Home Body คลายสงสัย..ทำไมบางคน “แพ้อาหารทะเล”

คลายสงสัย..ทำไมบางคน “แพ้อาหารทะเล”

by Lifeelevated Admin2

อาหารทะเลมักเป็นอาหารจานโปรดของใครหลายคน แต่เคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าว่าทำไมบางคนถึงมีอาการแพ้อาหารทะเล ต่อให้ชื่นชอบแค่ไหนก็ต้องยอมบอกลา เพราะในบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้

ทำไมบางคนถึงแพ้อาหารทะเล?

จากข้อมูลเว็บไซต์พบแพทย์ ระบุว่าการแพ้อาหารทะเลเป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายต่อโปรตีนในสัตว์น้ำทะเลและสัตว์น้ำจืดบางชนิด ได้แก่ สัตว์น้ำมีเปลือกทั้งหลาย เช่น กุ้ง ปู หอยนางรม หอยแครง ล็อบสเตอร์ หรือปลาหมึกชนิดต่างๆ เช่น หมึกยักษ์ หมึกกล้วย ซึ่งอาการแพ้จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต

ทั้งนี้ แต่ละคนย่อมมีความเสี่ยงต่อการแพ้อาหารทะเลมากน้อยแตกต่างกัน หากบุคคลในครอบครัวเคยมีอาการแพ้ยา อาหาร หรือสารใดๆ ก็ตาม สมาชิกในครอบครัวนั้นมักมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพ้อาหารทะเลมากกว่าปกติ

ทำไมเพิ่งมีอาการแพ้ในวัยผู้ใหญ่?

นายแพทย์รวิ เรืองศรี จากรพ.สุขุมวิท ระบุว่าภาวะแพ้อาหารที่เพิ่งมาเป็นตอนโตหรือในวัยผู้ใหญ่นั้น เป็นภาวะแพ้แบบเฉียบพลันที่เกิดจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในอาหารบางชนิด

โดยหลักการของอาการแพ้เฉียบพลันนั้น คือ ร่างกายจะต้องเคยได้รับการกระตุ้นหรือเรียนรู้จากการรับประทานอาหารประเภทนั้น หรือได้รับสารที่มีโปรตีนโครงสร้างคล้ายกัน (Sensitization) มาก่อน

เมื่อร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า IgE (อิมมูโนโกลบูลิน ชนิดอี) ที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อโปรตีนในอาหารชนิดนั้น ก็จะเหนี่ยวนำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้เฉียบพลันจากการปล่อยสารฮีสตามีน (Histamine) จากเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งในร่างกาย

ที่สำคัญ เมื่อร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันนี้แล้ว มีแนวโน้มว่าจะมีตลอดไป ซึ่งหมายความว่า ถ้าเราได้รับประทานอาหารชนิดเดิมที่เป็นสาเหตุของการแพ้ ก็จะมีอาการลักษณะเดิมอีก และไม่สามารถรับประทานอาหารชนิดนั้นได้เป็นปกติอีกนั่นเอง

อาการแพ้อาหารทะเลเป็นอย่างไร?

หลังจากรับประทานอาหารทะเลที่เป็นสาเหตุของการแพ้เข้าไป มักจะเกิดอาการแพ้ภายในไม่กี่นาที หรือเกิดขึ้นภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งอาการแพ้ที่สังเกตได้ มีดังนี้

  • เกิดลมพิษ รู้สึกคัน หรือมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
  • คัดจมูก หายใจเสียงดังวี้ด หรือหายใจลำบาก
  • มีอาการบวมที่ใบหน้า ลำคอ ริมฝีปาก ลิ้น หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น หู ฝ่ามือ นิ้วมือ
  • ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
  • รู้สึกมึนงง วิงเวียน บ้านหมุน หรือคล้ายจะเป็นลม
  • ปวดคล้ายเข็มทิ่มในปาก

ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงต้องได้รับการรักษาโดยเร่งด่วนด้วยการฉีดยาเอพิเนฟริน (Epinephrine) และนำตัวส่งห้องฉุกเฉินทันที ซึ่งจะแสดงอาการให้เห็น ดังนี้

  • คอบวมหรือมีก้อนในลำคอ ส่งผลให้ทางเดินหายใจแคบลงและหายใจลำบาก
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • วิงเวียนศีรษะอย่างมาก หรือหมดสติ
  • มีอาการช็อก เนื่องจากความดันโลหิตลดต่ำลงมาก

ป้องกันการแพ้อาหารทะเลได้อย่างไร?

