มินิมอลแบบญี่ปุ่น (Japanese Minimal)
สไตล์แฟชั่นที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก โดนใจคนไทยไม่หน่อย
เพราะความเรียบง่าย ดูเรียบหรู สบายตา มองแล้วสบายใจ ทำให้ใครๆ ต่างก็หลงใหลอยากเป็นชาว Japanese Minimal กันไม่น้อย สะท้อนจากรสนิยมการแต่งบ้าน แฟชั่นการแต่งกาย และอาหารการกิน แล้วความเป็นมินิมอลแบบญี่ปุ่นนี้มีเสน่ห์น่าหลงใหลอย่างไร วันนี้ Life Elevated จะพาทุกคนมาไขความลับนี้กัน ใครอยากรู้..ตามมาหาคำตอบกันเลย
“มินิมอล” อยู่คู่ชาวญี่ปุ่นตั้งแต่สมัย “พุทธศาสนานิกายเซน”
มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านยืนยันว่า “มินิมอล” ในคอนเซ็ปต์ “Less Is More” นั้นอยู่คู่เป็นรากเหง้าของชาวญี่ปุ่นมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในสมัย “พุทธศาสนานิกายเซน” ซึ่งเป็นนิกายในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน นับถือกันอย่างแพร่หลายในแถบเอเชียตะวันออก (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี) โดยพุทธศาสนานิกายเซนนั้นปลูกฝังถึงความเรียบง่าย อิงแอบกับธรรมชาติมากกว่าวัตถุ
“ภัยธรรมชาติ” ส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดสไตล์มินิมอลญี่ปุ่น
เคยมีนักจัดบ้านชื่อดังของญี่ปุ่นพูดถึงเหตุการณ์ที่อาจมีส่วนเปลี่ยนแนวคิดของชาวญี่ปุ่นให้ยึดถือความมินิมอลมากขึ้นในปัจจุบัน นั่นคือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี 2011 ขนาดความรุนแรงมากถึง 9.0 แมกนิจูด และเกิดสึนามิจนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20,000 ราย ซึ่งเกือบ 50% ผู้คนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเกิดจากสิ่งของภายในบ้านที่ตกใส่ นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่นนั้นต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติอื่นๆ เป็นประจำไม่ว่าจะเป็นพายุ น้ำท่วม คลื่นสึนามิ เมื่อภัยธรรมชาติมาเยือนครั้งใด เมืองทั้งเมืองย่อมได้รับความเสียหายไม่น้อย บ้านเรือนส่วนใหญ่ของคนญี่ปุ่นจึงมักมีไว้แต่ข้าวของที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น เมื่อภัยพิบัติมาเยือน จะได้ขนย้ายได้ง่าย และ “ความน้อย” เท่าที่จำเป็นนั่นเอง จึงทำให้คนญี่ปุ่นคิดหาวิธีทำให้เกิดความสวยงามลงตัวอย่างมีสไตล์ กลายเป็นสไตล์มินิมอลแบบญี่ปุ่นให้ชาวโลกได้ชื่นชม
เสน่ห์ของความเป็นมินิมอลญี่ปุ่นสไตล์
