“ป่วย” ต้องกินยา
เมื่อคุณป่วยต้องไปพบแพทย์ จากนั้นแพทย์อาจจะสั่งยาให้เรารับประทาน ซึ่งผลของยาจะช่วยให้ร่างกายของเราดีขึ้น ฟื้นกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง แต่ทำไมสิ่งที่เรียกว่า “ยาเม็ดและยาน้ำ” จึงสามารถส่งผลกับร่างกายได้ขนาดนั้น แล้วยาที่เรากินเข้าไปมีกลไกการทำงานในร่างกายอย่างไร?
ยาที่เรากินเข้าไปรู้ได้อย่างไรว่าต้องไปรักษาที่ไหน
ยาเม็ดและยาน้ำที่เรานำเข้าสู่ร่างกายโดยการกิน จะเดินทางเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร ในระหว่างเดินทางไปยังกระเพาะอาหารและลำไส้ ยาจะถูกดูดซึมเกือบทุกอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยาแต่ละตัวมีคุณสมบัติทางเคมีต่างกัน ดังนั้น “สมบัติทางเคมี” ของยาจะเป็นตัวกำหนดว่ายาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่บริเวณไหนมากกว่ากัน แต่ปกติแล้ว ยาทั่วไปจะดูดซึมได้ดีและหมดที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก
ยาที่เข้าสู่ร่างกายโดยการกิน ไม่ว่าจะเป็นยาน้ำหรือยาเม็ด จะละลายกลายเป็นโมเลกุลเล็กๆ แล้วผสมเข้ากับของเหลวในระบบทางเดินอาหาร จากนั้นบางส่วนจะซึมผ่านผนังของอวัยวะในระบบทางเดินทางอาหารก่อนที่จะเข้าสู่กระแสเลือด ก่อนตัวยาจะถูกลำเลียงไปพร้อมกับเลือดเพื่อเข้าสู่ตับ ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงของยา
เมื่อยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด จะกระจายไปตามเส้นเลือดที่แตกแขนงออกไปยังอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย ซึ่งส่วนประกอบของเลือดนั้นมีอยู่มากมาย แต่องค์ประกอบสำคัญๆ ได้แก่น้ำและโปรตีน คุณสมบัติของยาบางตัวจะจับกับโปรตีนที่อยู่ในเลือด ในขณะที่ยาบางตัวมีองค์ประกอบทางเคมีที่ไม่จับกับโปรตีนในเลือด ยาจึงสามารถซึมออกมานอกเส้นเลือด เข้าสู่อวัยวะต่างๆ ได้
การเปลี่ยนแปลงของยา
เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะไม่คงสภาพอยู่ในรูปเดิมตลอด เนื่องจากคุณสมบัติทางเคมีของยาจะละลายไปผสมกับสารเคมีต่างๆ ในร่างกาย เมื่อไปเจอกับองค์ประกอบทางเคมีอื่นๆ ในร่างกาย ก็จะทำปฏิกิริยากัน ยาก็จะเปลี่ยนรูปเป็นสารอื่นได้
“ตับ” เป็นอวัยวะที่มีบทบาทมากในการเปลี่ยนแปลงรูปของยา เมื่อยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เลือดก็จะลำเลียงยามาสู่ตับด้วยเช่นเดียวกัน ตัวยาที่ผ่านตับแล้วจะเปลี่ยนสภาพ อาจจะเริ่มหมดฤทธิ์ (เตรียมขับถ่ายออก) มีฤทธิ์เพิ่มขึ้น หรืออาจแปรสภาพเป็นพิษต่อร่างกายก็ได้เช่นกัน (ดังที่เห็นตามฉลากยาว่า “ไม่ควรกินยาตัวนี้เกิน…วัน เพราะจะมีผลต่อการทำงานของตับ” นั่นเอง)
ยาที่แตกตัวแล้วถูกดูดซึมเข้ากระแสะเลือด เปลี่ยนสภาพการออกฤทธิ์แล้ว ยาที่อยู่ปนในน้ำเลือดจะถูกลำเลียงไปทั่วร่างกาย แต่เมื่อเลือดพายามาถึงจุดที่เรามีอาการ (หรือจุดที่ยาต้องออกฤทธิ์) สมบัติทางเคมีในตัวยาจะออกฤทธิ์โดยปฏิกิริยากับบริเวณนั้นของร่างกาย ซึ่งจะไประงับหรือยับยั้งอาการป่วยที่ร่างกายแสดงออกมา จากนั้นสมองจะสั่งการให้อาการป่วยที่ว่านั้นดีขึ้น จึงบรรเทาอาการเจ็บป่วยนั้นได้
ยกตัวอย่าง “ยาพาราเซตามอล” ที่หลายคนมักบ่นว่า ไม่ว่าจะไปหาหมอด้วยอาการใด หมอก็จะจ่ายยาพาราฯ มาให้เสมอ ซึ่งกลไกการทำงานของยาพาราเซตามอล เมื่อตัวยาถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด ยาจะไปตอบสนองกับสารจากระบบประสาทส่วนกลาง (สารที่ทำให้เราเกิดอาการปวด) สารเคมีในยาจะไประงับการทำงานของสารตัวนั้น อาการปวดจึงค่อยๆ ดีขึ้น เป็นเหตุผลว่าไม่ว่าเราจะปวดอะไรก็ตาม ยาพาราฯ จึงเป็นยาที่ถูกจ่ายออกมาบ่อยๆ เพราะช่วย “ระงับอาการปวด” แต่ถ้ามีการวินิจฉัยที่ลึกกว่านั้นว่าไม่ใช่อาการปวดธรรมดา ยาพาราฯ ก็ไม่มีผลต่อการรักษา
