ความซนกับเด็กมักเป็นของคู่กันจนอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเด็กซนมากเกินไป ไม่อยู่นิ่ง ดูไม่มีสมาธิ หุนหันพลันแล่น จนกระทบต่อการเรียนและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง นั่นอาจเกิดจาก “โรคสมาธิสั้น” ที่จำเป็นต้องทำการรักษา
โรคสมาธิสั้นเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า โดยปกติโรคสมาธิสั้นจะมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ซนมาก สมาธิสั้น และหุนหันพลันแล่น แต่ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกสามอย่างนี้ อาจจะมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรืออาจมีครบทุกอย่างเลยก็ได้ โดยอาการเหล่านี้จะต้องเกิดก่อนอายุ 12 ปี
ซนมาก : เด็กจะวิ่งเล่นในแต่ละวันแบบไม่หยุด ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มักชอบเล่นอะไรที่เสี่ยงๆ แผลงๆ เล่นแรง ไม่กลัวเจ็บ ยุกยิก อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องขยับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเสมอ นั่งนิ่งๆ ไม่ได้ ต้องผุดลุกผุดนั่ง ทำท่าจะลุกตลอดเวลา เมื่อเข้าโรงเรียนคุณครูมักจะบอกว่าเด็กไม่ยอมเรียน ลุกตลอดเวลา เดินวนในห้อง ในบางรายอาจลงไปนอนกลางห้อง เด็กมักเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียนไม่ได้เพราะเล่นแรงมาก ทำให้ไม่มีใครเล่นด้วย
สมาธิสั้น : อาจสังเกตได้จากเมื่อไปโรงเรียนคุณครูจะบอกว่าเหม่อ เรียกชื่อแล้วไม่หัน พูดสั่งให้ทำแล้วไม่ทำตาม ฟังคำสั่งได้ไม่ครบ เนื่องจากเด็กจะฟังประโยคยาวๆ ได้ไม่จบ เพราะใจไม่ได้อยู่กับคนพูด จะจับได้แค่ประโยคแรกๆ ทำให้เรียนได้ไม่ดี ไม่สามารถรับความรู้ใหม่ๆ ได้เต็มที่ ทำงานผิดพลาดบ่อย ทำการบ้านไม่เสร็จ ทำงานตามสั่งไม่ครบ ทำของหายบ่อยๆ เพราะจำไม่ได้ว่าวางไว้ที่ไหน
หุนหันพลันแล่น : เด็กจะไม่รู้จักการรอคอย ต้องตอบโต้ทันที สังเกตได้จากเด็กจะชอบพูดสวน ชอบโพล่งขึ้นมากลางการสนทนา หรือชอบแซงคิว
อย่างไรก็ดี คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโดยปกติเด็กแต่ละวัยจะมีสมาธิไม่เท่ากันอยู่แล้ว เด็กเล็กจะมีสมาธิสั้นกว่าเด็กโต ในเด็กเล็กๆ ช่วงขวบปีแรกจะมีสมาธิไม่เกิน 2-3 นาที หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือในช่วง 1-2 ขวบประมาณ 3-5 นาที วัยอนุบาลประมาณ 5-15 นาที และช่วงประถมต้นได้นานถึง 15-30 นาทีขึ้นไป ดังนั้นจะนำเด็กเล็กมาเปรียบเทียบกับเด็กโตไม่ได้
หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น ควรปรึกษาแพทย์ เพราะโรคสมาธิสั้นจำเป็นต้องทำการรักษา หากปล่อยไว้อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว การอยู่ร่วมกับเพื่อนที่โรงเรียน และการเรียนของเด็กเอง รวมถึงเมื่อเด็กโตขึ้น ความซับซ้อนทางอารมณ์ก็จะมีมากขึ้น เด็กอาจรู้สึกมีปมด้อยถ้าไม่มีเพื่อนเล่นด้วย นอกจากนี้ เด็กสมาธิสั้นยังมีแนวโน้มที่จะโตไปเป็นคนขี้โมโห หงุดหงิดง่าย อ่อนไหวต่อคำพูดของคนอื่น การรักษาจะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้ โดยทั่วไปการรักษาจะเริ่มจากการปรับพฤติกรรม มีการสร้างกรอบที่เหมาะสมให้กับเด็ก
