่วนโปรตีน (protein subunit vaccine) และวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA vaccine) ซึ่งกำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในปัจจุบันว่าอาจสู้กับสายพันธุ์เดลตาได้ Life Elevated จึงขอนำ 4 ประเด็นที่น่าสนใจมาให้ได้ทราบ

  1. 1. วัคซีน mRNA กระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิดได้อย่างไร?

mRNA เป็นสารพันธุกรรมชนิดหนึ่งในสิ่งมีชีวิตรวมถึงไวรัสด้วย แนวคิดของการพัฒนาวัคซีนด้วย mRNA คือ เมื่อนำส่งสารพันธุกรรมชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ร่างกายจะมีการสร้างโปรตีนหนาม (Spike Protein) ซึ่งเป็นโปรตีนส่วนที่จะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด 19 ต่อไป

แต่สารพันธุกรรมนี้มีความคงตัวต่ำ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย จะสลายตัวได้อย่างรวดเร็วโดยเอนไซม์ไรโบนิวคลีเอส (Ribonucleases, RNase) และอาจไม่คงตัวในเซลล์เนื่องจากกลไกการปกป้องของเซลล์เจ้าบ้าน จึงไม่สามารถนำส่ง mRNA เข้าสู่ร่างกายโดยตรง

เป็นที่มาของการพัฒนาระบบนำส่งสารพันธุกรรมชนิด mRNA นั่นคือ การใช้อนุภาคนาโนชนิดไขมัน (lipid nanoparticles, LNP) ซึ่งวัคซีนสำหรับการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ชนิด mRNA ที่มีการใช้ในปัจจุบันและรู้จักกันคือ Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine และ Moderna COVID-19 vaccine วัคซีนของทั้ง 2 บริษัทนี้ใช้ระบบอนุภาคนาโนชนิดไขมันเพื่อเพิ่มความคงตัวของ mRNA และสามารถนำส่ง mRNA เข้าสู่ร่างกาย แล้วเกิดการกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยอนุภาคนาโนชนิดไขมัน (Lipid Nanoparticles) คือส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยไม่ต้องอาศัยสารเสริมฤทธิ์ (Adjuvant) อื่นเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วัคซีน mRNA กระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นได้ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น

  1. 2. องค์ประกอบของวัคซีน mRNA

mRNA COVID-19 vaccine ของทั้ง 2 บริษัท มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน ได้แก่ mRNA ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ (active ingredient) ของวัคซีน อนุภาคนาโนชนิดไขมัน และสารช่วยอื่นๆ โดยอนุภาคนาโนชนิดไขมันนี้ มีองค์ประกอบหลัก 4 ส่วนได้แก่ คอเลสเตอรอล ไขมันชนิดประจุบวก (Ionizable Cationic Lipid) ไขมันชนิดเป็นกลาง (Neutral Lipid) และไขมันชนิด PEGylated (PEGylated Lipid) ซึ่งสารแต่ละชนิดมีหน้าที่แตกต่างกัน โดยสารที่ทั้ง 2 บริษัทเลือกใช้มีอนุภาคนาโนชนิดไขมันที่บรรจุ mRNA มีขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 60-100 นาโนเมตร

  1. 3. ความคงตัวและการเก็บรักษาวัคซีน mRNA

          เนื่องด้วย mRNA มีความไม่คงตัวมากกว่าอนุภาคนาโนชนิดไขมัน ดังนั้น mRNA จึงถูกห่อหุ้มไว้ด้านในอนุภาค และโมเลกุลของน้ำล้อมรอบโมเลกุลของ mRNA อยู่ภายในอนุภาคนาโนด้วย เนื่องจาก mRNA เป็นโมเลกุลที่ละลายในน้ำได้ดี อย่างไรก็ตาม น้ำที่ล้อมรอบ mRNA อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสื่อมสลายของ mRNA โดยปฏิกิริยา Hydrolysis (ปฏิกิริยาที่มีน้ำเข้าไปสลายพันธะ) ทำให้วัคซีนชนิดนี้ต้องเก็บในสภาวะที่ถูกแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำมากๆ ตลอดเวลาเพื่อเพิ่มความคงตัวของ mRNA ในระหว่างการเก็บรักษา การขนส่งหรือการกระจายวัคซีน