หากทราบว่าตนเองแพ้อาหารทะเลอยู่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์น้ำมีเปลือก รวมถึงผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มีส่วนผสมจากอาหารเหล่านี้ เป็นวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้ได้ดีที่สุด

นอกจากนี้ ควรระมัดระวังเมื่อรับประทานอาหารนอกบ้าน เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ วัสดุต่างๆ ที่นำมาปรุงอาหารไม่มีการปนเปื้อนอาหารทะเล หรือผ่านการทำอาหารชนิดอื่นมาก่อน และควรอ่านฉลากที่ผลิตภัณฑ์ก่อนทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับอาหารที่มีส่วนผสมของอาหารทะเล

หากมีบุตรหลานแพ้อาหารทะเลหรือสัตว์น้ำมีเปลือกควรแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบเพื่อป้องกันการแพ้จากการสัมผัสหรือรับประทาน

ทำไมคนสมัยนี้ “แพ้อาหาร” มากขึ้น?

จากการศึกษาอัตราชุกของโรคในประเทศไทยพบว่า โรคภูมิแพ้มีจำนวนผู้ป่วยต่อประชากรอยู่ที่ 15-45% นั่นแปลว่า ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศไทย กำลังเผชิญกับโรคภูมิแพ้อยู่ และการ “แพ้อาหาร” เป็นหนึ่งในอาการแพ้ที่พบมากในปัจจุบัน ความรุนแรงมีตั้งแต่อาการแพ้เล็กน้อย มีผื่นคัน ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต

ศ.เกียรติคุณ นพ.ปกิต วิชยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา เคยเปิดเผยข้อมูลว่า โรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่คนไทยป่วยเพิ่มมากขึ้น นั่นคือ โรคแพ้อาหาร เป็นโรคที่ร้ายแรงมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็จะทำให้ผู้ป่วยที่มักจะเป็น “เด็ก” เสียชีวิตได้ ส่วนผู้ใหญ่มักไม่ค่อยมีอาการรุนแรงเท่าเด็กๆ หรือถ้ารุนแรงก็มักจะรักษาได้ทัน

สาเหตุที่ทำให้คนสมัยนี้ป่วยเป็นโรค “แพ้อาหาร” มากขึ้นกว่าแต่ก่อน คุณหมอปกิต อธิบายว่า อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป, สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป คือ คนเมืองใช้ชีวิตท่ามกลางมลภาวะที่สูงขึ้น, การรับประทานอาหารประเภท Process Food มากขึ้น เป็นต้น

Allergy Skin Test หาสาเหตุการแพ้

การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ ทั้งโรค “แพ้อาหาร” และภูมิแพ้ชนิดอื่นๆ สามารถทำได้ด้วยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Test) หลักการคือ การนำน้ำยาสกัดจากสารภูมิแพ้ชนิดต่างๆ มาทำการทดสอบที่ผิวหนังของผู้ป่วย เพื่อทำให้ทราบว่าแพ้สารใด วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ ที่มีความไวและความจำเพาะสูง ทำง่าย และราคาไม่แพง สามารถทราบผลได้ทันที

น้ำยาสารก่อภูมิแพ้ที่แพทย์นำมาใช้ทดสอบ จะประกอบด้วยสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เช่น ไรฝุ่น รังแคของสัตว์ เช่น สุนัข แมว แมลงสาบ เชื้อราชนิดต่างๆ เกสรพืช หญ้า และสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นอาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่ว อาหารทะเล เป็นต้น

วิธีการทดสอบ แพทย์จะใช้เครื่องมือสะกิดผิวหนังของคนไข้ บริเวณท้องแขนจำนวนหลายๆ จุด แล้วหยดน้ำยาสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ลงไป จากนั้นรอ 15 – 20 นาที หากผู้ป่วยแพ้สารใด ก็จะเกิดปฏิกิริยาเป็นตุ่มนูนแดง คัน ในตำแหน่งที่ตรงกับการทดสอบสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ วิธีนี้ช่วยให้เราทราบว่า ตนเองแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด และมากน้อยเพียงใด จะได้สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น

 

 

อ้างอิง

https://bit.ly/391IyEI

https://www.thairath.co.th/women/beauty/health/1578368

https://www.sukumvithospital.com/content.php?id=3545

https://tonkit360.com/75964

http://www2.siphhospital.com/th/news/article/share/357

Related Articles

Leave a Comment