หากจะให้อธิบายเสน่ห์ของความเป็นมินิมอลแบบญี่ปุ่นง่ายๆ ก็คือ ความ “น้อยแต่มาก ดูแล้วสบายตา สบายใจ เรียบหรู” นั่นเอง การจัดแต่งสวนสไตล์มินินอลแบบญี่ปุ่นจะเน้นความเป็นธรรมชาติ ขนาดไม่ใหญ่โต แต่มีครบ ทั้งสนามหญ้า ต้นไม้น้อยใหญ่ และสระน้ำเล็กๆ จัดแต่งแบ่งโซนอย่างชัดเจนเป็นระเบียบ มีรูปปั้นเรียบๆ เล็กๆ จำนวนไม่มากแต่ดูเก๋ไก๋ เมื่อมองแล้วรู้ได้ทันทีว่านี่คือการจัดสวนแบบมินิมอลญี่ปุ่น ส่วนการแต่งกายสไตล์มินิมอลญี่ปุ่นนั้นคือแฟชั่นการแต่งกายที่ดูไม่ยุ่งยากซับซ้อน ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก เช่น การใช้เสื้อกางเกงแบบเรียบๆ สีเดียว ไม่มีลวดลาย มักไม่มีกระดุม เน้นการใช้สี ขาว ครีม เทา ดำ และสีกรม แมตช์กับถุงเท้า รองเท้าสีสุภาพได้อย่างลงตัว
ขณะที่ “บ้าน” สไตล์มินิมอลญี่ปุ่นนั้นดูไม่ยาก เพราะตัวบ้านจะเมื่อดูภายนอกแล้วหลังจะไม่ใหญ่มาก ดีไซน์เรียบง่าย โดดเด่นด้วยทรงด้านเรขาคณิต สีภายนอกเน้นสีอ่อนๆ ตัดกับสีไม้ ภายในปลอดโปร่งโล่งสบาย เพดานจะไม่สูงมาก มีข้าวของเท่าที่จำเป็นเน้นพื้นที่ใช้สอยให้มากที่สุด การตกแต่งภายในจะใช้สีอ่อน ร่วมกับสีไม้ มักจะใช้ความเป็นเส้นตรง เหลี่ยมสันตกแต่งภายในได้อย่างเรียบหรูดูสบายตา
“วาบิซาบิ” ส่วนเติมเต็มแนวคิด “เซน”
แนวคิดแบบ “เซน” คือปรัชญาการใช้ชีวิตในขั้นพื้นฐานของแนวคิดอื่นๆ ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งนอกเหนือจากเซนแล้วยังมีอีกแนวคิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความเรียบง่ายพอๆ กัน นั่นก็คือ “วาบิซาบิ” โดยจะเกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมชาติ การไม่ปรุงแต่ง และความไม่สมบูรณ์แบบต่างๆ ซึ่งถือเป็นสิ่งธรรมดาสามัญโดยไม่ต้องพยายามไปสร้างเงื่อนไขกฎเกณฑ์เพิ่มเติมให้รวบรัดจนสร้างความอึดอัดนั่นเอง
ในส่วนของการตกแต่งห้องนั่น “วาบิซาบิ” ก็มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องของการใช้โทนสีที่เป็นธรรมชาติ ไม่ฉุดฉาด มองแล้วสบายตา และทำให้บรรยากาศโดยรวมของห้องดูอบอุ่นน่าพักผ่อนอีกด้วย โดยปัจจัยในการตกแต่งห้องด้วยแนวคิดแบบ “วาบิซาบิ” พอที่จะแบ่งให้เข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้
- เน้นวัสดุที่เป็นธรรมชาติ
ด้วยเพราะแนวคิดวาบิซาบิจะเน้นความเป็นธรรมชาติ การตกแต่งห้องตามแบบวาบิซาบิจึงเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งของที่มีองค์ประกอบหลักจากวัสดุธรรมชาติ อย่างเฟอร์นิเจอร์ไม้ เป็นต้น
- เน้นความเรียบง่าย
การจัดวางสิ่งของต่างๆ ตามแบบวาบิซาบิจะไม่บังคับรูปแบบการจัดวางที่สมบูรณ์แบบหลักองค์ประกอบการออกแบบ เพียงแค่ตอบโจทย์การใช้งานก็เพียงพอแล้ว
- ไม่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ
ด้วยความเพอร์เฟกต์ไม่มีอยู่ในธรรมชาติ และความเป็นธรรมชาติมักจะไม่สมบูรณ์แบบ การตกแต่งตามแนวคิดวาบิซาบิจึงเลือกข้าวของแต่ละชิ้นโดยไม่จำเป็นต้องเข้ากลุ่มก้อนกันสมบูรณ์ อย่างรูปทรงของเก้าอี้ โซฟา กับโต๊ะกาแฟก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเข้าเซ็ตกันลงตัวทั้งหมดก็ได้
