South Korea หรือเกาหลีใต้ ประเทศซึ่งขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรม K-Pop, วงการความสวยงาม เครื่องสำอาง ไปจนถึงอาหารที่เข้ามามีอิทธิพลในบ้านเรามากขึ้น แต่นอกจากจุดเด่นที่ว่ามาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ประเทศนี้กำลังมาแรง และโดดเด่นในระดับโลก คือการเป็นประเทศแห่งสตาร์ทอัพ ซึ่งหลายคนอาจจะได้เห็นภาพของวงการนี้มากขึ้น ผ่านซีรีส์เกาหลี “Start-Up” ที่เพิ่งออนแอร์จบไปเมื่อไม่นานมานี้
แน่นอนว่าประสบการณ์การคว้าความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของซัมซันเทคคงไม่ใช่สิ่งที่สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ได้ลิ้มรส บางคนอาจบอกว่านี่เป็นซีรีส์ชวนฝันสร้างแรงบันดาลใจ แต่ในโลกความจริง การที่ประเทศเล็กๆ อย่างเกาหลีใต้เติบโตโดยเน้นการส่งออก กระโดดมาเป็นดาวเด่นด้านสตาร์ทอัพในโลกก็เป็นอีกหนึ่ง “มิราเคิล” ที่ดูเหนือจริงของประเทศนี้ที่เราต้องจับตามอง
เมื่อเราดูซีรีส์ หลายคนอาจมีคำถามว่าหน้าตาแวดวงสตาร์ทอัพที่เราเห็นนั้นเป็นแค่จินตนาการหรือเปล่า ฉากของแซนด์บอกซ์ที่ดูเป็นดินแดนความฝันที่เป็นไปได้ (วัดจากกระดาษข้อความที่ติดเรียงกันเป็นแพในเรื่อง) อาจจะเป็นแค่ความฝันถึงโลกอนาคตในเกาหลี ประเทศที่เรามักจะนึกถึง “แชโบล” หรือบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงหรือฮยอนแด (ฮุนได) มากกว่า
แต่อนาคตที่ว่านั้นก็ค่อยๆ กลายเป็นปัจจุบันของเขา เพราะหากพูดกันในแง่ความคึกคักของการทำสตาร์ทอัพ ข้อมูลจากรายงาน Doing Business 2020 ของ World Bank พบว่าสภาพแวดล้อมในแง่บรรยากาศที่เกื้อหนุนต่อการดำเนินธุรกิจของเกาหลีอยู่อันดับ 5 ของโลก ส่วนสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการทำสตาร์ทอัพโดยเฉพาะเจาะจงนั้นอยู่อันดับที่ 33 ขณะที่สตาร์ทอัพแต่ละรายใช้เวลาเตรียมการเฉลี่ยเพียง 8 วันก่อนเริ่มต้นกิจการ
ซึ่งความโดดเด่นมาแรงในด้านสตาร์ทอัพนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะเอกชน หรือจากผู้ประกอบการอย่างเดียว แต่รัฐบาลของประเทศเกาหลีใต้ ก็เป็นหนึ่งในรัฐบาลที่สนับสนุนวงการ SMEs และสตาร์ทอัพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งการให้เงินทุน การสร้างสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ ไปถึงการร่วมแชร์ความเสี่ยงในการล้มเหลว ซึ่งทำให้สตาร์ทอัพเกาหลีพัฒนาขึ้นมาจนมีส่วนในการร่วมสร้างเศรษฐกิจระดับประเทศได้
Life Elevated จึงขอชวนไปดูว่า รัฐบาลเกาหลี สนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างไร มีทุน โครงการ หรือแผนการในอนาคตสำหรับเหล่าผู้ประกอบการแค่ไหน และประเทศนี้ วางแผนเพื่อพัฒนาไปสู่อนาคตกันอย่างไรบ้าง
รัฐบาลเกาหลีใต้ มีแผนในการ “สร้างเกาหลีใต้ให้เป็นประเทศสตาร์ทอัพ” และสร้างบรรยากาศ และระบบนิเวศของประเทศให้เอื้อต่อการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยจากข้อมูลในปี 2019 พบว่า เกาหลีมีสตาร์ทอัพอยู่ 3 หมื่นกว่าแห่ง ที่มีพนักงานมากกว่า 1 แสนคน ซึ่งเมื่อเทียบกับ 20 ปี ก่อนที่เกาหลีมีสตาร์ทอัพต่ำกว่า 2 พันแห่ง รวมไปถึงยังมียูนิคอร์น (ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ากว่าพันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) 12 แห่ง และยังมีซูนนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่กำลังจะเป็นยูนิคอร์นในอนาคต) 14 แห่ง
ปัจจุบัน เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ให้เงินสนับสนุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นอันดับ 5 ของโลก อยู่ประมาณ 73 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ทั้งยังมีโครงการ Technology Incubation Program (TIPS) ของรัฐบาล ที่ให้เงิน R&D กับสตาร์ทอัพ 8 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อแห่ง (ประมาณ 24 ล้านบาท) และยังร่วมแชร์ความเสี่ยงในการที่ธุรกิจล้มเหลวด้วย ซึ่งในปี 2018 นิตยสาร Forbes ชี้ว่า รัฐบาลเกาหลีใต้เป็นรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพต่อหัวมากที่สุดในโลก