จากข้อมูลความคงตัวของวัคซีนทั้ง 2 บริษัท ที่มีการเปิดเผยออกสู่สาธารณะ ระบุความคงตัวและการเก็บรักษาสำหรับขวดวัคซีนที่ยังไม่ได้เปิดใช้ โดยสรุปดังนี้

PfizerBioNTech COVID-19 vaccine

– สำหรับขวดวัคซีนที่แช่แข็ง เก็บที่อุณหภูมิ -90 ถึง -60 องศาเซลเซียส ได้เป็นเวลา 6 เดือน โดยในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถเก็บและขนส่งที่อุณหภูมิ -25 ถึง -15 องศาเซลเซียส ได้เพียง 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์เท่านั้น และสามารถนำกลับไปแช่แข็งที่อุณหภูมิ -90 ถึง -60 องศาเซลเซียสได้

– สำหรับขวดวัคซีนที่ละลายน้ำแข็งแล้ว ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส มีอายุ 1 เดือน ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส

Moderna COVID-19 vaccine

เก็บขวดวัคซีนในรูปสารแขวนลอยที่แช่แข็ง ที่อุณหภูมิ -25 ถึง -15 องศาเซลเซียส ได้เป็นเวลา 7 เดือน และเมื่อเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสและป้องกันแสง วัคซีนมีอายุ 30 วัน

อย่างไรก็ตามเอกสารกำกับยาของวัคซีนทั้ง 2 บริษัท มีระบุรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการเก็บรักษา การเจือจาง การขนส่ง อายุของวัคซีนขณะเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่างๆ อายุของวัคซีนขณะขนส่ง และอายุของวัคซีนหลังเจือจาง ไว้อย่างละเอียด ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากเอกสารกำกับยาของวัคซีนทั้ง 2 บริษัทได้

  1. 4. ข้อกังวลที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับวัคซีน mRNA

4.1 เกิดการกลายพันธุ์ในมนุษย์ได้หรือไม่?

จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า กลไกการออกฤทธิ์ของวัคซีนชนิดนี้ไม่มีการรบกวนการทำงานของนิวเคลียสซึ่งบรรจุดีเอ็นเอ (DNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมหลักของมนุษย์ไว้ภายใน อย่างไรก็ตาม วัคซีนชนิดนี้ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ของการพัฒนาวัคซีน จึงยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาว

4.2 มีอาการข้างเคียงอะไรบ้าง?

– อาการข้างเคียงที่พบบ่อยแต่มีความรุนแรงต่ำ คือ อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน เช่น เจ็บบริเวณที่ฉีด ไข้ หนาวสั่น ซึ่งส่วนใหญ่จะหายไปภายใน 2-3 วัน

– อาการข้างเคียงชนิดรุนแรงแต่พบได้น้อยมาก เช่น อาการแพ้แบบรุนแรง (anaphylaxis) ซึ่งพบได้ประมาณ 10 ราย จากการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส (ส่วนใหญ่เกิดภายใน 15 นาทีหลังฉีด ซึ่งอาจเกิดจากส่วนประกอบของไขมันชนิด PEGylated ที่มีรายงานว่าอาจก่อให้เกิดการแพ้ได้บ้าง รวมถึงอาจเกิดจากส่วนประกอบอื่น ๆ ของวัคซีน) รวมถึงมีรายงานการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในประชากรเพศชายอายุน้อย ซึ่งส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง จากข้อมูลในปัจจุบันพบประมาณ 12-18 ราย จากการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส

4.3 มีส่วนประกอบของแม่เหล็กหรือไม่?

จากข้อมูลส่วนประกอบดังที่ระบุในเอกสารกำกับยาของวัคซีนทั้ง 2 บริษัทนี้ ไม่มีส่วนประกอบของสารที่มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็กอยู่ในวัคซีนดังที่มีการส่งต่อข้อมูลกันในสื่อออนไลน์

 

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

Related Articles

Leave a Comment