Home Family “ชม” บุตรหลานอย่างไร? ให้เป็นเด็กที่มั่นใจและเชื่อมั่นในตัวเอง

“ชม” บุตรหลานอย่างไร? ให้เป็นเด็กที่มั่นใจและเชื่อมั่นในตัวเอง

by Lifeelevated Admin3

ในฐานะคนเป็นพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ล้วนต้องการให้บุตรหลานเป็นเด็กที่รู้สึกดีกับตัวเอง มั่นใจและศรัทธาในตัวเอง คุณจึงพยายามชื่นชมหรือสรรเสริญสิ่งที่พวกเขาทำหรือความสำเร็จของพวกเขาให้ได้มากที่สุดเพื่อให้พวกเขามีกำลังใจ แต่ในขณะเดียวกันก็มีพ่อ แม่ ผู้ปกครองอีกจำนวนไม่น้อยที่มีตรรกะฝังหัวว่าอย่าชมเด็ก เพราะจะทำให้เด็กเหลิง แล้วเลือกที่จะใช้วิธีกดดัน เคี่ยวเข็ญ เปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น รวมถึงใช้คำพูดแรง ๆ เพื่อให้เด็กฮึดสู้ พอเด็กทนไม่ได้จนร้องไห้ก็โดนว่าซ้ำ หรือหากเด็กแสดงความไม่มั่นใจในตัวเองออกมา ก็โทษว่าเป็นความผิดของเด็กอีกเช่นกัน

ทั้งที่ความจริงแล้ว ความเชื่อว่าการชื่นชมเด็กจะทำให้เด็กเหลิงนั้นไม่ถูกต้องเสียทีเดียว หากรู้วิธีที่จะชื่นชมอย่างถูกต้อง จะให้ผลลัพธ์ในด้านบวก มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าการชื่นชม ยกย่องเด็กด้วยคำชมง่าย ๆ สามารถทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง และมีความภาคภูมิใจในตนเอง อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณชื่นชมเด็ก ๆ แบบใด เมื่อใด และบ่อยเพียงใด

เพราะในบางกรณี การชื่นชมเด็กด้วยวิธีการ “อวย” ในพรสวรรค์มากกว่าพรแสวงก็อาจมีผลกระทบในเชิงลบ คำพูดที่พ่อแม่ผู้ปกครองพูดเกินจริง อาจทำให้เด็กๆ จดจ่ออยู่ที่ความสามารถของตนเองมากจนเกินไป นั่นหมายความว่าถ้าพวกเขาทำผิดพลาด พวกเขาจะเอาแต่โทษตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า บั่นทอนความภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกวิตกกังวลและสงสัยในความสามารถของตนเอง นำไปสู่การไม่เชื่อใจตัวเองได้ในสักวัน ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาจะรู้สึกกลัว ว่าถ้าเขาไม่ได้เก่งอย่างที่ผู้ใหญ่ชื่นชม พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะไม่รักพวกเขาอีกต่อไป!

ฉะนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรตระหนัก “วิธี” ที่จะใช้ในการชื่นชมและยกย่องเด็ก ๆ ให้มากกว่าเดิม ซึ่งนักจิตบำบัดมีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีในการชื่นชมบุตรหลาน ที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรปฏิบัติในการเด็กให้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มั่นใจในตัวเอง ศรัทธาในตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง นับถือตัวเอง มีแรงจูงใจ และเข้มแข็ง ด้วย 3 วิธีนี้

1. อย่าทำให้เหมือนกับเป็นการแข่งขัน

เป็นเรื่องปกติของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่เห็นจะปลื้มอกปลื้มใจเวลาที่บุตรหลานประสบความสำเร็จ แล้วมักจะเอาไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการอวยเด็กของตัวเองเกินจริง หรือเปรียบเทียบในทางลบ โดยการชื่นชมลูกหลานคนอื่น แล้วบอกให้เด็กของตัวเองดูเป็นเยี่ยงอย่างเพื่อกระตุ้นให้พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจ นั่นเป็นความตั้งใจที่ดี ที่อยากเห็นเด็ก ๆ ภาคภูมิใจเหมือนกับที่ผู้ใหญ่รู้สึก หรือมีแรงจูงใจที่จะทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป แต่…วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง

 

เพราะมันไม่ดีต่อสภาพจิตใจของเด็กเอาเสียเลย ด้วยการให้เด็กติดอยู่ในวงจรอุบาทว์ที่เรียกว่า “การแข่งขัน” ที่ต้องเปรียบเทียบความสามารถของตัวเองโดยใช้มาตรฐานของผู้อื่น จากการวิจัย พบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่ชมเชยบุตรหลานด้วยวิธีการอวยเกินจริงว่าเลิศเลอกว่าเด็กคนอื่น คือการปลูกฝังนิสัยหลงตัวเอง และพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจให้กับเด็กอีกต่างหาก นั่นอาจทำให้พวกเขามีปัญหาในการเข้าสังคม การทำงานเป็นทีมในอนาคต และบั่นทอนความมั่นใจในตนเองเมื่อทำผิดพลาด แล้วรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น