รวมถึงยังมีพื้นที่ Co-Working Space มากกว่า 100 แห่งในประเทศ รวมถึงยังมี Accelerator, Incubators และ Innovation Center (สถาบันที่ช่วยเหลือการลงทุน อบรม และสนับสนุนสตาร์ทอัพ) อีกกว่า 150 แห่ง รวมไปถึงมีโครงการต่างๆ จากรัฐบาล เช่น K-Startup Challenge ที่ช่วยโปรโมตความร่วมมือระหว่างในประเทศ และสตาร์ทอัพต่างชาติ ในการดึงดูดให้ผู้ประกอบการต่างชาติมาเริ่มทำธุรกิจในเกาหลีใต้ เพื่อหวังจะสร้างและเพิ่มการจ้างงานคนเกาหลีในประเทศให้มากขึ้นด้วย
ไม่ใช่แค่สำหรับการสนับสนุนในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังมีการตั้งเป้าหมายและมีแผนไปถึงอนาคต ด้วยการตั้งเป้าจะเพิ่มยูนิคอร์นถึง 20 แห่งภายในปี 2022 และเตรียมสนับสนุนเงิน 12 ล้านล้านวอน ให้สตาร์ทอัพสำหรับ 4 ปี ในปี 2022 ด้วย ทั้งยังมีการวางแผนกลยุทธ์ 5 แผน เช่น ค้นหาธุรกิจใหม่และสตาร์ทอัพเทคโนโลยีขั้นสูง, ฟื้นฟูเงินทุนส่วนตัวในตลาดการลงทุนร่วมทุน, สนับสนุนการขยายตลาดและเข้าสู่ระดับโลก, ส่งเสริมการฟื้นฟูการลงทุนร่วม และสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสตาร์ทอัพ
กระทรวง SMEs และ Startups ซึ่งเดิมเป็นหน่วยงานบริหารธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนวงการนี้ โดยกระทรวงฯ ได้มีนโยบายและทิศทางในการสนับสนุนสตาร์ทอัพในแต่ละปี เช่น การสร้างโรงงานอัจฉริยะ 30,000 แห่งในปี 2022, เพิ่มงบการสนับสนุนสตาร์ทอัพในมหาวิทยาลัย เพิ่มศูนย์สนัยสนุนบริษัทขนาดเล็ก จาก 2 ศูนย์ เป็น 10 ศูนย์ในปี 2022 ฯลฯ ทั้งในช่วงที่เจอกับวิกฤติของโรคระบาด ทางกระทรวงฯ ยังออกคำแนะนำ SMEs และ Startups ในการทำธุรกิจในช่วงกักตัว การทำงานระยะไกล และการใช้ AI ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรเงินสำหรับพนักงาน และสนับสนุนเครื่องมือสำหรับการทำงานระยะไกลให้บริษัทต่างๆ ด้วย
ไม่เพียงแค่ภาพใหญ่ระดับประเทศที่มีการสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่ลงมาที่ระดับเมือง เช่น ในกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศ รัฐบาลกรุงโซลเองก็มีการผลักดันวงการสตาร์ทอัพ เช่นกัน โดยปัจจุบันมีโครงการให้พื้นที่ออฟฟิศสำหรับสตาร์ทอัพขั้นต้นถึง 1,000 แห่ง และมีการวางแผน ตั้งเป้าให้โซล เป็น 1 ใน 5 เมืองระดับท็อปสำหรับสตาร์ทอัพของโลก ภายใน 4 ปี
นอกจากนี้ยังมีอีก 7 โครงการที่ออกมาเพื่อเหล่าสตาร์ทอัพ ได้แก่
- “Global Talented Individual Pipeline” สนับสนุนบุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี
- “Tech Space 1000” เพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพด้านเทคนิคอีก 1,000 แห่ง
- “Strategic Growth Investment” สนับสนุนเงินทุนสตาร์ทอัพขั้นเริ่มต้นให้เติบโต 3,000 แห่ง
- “Growth Promotion Platform” เปิดตัว “แพลตฟอร์มส่งเสริมการเติบโต” ของสตาร์ทอัพ ให้ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะ และดึงดูดนักลงทุน
- “Productization 180” ให้ธุรกิจนำไอเดียไปใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างรวดเร็วภายใน 180 วัน
- “Testbed City Seoul” ให้พื้นที่ทดสอบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสำหรับสตาร์ทอัพที่ขาดช่องทาง โดยจะมอบพื้นที่ให้ธุรกิจนวัตกรรม 500 แห่งภายในปี 2023
- “Global Market” ตลาดที่จะผลักดันให้สตาร์ทอัพเกาหลีเข้าสู่ตลาดโลก
นอกเหนือจากรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพของเกาหลีใต้ ยังมีส่วนจากทางนักลงทุน และเอกชนอื่นๆ ที่ร่วมด้วยเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันเกาหลีใต้ยังคงเป็นรองประเทศต่างๆ ในด้านจำนวนยูนิคอร์น และสภาพแวดล้อมบางอย่าง แต่เรียกได้ว่าประเทศนี้กำลังมาแรง วงการสตาร์ทอัพคึกคัก ซึ่งในอนาคตเราอาจได้เห็นเกาหลีใต้ขึ้นมาอยู่ในอันดับท็อปๆ ของวงการสตาร์ทอัพระดับโลกได้ ด้วยการผลักดันอย่างเต็มที่ และวางแผนขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตของรัฐบาล
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/911669
https://adaymagazine.com/korea-start-up/
https://www.creatrip.com/th/blog/8876
https://www.the101.world/start-up-korean-series/