ผู้นำหลายคนอาจจะเคยได้ยินฟีดแบ็กจากลูกทีมว่า
“ทำไมหัวหน้าจู้จี้จุกจิกกับเราจังเลย?”
“ทำไมหัวหน้าถึงไม่ค่อยใส่ใจเราเลย?”
สรุปแล้วการเป็นหัวหน้าที่ดี ควรต้องทำตัวแบบไหนกันแน่?
เรื่องนี้สามารถตอบได้ด้วยแนวคิดการเป็นผู้นำแบบ SLII หรือ การเป็นผู้นำผู้รับใช้ ซึ่งเป็นแนวคิดของ Ken Blanchard กูรูในด้านการพัฒนาทักษะของผู้นำโดยเฉพาะและยังเสนอแนวคิดที่สามารถเข้าใจได้ง่ายสำหรับผู้นำเพื่อนำกลับไปประยุกต์ใช้กับทีมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Ken Blanchard ได้อธิบายว่า ลูกน้องแต่ละคน ต้องการสนับสนุนจากหัวหน้าแตกต่างกันบางคนต้องการให้หัวหน้าใส่ใจ สอนงานอย่างละเอียด บางคนต้องการคิดงานด้วยความสามารถของตัวเองและอาจจะเรียกหาหัวหน้าเมื่อต้องการการสนับสนุน
ดังนั้นการจะเป็นหัวหน้าที่ดีหรือเหมาะสม อาจจะไม่ใช่การสอนลูกทีมด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งแต่ต้องดูตามสถานการณ์และเข้าใจลูกทีมแต่ละคนอย่างแท้จริงว่าในแต่ละช่วงเวลา ลูกทีมคนนั้นๆ มีความ ต้องการการสนับสนุนจากหัวหน้าในรูปแบบไหน
ซึ่งรูปแบบการสนับสนุนจากหัวหน้า มักจะขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการคือ
“ระดับความสามารถของลูกทีม” (Competence) และ “ระดับความมุ่งมั่นของลูกทีม” (Commitment) โดยทั้งสองระดับนี้ เรียกรวมกันว่า “ระดับพัฒนาการ” (Development levels)
ลูกทีมแต่ละคนมีความสามารถและระดับความมุ่งมั่น หรือที่เราเรียกว่า “ระดับพัฒนาการ” แตกต่างกันไปตามเป้าหมายที่ได้รับมอบหมายในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้นหน้าที่ของหัวหน้าคือ จะต้องคอยดูว่าจะปรับเปลี่ยนสไตล์การเป็นผู้นำของตนเองเพื่อให้การสนับสนุนลูกทีมตามระดับพัฒนาการของพวกเขาได้อย่างไร เพื่อให้เค้าได้ในสิ่งที่ต้องการ ในเวลาที่ต้องการเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน
โดย Ken Blanchard ได้แบ่งระดับพัฒนาการของพนักงานออกเป็น 4 ระดับในแต่ละเป้าหมายดังนี้
D1: มีความสามารถน้อย มีความมุ่งมั่นมาก
D2: มีความสามารถน้อยถึงมีบ้าง มีความมุ่งมั่นน้อย
D3: ความสามารถระดับปานกลางถึงมาก มีความมุ่งมั่นแปรปรวน (บางช่วงมุ่งมั่นมาก บางช่วงมุ่งมั่นน้อย)
D4: มีความสามารถมาก มีความมุ่งมั่นมาก
และนี่คือตัวอย่างของวิธีการสนับสนุนพนักงานในแต่ละระดับพัฒนาการจาก D1-D4
D1: เน้นการชี้แนะ ให้คำแนะนำ
แต่ในส่วนของการสนับสนุนในด้านการถามให้คิดด้วยตัวเองหรือการให้กำลังใจยังไม่ต้องมุ่งเน้นมากนัก เพราะตอนนี้เขาต้องการคนแนะนำทิศทางในการทำงานที่ถูกต้อง และเค้ามีความมุ่งมั่นมากอยู่แล้ว
D2: เน้นการให้คำแนะนำ และให้การสนับสนุนเป็นสัดส่วนที่มากเท่าๆ กัน