แนวทางที่ดีกว่า คือ การกระตุ้นให้พวกเขาเปรียบเทียบความพยายามและความสำเร็จของตัวเองในเวอร์ชันอดีตกับเวอร์ชันปัจจุบัน ไม่ใช่เปรียบเทียบกับคนอื่น ให้พวกเขาเปลี่ยนเป้าหมายจากการเอาชนะคนอื่น เป็นการพัฒนาตนเองให้ดีกว่าเดิมแทน

2. ชมเชยจากพรแสวง

สำหรับเด็กๆ แล้ว สิ่งที่มีค่าต่อจิตใจมากที่สุดจากพ่อแม่ผู้ปกครองเวลาที่ประสบความสำเร็จ คือ “คำชมเชย” แต่แทนที่จะชมเชยจากพรสวรรค์ของพวกเขา ลองปรับเปลี่ยนมาเป็นชื่นชมจากพรแสวงและความทุ่มเทของพวกเขาดู จะทำให้เด็กๆ มีทัศนคติเชิงบวกต่อการแก้ปัญหาที่ท้าทายมากขึ้นในอนาคต

เช่น หากคุณเห็นว่าบุตรหลานของคุณกำลังทุ่มเทและตั้งใจมากในการทำการบ้านวิชาคณิตศาสตร์ แทนที่จะชื่นชมสติปัญญาของเด็ก ลองเปลี่ยนมาชื่นชมความมุมานะพยายามของพวกเขาดู ในปี 1990 Carol S. Dweck ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ Graduate School of Education จาก Stanford ได้ศึกษาผลกระทบในการชมเชยเด็ก ในการวิจัยหนึ่งพบว่า เด็กกลุ่มหนึ่งบอกว่าพวกเขาประสบความสำเร็จเพราะสติปัญญาของพวกเขาเอง ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มบอกว่าพวกเขาประสบความสำเร็จเพราะพวกเขาพยายามอย่างหนัก

เมื่อเด็กทั้งสองกลุ่มต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่หลากหลายมากขึ้น พบว่าเด็กกลุ่มที่สองจะมองปัญหาเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยพยายามที่จะแก้ไขและเอาชนะปัญหา Dweck พบว่าการชมเชยเด็กจากพรแสวง จากความทุ่มเท ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกมีความมั่นใจในตัวเองที่จะลงมือแก้ปัญหา แม้ว่าพวกเขาอาจจะทำผิดพลาดก็ตาม

3. เปลี่ยนคำพูด เปลี่ยนผลลัพธ์

ถึงจะว่าการชื่นชมจากพรสวรรค์กับการชื่นชมจากพรแสวง จะเป็นการชื่นชมความสำเร็จของเด็ก ๆ เหมือนกัน แต่การปรับเปลี่ยนคำพูดในการกล่าวชมเพียงเล็กน้อย สามารถทำให้ผลลัพธ์เปลี่ยนไปได้ ตัวอย่างเช่น แทนที่จะพูดว่าเก่งมากๆ เลย ลองเปลี่ยนเป็นบอกพวกเขาว่าชอบที่พวกเขาทำแบบนี้นะ บอกพ่อแม่ได้ไหมว่าทำไมถึงเลือกที่จะทำแบบนี้ นี่คือวิธีการพูดชมเชยจากพรแสวง ความพยายาม และความทุ่มเทของเด็กๆ

การปรับเปลี่ยนคำพูดในการชื่นชมลูกนิดๆ หน่อยๆ สร้างแรงบันดาลใจในตัวเด็กๆ ได้มากกว่าที่คิด พวกเขาจะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองที่ได้ทุ่มเทความพยายามให้กับบางสิ่ง อีกทั้งยังทำให้พวกเขารู้สึกตื่นเต้นที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายที่มากขึ้นในอนาคต อีกตัวอย่างคือ เมื่อเด็กๆ หัดขี่จักรยาน แทนที่จะชมว่าเก่งมากๆ ลองเปลี่ยนมาบอกว่าพวกเขาพยายามระมัดระวังและมีสมาธิอย่างมากเพื่อที่จะขี่จักรยานให้ได้ อาจจะมีว่อกแว่กไปบ้างจนเกือบจะล้มจากจักรยาน แต่ก็ยังพยายามพยุงไว้แล้วไปต่อ

ดังนั้น การสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางใจให้กับเด็กๆ เป็นสิ่งสำคัญ มันคงจะดีกว่าถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองจะสร้างบาดแผลในใจพวกเขาให้น้อยที่สุด อย่ายกความผิดพลาดมากล่าวซ้ำเติมบั่นทอนจิตใจ แต่จงให้กำลังใจพวกเขา หากบุตรหลานของคุณสอบตก อย่าเพิ่ง “บอก” ให้พวกเขาเรียนหนักขึ้น แต่ให้ “ถาม” ว่าพวกเขาคิดว่าพอจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ผลสอบดีขึ้นในครั้งหน้า พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นที่พึ่ง ให้เด็กๆ กล้าที่จะเข้าหา ไม่ใช่เฉพาะเวลาที่พวกเขาทำได้ดี แต่ในช่วงที่พวกเขาต้องดิ้นรนและพยายามเพื่อเอาชนะความท้าทายใหม่ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรอยู่ข้างๆ เขา

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

Related Articles

Leave a Comment