การแต่งห้องแบบวาบิซาบิที่เข้ากันกับแนวคิดเซน
เลือกแค่ของที่จำเป็นและใช่สำหรับเรา มาใช้สอยและประดับตกแต่งเป็นหลัก โดยยไม่จำเป็นต้องเลือกข้าวของที่ดูสมบูรณ์แบบ ทันตามเทรนด์ หรือตั้งใจไปเสาะหาข้าวของสไตล์เก่าๆ เพียงแค่ว่าของต้องมีมาตกแต่งบ้านตามกระแสนิยมโดยไม่จำเป็น
เน้นโทนสีแบบธรรมชาติ หรือ แนวสีเอิร์ธโทน ในการตกแต่งห้องเพราะเป็นโทนสีที่ให้ความรู้สึกที่อบอุ่น ดูสบายตา ช่วยให้บรรยากาศภายในห้องดูอบอุ่นผ่อนคลาย ไม่ฉูดฉาดหรือเข้มข้นตลอดเวลา
ใช้สิ่งของจำพวกสินค้าทำมือหรือ Handmade ท้องถิ่น ที่ไม่ต้องประณีตจนสมบูรณ์แบบเหมือนสินค้าผลิตโรงงาน ช่วยเป็นจุดเด่นทำให้ห้องดูมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น
ไม่จำเป็นต้องจัดห้องให้เรียบร้อยเนี้ยบเป๊ะทุกวัน ปล่อยให้สิ่งของต่างๆ เป็นไปตามการใช้งานบ้างก็ได้อย่างรอยยับย่นบนผ้าปูที่นอน แต่อย่าเข้าใจผิดว่าให้ปล่อยให้ทำห้องรกก็เพียงพอ
นำข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ กลับมาใช้ สิ่งของที่ตกทอดส่งต่อกันในครอบครัว ก็ช่วยให้ห้องมีเสน่ห์เพิ่มเติมในแนววินเทจได้อีกด้วย
ไม่ต้องประดับแจกันด้วยดอกไม้เบ่งบานเสมอไป หากเฉาจนร่วงโรยแล้วอาจเก็บบรรดากิ่งก้านต่างๆ ไว้แล้วรวบรวมใส่แจกันใบเดียวกัน ก็ดูดีได้เหมือนกัน
อุปกรณ์ทันสมัยบางอย่างก็ไม่จำเป็น โดยขั้นตอนบางอย่างอาจทำด้วยฝีมือตัวเอง เช่น การไม่ใช้เครื่องต้มกาแฟ เป็นการใช้กาต้มตั้งเตาแบบ Manual ก็ย้อนวัยฮิปสเตอร์ได้เหมือนกัน
ผนังโครงสร้างก่ออิฐเปลือยสไตล์ Loft ไม่ต้องฉาบเรียบให้เพอร์เฟกต์ แล้วแปะวอลล์เปเปอร์แพงๆ ก็เข้ากันได้กับวาบิซาบิเช่นกัน
ลดสิ่งของที่เกินจำเป็น มีไว้เพียงข้าวของที่จำเป็นต่อการอยู่อาศัยเท่านั้นก็พอ ห้องไม่รกด้วย
ปล่อยวางและไม่ยึดติด ไม่ต้องจัดระเบียบทุกอย่างให้ดูสมบูรณ์สวยงามตามนิตยสารแต่งบ้านตลอดเวลา แค่จัดให้ข้าวของเป็นที่เป็นทาง ไม่รกเกะกะก็พอแล้ว
ด้วยเพราะคนทั่วไปยังเข้าใจแนวคิดเซนกับมินิมอล เป็นเพียงความมีให้น้อยแบบเรียบง่าย รวมถึงการพยายามจะเรียบง่ายด้วยการโละข้าวของต่างๆ จนห้องโล่งโจ้ง แต่โดยแก่นแท้แล้วในความเชื่อแบบเซนนั้น คือหลักการใช้ชีวิตตามปกติธรรมดา ไม่ต้องพยายามสร้างเงื่อนไขให้กับชีวิตว่าต้องมากต้องน้อย มีเฉพาะจำเป็นก็เพียงพอแล้ว ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้กับการใช้ชีวิตได้ เช่น การจัดสวน การแต่งกาย หรือการกิน เป็นต้น
“แนวคิดเซน & มินิมอล” ทางเลือกเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
ติดตาม Life Elevated เพิ่มเติมได้ที่
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @_lifeelevated_
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @Lifeelevated
Blockdit: Life Elevated
อ้างอิง