“น่ารักจังเลยย”
“หนูเก่งจังเลยยย”
“โตขึ้นต้องหล่อแน่ๆ”
ใครเคยพูดเสียงเล็กๆ เหมือนเด็กกับแมว สุนัข หรือสิ่งมีชีวิตแสนน่ารักกันบ้าง?
ถ้าใช่ ขอให้รู้ว่าคุณไม่ได้ทำแบบนั้นอยู่คนเดียวและนี่คือเรื่องปกติที่คนทั่วโลกทำตามสัญชาตญาณ
คุณทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร?
เรื่องนี้วิทยาศาสตร์มีคำตอบ Courtney Glashow นักจิตวิทยาและเจ้าของสถาบัน Anchor Therapy ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การพูดเสียงเล็กเสียงน้อย (Baby Voice) เป็นไปตามสัญชาตญาณในการสื่อสารกับเด็กของมนุษย์ สิ่งนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่อเราต้องการพูดกับเด็กที่ยังไม่เข้าใจภาษา เราจะใช้โทนเสียงที่สูงขึ้น พูดช้าลง ใช้คำง่ายๆ และพูดซ้ำ
เนื่องจากเราเข้าใจอยู่แล้วว่าคู่สนทนาไม่เข้าใจภาษาอย่างแน่นอน เราจึงพยายามแสดงออกทางกายภาพ เช่น โทนเสียงที่สูงขึ้นเป็นการแสดงออกไปในทางบวก ว่าเรากำลังมอบความรักให้ และไม่ได้ตั้งใจจะทำร้าย หรือข่มขู่ใดๆ
แถมการพูดด้วยเสียงเล็กเสียงน้อย พูดช้าๆ พูดซ้ำๆ ยังเป็นส่วนช่วยในการเรียนรู้ภาษาของเด็กเล็กด้วย และเป็นการดึงความสนใจของเด็กเล็กได้ (แต่ในช่วงที่เด็กเริ่มเรียนรู้การพูด – การสนทนาอย่างจริงจัง การพูดเสียงสองอาจไม่เวิร์กเท่าใดนัก)
แล้วเราพูดเสียงสองกับสัตว์เลี้ยงทำไมกัน?
เช่นเดียวกับเด็ก ในเมื่อเจ้าสัตว์เลี้ยงของเรามันน่ารักซะขนาดนั้น แถมสัตว์เลี้ยงเองก็ตัวเล็กกว่าเรามากจนความเอ็นดูทำปฏิกิริยากับสัญชาตญาณ และทำให้เราเผลอเสียงสูงโดยอัตโนมัติ เพราะเราต้องการแสดงความรัก และรู้สึกว่าสัตว์ก็ต้องการการปกป้อง (ไม่โดนพูดเสียงดังหรือตะโกนใส่)
Emily Bray นักวิจัยด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania พบว่าโทนเสียงที่มนุษย์ใช้มีผลต่อปฏิกิริยาของสัตว์ โดยเฉพาะสุนัขจะรับรู้ความรู้สึกของคุณได้จากโทนเสียง และแน่นอนว่าเสียงสูงคือเสียงที่เป็นมิตรสำหรับสุนัข แถมบางครั้ง เจ้าตูบยังใช้เสียงสูงของตัวเองตอบสนองกลับมาเพื่อแสดงความรักด้วย เช่น การร้อง หงิงๆ ตอนอ้อนนั่นเอง
การเผลอพูดเสียงสองใส่สิ่งมีชีวิตน่ารักน่าชัง ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือสัตว์เกิดจากสัญชาตญาณการพยายามแสดงความรัก และเป็นมิตร ถ้าครั้งหน้าที่คุณเผลอเสียงเล็กใส่ใครหรือตัวอะไรก็ขอให้รู้ว่าสัญชาตญาณคุณกำลังเอ็นดูสิ่งนั้นแบบสุดๆ
อ้างอิง
https://www.beartai.com/news/sci-news/296584
https://thematter.co/brief/higher-pitch-talk-works-with-puppy/52542