Home Body “หลับ” ฝันดี..มีคุณภาพ ต้องนอนเคียงข้าง “คนรู้ใจ”

“หลับ” ฝันดี..มีคุณภาพ ต้องนอนเคียงข้าง “คนรู้ใจ”

by Lifeelevated Admin2

กินอะไรเราก็เป็นอย่างนั้น (You are what you eat)

นอนอย่างไรเราก็เป็นอย่างนั้นเช่นเดียวกัน

1 ใน 3 ของชีวิตคนเราจำเป็นต้องพักผ่อน ใน 1 วันสุขภาพจะดีได้ต้องนอนหลับให้เพียงพอไม่น้อยกว่า 7 – 8 ชั่วโมง เราจึงจะตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่นแจ่มใส กระปรี้กระเปร่า ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจจะหายไป กระบวนการต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ความจำ ระบบภูมิคุ้มกัน ก่อเกิดเป็นคุณภาพของชีวิต (ในวันใหม่) เปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์ แต่หากนอนหลับๆ ตื่นๆ นอนน้อย เราจะตื่นขึ้นมาด้วยความง่วงเหงาหาวนอน งัวเงีย มึนงง คล้ายกับว่ายังไม่พร้อมจะเริ่มชีวิตในวันใหม่

“นอนหลับ” เป็นอีกส่วนหนึ่งของสุขภาพจิต ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสุขภาพกายและการเจ็บป่วย งานวิจัยพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการอดนอนกับการเป็นอัมพาต การนอนน้อยกว่า 7-8 ชม. ทำให้มีโอกาสเป็นอัมพาตมากขึ้น งานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น (JACC Study) พบว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างการอดนอนกับการเพิ่มขึ้นของอัตราการตายด้วยโรคหัวใจขาดเลือดและโรคอื่นๆ

ฮอร์โมนเมลาโทนินและเซโรโทนินสัมพันธ์กับการนอนหลับ โดยปล่อยออกมาจากต่อมที่ใจกลางสมองในลักษณะสัมพันธ์กับนาฬิกาชีวิต (Biological Clock) เป็นนาฬิกาเสมือนที่อยู่ในสมอง ซึ่งตัวบอกเวลาที่ว่านี้จะรับทราบแสงอาทิตย์และความมืด แล้วปล่อยฮอร์โมนให้เกิดการง่วงและตื่นให้สมดุลกัน

แสงแดดมีอิทธิพลมากต่อการง่วงและการตื่น

“นอน” อย่างไร..ให้มีคุณภาพ?

นักวิจัยรายงานการศึกษาเกี่ยวกับการนอนหลับในวารสารวิชาการ Frontiers in Psychiatry เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากการศึกษาคู่รักสุขภาพดี 12 คู่ ในห้องปฏิบัติการทดลองเรื่องการนอนเป็นเวลา 4 วัน โดยให้กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ทั้งนอนคนเดียวแล้วนอนกับคนรักที่รู้ใจ

โดยนักวิจัยศึกษาการทำงานของสมองและระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งคุณภาพของการนอนตลอดช่วงการทดลองดังกล่าว

นักวิจัยพบว่า เมื่อคู่รักนอนบนเตียงเดียวกันพร้อมๆ กัน คุณภาพของการนอนจะดีกว่าเมื่อนอนคนเดียว โดยคุณภาพของการนอนที่ว่านี้วัดได้จากระดับของการพักผ่อนที่เรียกว่า REM Stage (Rapid Eye Movement)

REM เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการนอน เพราะช่วยให้ร่างกายประมวลรวบรวมความจำ ควบคุมอารมณ์ แก้ปัญหาต่างๆ และทำให้เราฝัน

ปกติร่างกายจะ “นอน” ต้องผ่านสี่ขั้นตอน

ขั้นแรก เราจะเริ่มหลับอย่างเบาๆ แต่ไม่ลึก

ขั้นสอง ร่างกายจะไม่รับรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัว

ขั้นสามและสี่ เป็นช่วงที่เราหลับสนิท ร่างกายจะใช้การนอนนี้ฟื้นฟู ซ่อมแซมส่วนต่างๆ และเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า REM ซึ่งทำให้เราเริ่มฝัน

นักวิจัยอธิบายว่า การหลับในขั้น REM นี้อาจเกิดขึ้นในช่วงใดก็ได้ของการนอน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้น 90 นาทีหลังจากที่หลับ โดยในช่วงของ REM แขนและขาจะไม่เคลื่อนไหว ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับตัวเอง ในกรณีที่อาจจะฝันแบบโลดโผนมากเกินไป

หากนอนหลับได้ดีและมีคุณภาพ ช่วงของการหลับแบบ REM อาจเกิดซ้ำได้หลายครั้ง ซึ่งการหลับสนิทเป็นประโยชน์ต่อการประมวลความจำ ซ่อมแซมกล้ามเนื้อ ฟื้นฟูระบบภูมิต้านทาน และสร้างเซลล์ประสาทขึ้นใหม่

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การหลับอย่างมีคุณภาพซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายและสมองนี้มักเกิดขึ้นหากนอนบนเตียงเดียวกับคนที่รู้ใจหรือมีความสัมพันธ์ที่ดีด้วย แน่นอนว่าคุณภาพของการนอนดังกล่าวย่อมมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิต สุขภาพกาย รวมทั้งต่อความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์เมื่อตื่นขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยอมรับว่า กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา 12 คู่อาจยังน้อยเกินไป และยังต้องมีการศึกษาเพื่อยืนยันข้อมูลที่ได้เพิ่มเติม

การนอนหลับอย่างเพียงพอถือเป็นสิ่งสุดสำคัญ

โรคหัวใจ ความดันต่ำ โรคเบาหวาน คือผลที่เกิดจากการนอนไม่หลับต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้นเราควรนอนหลับอย่างเพียงพอ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ฉลาด – ความจำดีขึ้น ยังทำให้รูปร่างดีได้ เนื่องจากการนอนจะช่วยให้ระบบการเผาผลาญทำงานได้ดี ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

สุขภาพดี…ทั้งภายนอกและภายใน

 

อ้างอิง :

http://medinfo2.psu.ac.th/cancer/db/news_showpic.php?newsID=70&tyep_ID=2

https://www.voathai.com/a/sleep-better-with-partner-ct/5481264.html

http://nukkeralone.blogspot.com/p/blog-page_28.html

https://bit.ly/3jf05MS

https://bit.ly/3o78MMK

https://bit.ly/3o3Ce6y

https://bit.ly/3o715pV

https://bit.ly/3j94Vez

Related Articles

Leave a Comment