อายุเท่านี้..ควรมีเงินเก็บเท่าไหร่?
ตอนนี้อายุเท่าไหร่..มีอะไรเป็นของตัวเองแล้วบ้าง?
คำถามพวกนี้มักโผล่เข้ามาในความคิดของคนช่วงวัยกลางคน หรือที่คุ้นเคยในคำว่า “วิกฤติวัยกลางคน” (Midlife Crisis) เพราะผู้คนในช่วงอายุ 35-50 ปี มักจะหมกมุ่นกับชีวิตของตัวเองอย่างจริงจัง ด้วยความที่ต้องแบบรับภาระหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หน้าที่การงาน เงิน หรือสุขภาพ จึงนำไปสู่การตั้งคำถามใน “คุณค่าที่แท้จริง” ของชีวิต ซึ่งบางครั้งก็ถูกทำให้บิดเบี้ยวผ่านการกฎเกณฑ์ของผู้อื่น
คนทุกวัยหมกมุ่นกับความมั่นคง
ปัจจุบันความกดดันไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในวัยกลางคน แต่เกิดขึ้นกับคนทุกวัย ไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ จะเห็นว่าเด็กสมัยนี้เรียนพิเศษกัหน้าดำคร่ำเครียด เพื่อดันตัวเองให้ไปสู่ความเป็น Gifted หรือ “เด็กอัจฉริยะ” ที่ผู้ใหญ่ชอบนิยามว่า “เก่งเกินอายุจังเลยนะเนี่ย” แต่ถ้าถามถึงเวลาว่างหรือกิจกรรมต่างๆ แทบจะสวนทางกันโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ผู้ใหญ่เองก็อาจไม่รู้ว่าคำชมที่พูดออกไป กำลังกดดันให้เด็กคนอื่นๆ ต้องดันตัวเองให้เก่งเกินอายุแบบไม่รู้ตัว พวกเขาต้องมานั่งคิดว่าการเป็นเด็กที่ค่อยๆ เติบโตไปแบบคนธรรมดาคือเด็กที่ไม่มีมีคุณค่าในสังคมหรือเปล่า
LinkedIn แพลตฟอร์มจัดหางานชื่อดังเผยแพร่ผลการวิจัยหนึ่ง บ่งชี้ว่า 75% ของผู้คนวัย 25-33 ปี กำลังเผชิญหน้ากับ Quarter-Life Crisis หรือ “วิกฤติวัยรุ่นตอนปลาย-ผู้ใหญ่ตอนต้น” โดยนิยามวิกฤตินี้ว่าเป็น “ช่วงที่คนวัย 20 ปีตอนกลางไปถึง 30 ปีตอนปลาย ได้ก้าวผ่านความไม่ปลอดภัยและสงสัยในหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ และการเงินของตัวเอง” ซึ่งรายละเอียดสำคัญของผลการวิจัยได้เผยอีกว่า กว่า 80% ของคนเหล่านี้ รู้สึก “กดดัน” เพราะกลัวตัวเองจะไม่ประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตก่อนเข้าอายุ 30 ปี ด้วยความกลัวที่ว่าจะหางานที่ตัวเองชอบไม่ได้ คือเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขากระวนกระวาย รองลงมาคือการหาคู่ชีวิต และการจัดการกับค่าเล่าเรียนของตัวเอง
ทุกวัยมีช่วงเวลาที่ต้องหมกหมุ่นกับคุณค่าในชีวิตของตัวเอง จนอาจนำไปสู่การตั้งคำถามถึงการมีชีวิตอยู่ (existential crisis)
หลุดพ้นวิกฤติ เพื่อให้ชีวิตได้เดินต่อ
ที่ผ่านมาเราดำเนินชีวิตตามปกติ ด้วยงานที่พอทำได้ เงินเดือนที่ไม่น้อยสักเท่าใดนัก สามารถกิน – ใช้แบบไม่อัตคัด ความสัมพันธ์ที่เรียบง่ายราวกับชีวิตนี้ไม่ต้องการอะไรอีก จนกระทั่งกดเข้าเฟซบุ๊ก แล้วพบว่าเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยได้เข้าทำงานที่บริษัทใหญ่โต มีเงินเดือนเลขหลายหลัก และกำลังจะแต่งงานเร็วๆ นี้
จู่ๆ ก็รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองมีนั้น…“ยังไม่เพียงพอ”
แทนที่เราจะมองเห็นสิ่งที่มี กลับโฟกัสสิ่งที่ขาด
คนเรามักไม่รู้ตัวว่าการทำร้ายตัวเองง่ายๆ ก็คือการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ที่สำคัญ “โซเชียลมีเดีย” คือชนวนทำให้คนทุกรุ่นติดกับดักนี้ เพราะเป็นยุคที่ความสำเร็จวัดกันด้วยยอดไลก์ ยอดแชร์ ยอดติดตาม ทุกคนจึงถูกกระตุ้นให้นำเสนอแต่ด้านสวยงามของชีวิต น้อยคนที่จะโพสต์ประกาศให้โลกรู้ว่ากำลังตกงาน เลิกกับแฟน หรือบ้านโดนยึด
ทุกคนไม่สมบูรณ์แบบ เพียงแต่เลือกที่จะไม่นำเสนอ เราเองก็เช่นกัน
ก่อนจะคิดเปรียบเทียบกับใคร อย่าลืมว่าบริบทของเราและเขาไม่มีทางเหมือนกัน 100% ด้วยต้นทุนและเงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้นลองตามหานิยามความสำเร็จสำหรับเราคืออะไร ซึ่งเป้าหมายที่เราตั้งไว้ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร ขอเพียงเราตั้งจุดหมายแล้วไปให้ถึงก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
เป้าหมายมีไว้พุ่งชน
การนิยามความสำเร็จของตัวเองจะช่วยทำให้มองเห็นชัดขึ้นว่า ควรจะมุ่งเป้าไปที่การกระทำแบบใด ควรแคร์สิ่งไหนมากที่สุด และสิ่งนั้นนำไปสู่ความสุขได้จริงหรือไม่ เพราะถ้าหากเอาความสำเร็จของเราไปผูกติดกับความสำเร็จของคนอื่นเมื่อใด แน่นอนว่าเราไม่มีทางค้นพบคุณค่าที่แท้จริงของตัวเอง
สมมุติว่าความสุขของเราคือการมีเวลาว่างหลังเลิกงานซึ่งก็คือนอนดูซีรีส์ที่บ้าน แต่เรามัวแข่งปั่นโปรเจกต์กับเพื่อนร่วมงานจนดึกดื่นเพราะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาเขาคนนั้นโบนัสขึ้นรัวๆ หากเป็นเช่นนั้นแปลว่าเราได้เผลอทำความสุขที่แท้จริงซึ่งควรจะเกิดขึ้นที่บ้าน หล่นหายไปท่ามกลางกองงานที่ออฟฟิศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นึกให้ออกว่าเป้าหมายไหนในชีวิต “สำคัญ” ที่สุด เรียงลำดับออกมาให้ได้ และทำตามเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ อาจเปรียบเทียบกับคนอื่นบ้างให้พอมีแรงขับเคลื่อน ไม่ใช่เพื่อกดตัวเองให้ต่ำลง เพราะขึ้นชื่อว่าวิกฤติถ้าไม่สามารถหลุดพ้นได้ก็พลิกให้เป็นโอกาส หากเราใช้ให้เป็นประโยชน์มากพอ สิ่งที่ได้กลับมาก็คือเราในเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเดิม
อ้างอิง :
inc.com
moneycrashers.com
https://thematter.co/social/life-crisis-in-all-generations/115931