สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดประกวดนวัตกรรม ภายใต้โครงการ “ประกวดทักษะการพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมระดับประเทศ FabLab Thailand Student Design and Engineering Project Competition 2020” โดยการประกวดครั้งนี้ในสาขา “พลิกฟื้นคืนวิถีชุมชน” ทีมจากโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จ.ลำพูน ได้รางวัลชนะเลิศด้วยผลงาน “ตักบาตรเติมบุญ”
สำหรับผลงาน “ตักบาตรเติมบุญ” คือการออกแบบฝาบาตรที่มี GPS คอยติดตามตำแหน่งของหลวงพ่อที่ออกบิณฑบาต เพื่อให้ญาติโยมสามารถทราบตำแหน่งของพระได้แบบ Real Time ไม่ต้องยืนรอใส่บาตรนาน หรือพลาดไม่ทันตักบาตร โดยน้องๆ ออกแบบฝาบาตรและพิมพ์ด้วยเครื่อง 3D Printer มาทดแทนฝาบาตรแบบเดิม และมีการจัดองค์ประกอบของฝาแบบที่ถอดล้างได้ สามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน
โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ร่วมทีมออกแบบได้แก่นายบารมี ปัญญาเฟือน (น้องบูม) นางสาวศุชานุช รินคำ (น้องชมพู่) นางสาวกณิศนันท์ ทองสกุล (น้องแยม) โดยมีนายปกรณ์ กสินฤกษ์ หรือครูอาร์ต อาจารย์สอนคอมพิวเตอร์เป็นที่ปรึกษา
นายบารมี หัวหน้าทีมกล่าวว่า แนวคิดนี้มาจากเมื่อก่อนได้มีโอกาสใส่บาตรตอนเช้า ก่อนไปโรงเรียน เพราะพ่อแม่ให้ใส่บาตรทุกเช้า และเนื่องในโอกาสต่างๆ พอเข้ามาเรียนในเมืองเห็นความแตกต่างของการเดินบิณฑบาต ผู้คนไม่ค่อยใส่บาตรกัน พอดีมีอาจารย์มีโครงการมานำเสนอ สาขาพลิกฟื้นคืนวิถีชุมชน ก็เลยรวมตัวกันมาคิดต่อยอดปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรกับโครงงานนี้
ส่วนนางสาวศุชานุช กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการที่นำไปใช้จริงในเวอร์ชันเดิมก็ได้รับการตอบรับมาว่าตัวฝาบาตรเดิมนั้นมีน้ำหนักมากเกินไป และแอปพลิเคชันนั้นใช้งานยากเกินไปสำหรับผู้สูงอายุ เราก็ได้นำมาพัฒนารุ่นใหม่ให้มีน้ำหนักเบา ปรับเปลี่ยนตัวโมดุลให้มีความเสถียรมากยิ่งขึ้นในการแจ้งพิกัดของพระสงฆ์ สำหรับตัวแอปพลิเคชันเราก็ปรับให้ทันสมัยมากขึ้น
นางสาวกณิศนันท์ หรือน้องแยม ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นำคำแนะนำต่างๆ มาปรับ ในส่วนของตัวฝาบาตรด้านบนปรับให้มีความแข็งแรง และช่วยการทำความสะอาดให้ง่ายขึ้น
สำหรับแนวคิดฝาบาตรพระติด GPS เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงเป้าหมาย ปัจจุบันการที่ชาวบ้าน – ผู้คนที่ต้องการจะตักบาตรให้กับพระสงฆ์ที่บิณฑบาตในตอนเช้า จะไม่สามารถระบุเวลาได้แน่ชัดว่า พระจะมารับบิณฑบาตเวลาใด เพราะมีการคลาดเคลื่อนแล้วแต่กิจของสงฆ์ขณะบิณฑบาต ซึ่งอาจจะทำให้ญาติโยมต้องรอเพื่อตักบาตรเป็นเวลานาน
ระบบนี้จึงมาแก้ไขปัญหา โดยไม่ทำให้วิถีของวัฒนธรรมเดิมเปลี่ยนไป ญาติโยมสามารถรู้ได้ว่าพระอยู่ที่ตำแหน่งใด ใกล้ถึงที่บ้านของเราหรือยัง ซึ่งระหว่างที่รอสามารถไปทำกิจกรรมอื่นๆ ก่อนแล้วค่อยมารอตักบาตรตอนที่พระท่านใกล้จะมาถึงที่บ้าน
อ้างอิง
https://www.facebook.com/tukbathtermboon/
https://www.beartai.com/news/it-thai-news/488411
https://www.smartsme.co.th/content/241537