ของที่กินเข้าไปก็ต้องถูกกำจัดออก
กลไกปกติของร่างกายเมื่อเรากินเข้าไปจะต้องผ่านกระบวนการย่อยสลาย ดูดซึมสารเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนกากหรือเศษที่เหลือจะต้องถูกกำจัดออกจากร่างกาย ซึ่งจะออกมาในรูปของของเสียอย่างอุจจาระหรือปัสสาวะ
ยาที่ละลายในน้ำได้ง่ายก็จะไม่เหลือกากในรูปของแข็ง แต่อยู่ในรูปของเหลว แล้วขับออกมาในรูปของปัสสาวะ ยาบางตัวถูกขับออกมาจากตับ ผ่านไปยังลำไส้เล็ก แล้วไปสิ้นสุดที่ลำไส้ใหญ่ (อวัยวะในขั้นตอนสุดท้ายของระบบย่อยอาหาร) แล้วปะปนออกมากับอุจจาระ (ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การกินธาตุเหล็กเสริมหลังบริจาคเลือด ที่ซองยาจะระบุว่ายานี้อาจทำให้อุจจาระเปลี่ยนสี นั่นเป็นหลักฐานว่ายาถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระ)
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่ายาเป็นสารเคมี และร่างกายมองว่ายาเป็น “สิ่งแปลกปลอม” ซึ่งปกติแล้วร่างกายเราจะพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอมออก ทำให้สารเคมีของยาบางส่วนอาจถูกกำจัดไปก่อนที่จะได้ออกฤทธิ์รักษา จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแพทย์ที่จ่ายยาต้องคำนวณปริมาณยาให้ถูกต้อง โดยมีปัจจัย เช่น อายุ น้ำหนักตัว เพื่อให้ฤทธิ์ยาที่กินเข้าไปสามารถเดินทางไปถึงตับ และส่งไปยังส่วนที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในขณะเดียวกันยาก็จะออกฤทธิ์ ต่อร่างส่วนอื่นที่ไม่ได้เจ็บป่วยด้วย ทำให้เกิดผลบางอย่างที่เรามักรู้จักกันว่า ผลข้างเคียง ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายก็ได้ เช่น อาจง่วงนอน คลื่นไส้อาเจียน โดยถ้าหากไม่มีประโยชน์เรามักจะเรียกว่า ผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
สำหรับกรณีที่เราใช้ยาในขนาดที่สูงกว่าขนาดของยาที่ใช้ในการรักษา ก็จะทำให้ระดับยาในกระแสเลือดสูงกว่าระดับที่ปลอดภัย ทำให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาจนเกิดเป็นพิษต่อร่างกาย เช่น ตับ ไต และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งเรามักได้ยินกันว่า กินยาเกินขนาดนั่นเอง
ส่วนการแพ้ยานั้น เป็นอาการที่แสดงเมื่อได้รับยาชนิดหนึ่งเข้าไปแล้ว ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเพื่อต่อต้านยา ในระยะแรกอาจไม่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น แต่เมื่อได้รับยาเดิมนั้นอีก ยาจะไปทำปฏิกิริยากับภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้น จนเกิดอาการแพ้ซึ่งคล้ายคลึงกับการแพ้อาหารหรือสารเคมี โดยอาจจะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเกิดขึ้นทันทีทันใดก็ได้ อาการมีตั้งแต่ผื่นคัน ลมพิษ หอบ ไข้สูง หรือช็อกเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
“ยา” เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการรักษาอาการเจ็บป่วย แต่ทุกสิ่งในโลกย่อมมีทั้งคุณและโทษในตัวเอง ดังนั้นจึงระมัดระวังในการใช้ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและมีโทษน้อยที่สุด
อ้างอิง
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=541
https://med.mahidol.ac.th/ramapharmacy/th/howtotakemedicines
https://www.sanook.com/health/25195/
https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/60941/-scihea-sci-