เทคนิคแก้ลูก “สมาธิสั้น”
– ฝึกโยคะเด็ก เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้เด็กอยู่กับตัวเอง และสามารถฝึกอยู่นิ่งๆ ไม่ซุกซนได้ แรกๆ อาจจะทำไม่ได้แต่ฝึกไปเรื่อยๆ หาท่าใหม่ๆ ให้เด็กได้ใช้จินตนาการ ลูกจะค่อยๆ สนุก และอยู่นิ่งกับโยคะได้
– ฝึกให้ทำอะไรต่อเนื่อง 20-30 นาที โดยไม่ลุกไปไหน อาจจะต่อจิ๊กซอว์ ประดิษฐ์ของเล่น ต่อเลโก้ ถึงจะเป็นพฤติกรรมซ้ำๆ แต่ในรายละเอียดลูกจะได้ทำอะไรแปลกใหม่ไม่ซ้ำกัน คุณแม่อาจนั่งอยู่ใกล้ๆ คอยช่วยและหลอกล่อไปด้วย วิธีนี้จะช่วยให้ลูกอยู่นิ่งๆ ได้สักพัก และอาจจะยาวนานขึ้นในอนาคต
– ไม่ตามใจ หรือปล่อยปละละเลยเกินไป ช่วงแรกๆ อาจจะต้องคอยดูพฤติกรรมลูกอย่างใกล้ชิด อย่าเพิ่งเร่งรัดหรือปล่อยมากเกินไป คอยดูอยู่เป็นระยะ อย่าให้ตึงเกินไป ถ้าดูแล้วลูกเริ่มอยู่เฉยไม่ได้ ไม่มีสมาธิจนเริ่มจะดื้อแล้ว ก็อาจจะให้ลูกไปทำอย่างอื่นก่อน แล้วค่อยกลับมาฝึกใหม่
– ลดสิ่งเร้ารอบตัว เด็กที่มีสมาธิสั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว บ่อยครั้งที่ลูกมักจะซุกซน อยู่เฉยๆ ไม่ค่อยได้เพราะรู้สึกว่าสนใจสิ่งรอบข้างมากกว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ คุณพ่อ คุณแม่อาจลองเปลี่ยนบรรยากาศรอบด้าน เช่นในห้องนอน ควรมีบรรยากาศที่เงียบ สงบขึ้น และจัดเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบ เวลาที่ลูกนั่งทำการบ้านจะได้ไม่มีสิ่งอื่นมาทำให้เบี่ยงเบนความสนใจ
– ฝึกอยู่นิ่ง 3 นาที 5 นาที 7 นาที ชวนลูกเล่นเกมแข่งกับคุณพ่อ คุณแม่ก็ได้ อาจจะเป็นเกมแปลงร่างเป็นก้อนหินแล้วจับเวลา ใครกระดุกกระดิกก่อนแพ้ เริ่มจากสั้นๆ แค่ 3นาทีดูว่าลูกทำได้ไหม ถ้าทำได้ก็ค่อยๆ เพิ่มเวลาเป็น 5 นาที 7 นาทีตามมา เมื่อเวลาที่ลูกซนมากๆ ก็ให้คุณแม่บอกลูกว่าเรามาเล่นเกมนี้กันเถอะ
– ไม่โทษลูก อย่าเพิ่งลงโทษ และให้อภัยเสมอ คุณพ่อ คุณแม่ต้องเข้าใจว่าเด็กที่สมาธิสั้นไม่ได้เกิดจากนิสัยของลูก แต่เกิดจากสมอง เพราะฉะนั้นเวลาลูกทำอะไรขอให้คุณพ่อ คุณแม่อย่าเพิ่งลงโทษ เรื่องนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป
– ช่วยเตือนความจำลูก อีกหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่คุณพ่อ คุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นเด็กสมาธิสั้นได้ก็คือ การจดโน้ตเตือนความจำ หรือตั้งนาฬิกาปลุกสิ่งที่ลูกต้องทำ จดโน้ตย่อเวลาสอนหนังสือลูก เพื่อช่วยย่อความสำคัญให้เขาจดจำได้ง่ายขึ้น หรือเด็กบางคนอาจจะต้องใช้การออกเสียงเข้าช่วย
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @_lifeelevated_
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @Lifeelevated
Blockdit: Life Elevated
.
.
#LifeElevated #สมาธิสั้น #Hyperactivity
.
.
อ้างอิง
https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/09042014-1854
https://www.bangkokhospital.com/content/adhd-disorder
https://www.sanook.com/health/27233/