เพราะเมื่อทำงานมาสักระยะ คนกลุ่มนี้จะเริ่มพบอุปสรรคและอาจจะเกิดความท้อแท้ได้ง่าย เนื่องจากเขายังขาดความสามารถในการทำงานให้สำเร็จ จึงมีผลทำให้ความมุ่งมั่นลดน้อยลงจากตอนแรก
หัวหน้าจึงจำเป็นที่จะต้องใส่ใจคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษด้วยการให้คำแนะนำขณะเดียวกันก็ให้กำลังใจ เพื่อไม่ให้เขาล้มเลิกและเห็นหนทางในการทำงานต่อให้สำเร็จ
D3: เน้นการให้คำแนะนำน้อย แต่ให้การสนับสนุนมาก
พนักงานกลุ่มนี้อาจจะมีความรู้และทักษะมากมาย ทั้งการขาย การวิเคราะห์ เขาสามารถทำงานได้ด้วยตัวเองและทำสำเร็จมาแล้ว เขาไม่ได้ต้องการการดูแลที่มากเกิน แต่หัวหน้าควรเข้าไปดูแล หรือสอบถามเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่น หรือ ค้นหาว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับคนกลุ่มนี้ในช่วงเวลาที่เขาไม่มั่นใจหรือหมดไฟ
D4: เน้นการให้คำแนะนำน้อย และให้การสนับสนุนที่น้อย
พนักงานกลุ่มนี้ หัวหน้าสามารถให้โอกาสเขาคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง พนักงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความสามารถ ต้องการพัฒนาตัวเอง และชอบความท้าทายใหม่ๆ
ดังนั้นการ Micromanage หรือ การที่หัวหน้าลงมาจุกจิกและกำหนดทุกขั้นตอนการทำงานเป็นสิ่งที่พนักงานกลุ่มนี้ไม่ชอบ เพราะเขารู้วิธีการทำงานและสามารถทำได้ด้วยตัวเองแล้ว สิ่งที่หัวหน้าควรทำคือให้อิสระกับเขาในการทำงานและอาจมอบหมายหน้าที่ใหม่ๆ ที่สำคัญให้เขาได้ทำ
ซึ่งในแต่ละองค์กรย่อมมีพนักงานที่อยู่ในระดับพัฒนาการที่แตกต่างกันในแต่ละเป้าหมาย และในแต่ละช่วงเวลา หัวหน้าจึงต้องรู้จักสังเกตและรู้แล้วว่าลูกทีมแต่ละคนอยู่ที่ระดับพัฒนาการไหนในเป้าหมายนั้นๆ เพื่อปรับเปลี่ยนสไตล์การเป็นผู้นำของตน ในแบบที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมพนักงานให้มีพัฒนาการไปจนถึงจุดที่เขาสามารถลุกขึ้นมาดูแลตัวเองและพัฒนาคนอื่นต่อได้
และเพื่อให้พนักงานรู้สึกเป็นคนสำคัญ มีส่วนร่วมและได้รับความใส่ใจและไว้วางใจ การทำเช่นนี้จะทำให้ทีมงานเกิดความมุ่งมั่นและทำงานด้วยใจเพื่อเป้าหมายขององค์กร และยังช่วยลดความขัดแย้งในองค์กรให้ลดน้อยลงได้ด้วย
เมื่อพนักงานได้รับการสนับสนุนในสิ่งที่เขาต้องการจากหัวหน้า ในเวลาที่เขาต้องการ องค์กรก็จะสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะพนักงานรู้ว่าต้องทำอะไร และทำอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้รับมอบหมายมา
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @_lifeelevated_
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @Lifeelevated
Blockdit: Life Elevated
.
.
อ้างอิง :
https://www.posttoday.com/life/work–life–balance/641939
.
.
6