ดวงตาสำคัญไฉน
“ดวงตา” เป็นอวัยวะสำคัญที่มีบทบาทและมีคุณค่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่เราเรียนรู้ในชีวิตล้วนมาจากการมองเห็น การมองเห็นจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต
ไม่มีใครอยากพิการทางสายตา
ในทางการแพทย์ คนที่บกพร่องทางการมองเห็น หรือที่เรียกว่า คนตาบอด หมายถึงผู้ที่มองไม่เห็น หรือ พอเห็นแสง เห็นเลือนราง และมีความบกพร่องทางสายตาทั้งสองข้าง โดยมีความสามารถในการมองเห็นได้ไม่ถึง 1/10 ของคนปกติ (10% ในการมองเห็นเมื่อเทียบกับคนสายตาปกติ) หลังจากที่ได้รับการรักษาและแก้ไขทางการแพทย์ หรือมีลานสายตา (ระยะกว้างของการมองเห็น) กว้างไม่เกิน 30 องศา
จากบทความในนิตยสารทางการแพทย์ของอังกฤษ แลนเซตโกลบอลเฮลท์ (Lancet Global Health) คาดการณ์ไว้ว่า ในอนาคตจะมีผู้พิการทางสายตาเพิ่มจาก 36 ล้านคนเป็น 115 ล้านคนในปี 2050 หากยังไม่มีเงินทุนในการรักษาที่เพียงพอ โดยจำนวนประชากรและจำนวนผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นซึ่งมักเป็นโรคต้อกระจกและสายตายาว รวมถึงการรักษาโรคตาที่ไม่ถูกวิธีมีส่วนในการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้พิการทางสายตา โดยในปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกมากกว่า 200 ล้านคนที่มีความบกพร่องทางสายตาตั้งแต่ระดับปานกลางจนถึงขั้นรุนแรง
สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลใน 188 ประเทศ ตั้งแต่ปี 1990 (พ.ศ. 2533) พบอัตราผู้พิการทางสายตา ร้อยละ 0.75 กระทั่งถึงปี 2015 (พ.ศ. 2558) เพิ่มเป็นร้อยละ 0.48 ซึ่งสาเหตุหลักของการตาบอดนั้นมาจากโรคชรา โดยพื้นที่ที่มีความหนาแน่นผู้พิการดวงตามากที่สุดอยู่ที่เอเชียใต้และแอฟริกากลาง
ขณะที่ประเทศไทยมีผู้พิการทางการมองเห็นในปี 2562 จำนวน 192,019 คน (หญิง 100,951 คน, ชาย 91,068 คน) คิดเป็นร้อยละ 9.37 ของผู้พิการทั้งหมดในประเทศ (ข้อมูลประชากรประเทศไทย : สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562)
ทุกคนมีโอกาสกลับมามองเห็นอีกครั้ง
“เรตินา 3 มิติ” ความหวังใหม่ผู้บกพร่องทางสายตา
ทีมนานาชาติที่นำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง (HKUST) ได้พัฒนาตาเทียม 3 มิติดวงแรกของโลก ที่มีความสามารถเหนือชั้นกว่าตาอิเล็กทรอนิกส์ชีวภาพ 2 มิติ (ไบโอนิก อายส์) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เวลาหลายสิบปีในการจำลองโครงสร้างและความคมชัดในการมองเห็นของดวงตาชีวภาพ ทว่าวิสัยทัศน์จากดวงตาเทียมส่วนใหญ่ที่มีลักษณะเป็นแว่นตาติดสายเคเบิล มีเซ็นเซอร์รับภาพระนาบแบน 2 มิติที่ยังให้ความละเอียดในระดับต่ำ
สำหรับดวงตาไฟฟ้าเคมี (EC-Eye) ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยฮ่องกง เป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกที่จำลองโครงสร้างดวงตาธรรมชาติสำเร็จเป็นครั้งแรก ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้สวมใส่มองเห็นได้ชัดเจนยิ่งกว่าการใช้ดวงตาของมนุษย์อีกด้วย ทั้งยังมีคุณสมบัติพิเศษอย่างความสามารถในการตรวจจับรังสีอินฟราเรดในความมืด ส่วนองค์ประกอบสำคัญที่เอื้อให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเช่นนี้ก็คือ “เรตินาเทียม 3 มิติ” ที่ทำขึ้นจากเซ็นเซอร์วัดแสงลวดนาโน ที่สร้างโดยเลียนแบบเซลล์รับแสงในเรตินาของมนุษย์
ฟ่านจื้อหย่ง ศาสตราจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ม.ฮ่องกง ผู้นำทีมวิจัยดังกล่าวว่า ทีมได้เชื่อมต่อเซ็นเซอร์วัดแสงลวดนาโนเข้ากับชุดลวดโลหะเหลว ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนเส้นประสาทด้านหลังเรตินารูปครึ่งวงกลมที่ทีมประดิษฐ์ขึ้น และประสบความสำเร็จในการส่งสัญญาณภาพให้ฉายสิ่งที่ดวงตาเทียมนี้มองเห็นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้
คณะนักวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่าเนื่องจากเส้นลวดนาโนมีความหนาแน่นสูงกว่าตัวรับแสงในเรตินาของมนุษย์ เรตินาเทียมจึงสามารถรับสัญญาณแสงได้มากกว่าและอาจแสดงภาพที่มีความละเอียดได้สูงกว่าเรตินาของมนุษย์
“แม้จะไม่คำนึงถึงความละเอียดของภาพ มุมมอง หรือความเข้ากันกับผู้ใช้ ทว่าดวงตาชีวภาพในปัจจุบันก็ยังไม่เหมาะกับการใช้งานของมนุษย์ เราจึงจำเป็นต้องเร่งสรรหาเทคโนโลยีใหม่มาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และกลายเป็นสิ่งกระตุ้นอย่างแรงกล้าในการทำโครงการสุดแหวกแนวนี้” ศาสตราจารย์ฟ่านกล่าว
“เราวางแผนจะปรับปรุงประสิทธิภาพ ความเสถียร และความเข้ากันได้ทางชีวภาพของอุปกรณ์ในขั้นต่อไป ทั้งยังหวังว่าจะมีโอกาสได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยทางการแพทย์ ที่ชำนาญในด้านทัศนมาตรศาสตร์และดวงตาเทียมด้วย”
คณะวิจัยได้ร่วมดำเนินโครงการนี้กับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งการค้นพบนี้ได้รับการเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ในวารสารวิทยาศาสตร์ “เนเจอร์” (Nature)
ชีวิตมีความหวังเสมอ…
อ้างอิง :
https://www.khaosod.co.th/newspaper-column/sci-tech/news_462022
https://www.voicetv.co.th/read/512764
https://www.sanook.com/women/36965/
http://dep.go.th/Content/View/6353/1
https://www.mcot.net/view/5ee5b881e3f8e40af9456a02
https://www.xinhuathai.com/tech/113136_20200610
https://www.smartsme.co.th/content/238365