“1+1 = 2 เสมอไปหรือเปล่า?”
ในวันที่เราเติบโตสู่การทำงาน “ความเป็นผู้ใหญ่” เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการตัดสินใจ ทำงาน ใช้ภาษา หรือบริหารงาน ล้วนเป็นทักษะที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่พอก้าวสู่ “ความเป็นผู้ใหญ่” หลายคนกลับหลงลืมความเป็นเด็ก มองสิ่งต่างๆ ในกรอบของความเป็นไปได้มากเกินไป จินตนาการกว้างไกลเหลือเพียงความคิดเชิงตรรกะ เหตุและผล กำไรหรือขาดทุน
“ความคิดสร้างสรรค์” เริ่มที่การหัดคิดแบบเด็ก แต่ทำแบบผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่มักเข้าใจว่าความคิดสร้างสรรค์คือการคิดอะไรแปลกใหม่หรือไม่เคยมีมาก่อนเท่านั้น อันที่จริงแล้วการคิดแบบเด็ก คือการมีอิสระที่จะคิด กล้าจินตนาการเกินจริงและมีความฝัน นี่ต่างหากคือการมีความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง เพราะการคิดแบบเด็กๆ จะทำให้คุณมองเห็นความเรียบง่าย ไม่อิงตามความเป็นจริงเกินไป ทำให้ไม่ถูกจำกัดขอบเขตทางความคิดและเมื่อพูดถึงการทำแบบผู้ใหญ่ การทำแบบผู้ใหญ่คือการคิดวางแผน การนำเอาความคิดและจินตนาการข้างต้นมาประยุกต์ใช้กับการทำงานอย่างสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน จากนั้นใช้ความมุ่งมั่น ลงมือทำให้สำเร็จดังที่ตั้งใจ และพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไปเรื่อยๆ
หากรู้สึกว่าตัวเองยึดติดความเป็นผู้ใหญ่ ย้อนวัยกลับสู่ความเป็นเด็กอีกครั้งไหม?
จินตนาการ
จินตนาการของเราหายไปเพราะระบบการเรียนและช่วงวัยที่เพิ่มขึ้น เราเริ่มไม่คิดเรื่องที่คิดว่าไร้สาระ ไม่คิดอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ ใช้เวลาคิดและจินตนาการถึงสรรพสิ่งน้อยลง ขณะที่ “เด็ก” จะคิดสร้างสรรค์เกือบตลอดเวลา เช่น จินตนาการถึงอนาคต ยานพาหนะสุดล้ำ ปีศาจหรือตัวละครในแบบของตัวเอง นี่คือพลังของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่ผู้ใหญ่หลายคนไม่มี
ทุกสิ่งเป็นจริงได้
ผมอยากเป็นหมอ หนูอยากเป็นนักบินอวกาศ ผมอยากนักฟุตบอล ตอนวัยเด็กเรามักจะมีอาชีพในฝันอยู่เสมอ แต่ด้วยเงื่อนไขบางอย่าง ทำให้ไม่สามารถเป็นสิ่งเหล่านั้นได้ง่ายนัก อาจจะทักษะความสามารถ หรือจะเป็นเหตุเชิงโครงสร้างของสังคม เราเริ่มสัมผัสถึงความเป็นจริงและความโหดร้ายของโลกใบใหญ่
กล้าตั้งคำถาม
อีกประเด็นสำคัญก็คือ “เด็ก” มักพูดสิ่งที่พวกเขาคิด ซึ่งรวมถึงการตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวด้วย ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ทำไมถึงเป็นแบบนี้ แต่พอโตขึ้นพวกเราเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามน้อยลง เพื่อรักษาหน้าหรือหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ตามมา บางครั้งเราจึงเลือกที่จะเงียบและไม่ถามดีกว่า
ไม่สนสายตาหรือคำวิจารณ์
นึกภาพเด็กกำลังเต้นและร้องเพลง พวกเขาสามารถเต้นแสดงออกท่าทางแบบเต็มที่ เต้นแบบไม่สนใจใคร เมื่อโตขึ้น “ความเป็นผู้ใหญ่” สอนให้ยับยั้งชั่งใจ สอนให้สนใจความรู้สึกคนอื่น สร้างเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-Censorship) ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์หายไป
ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงมากมายและรวดเร็ว เห็นได้จากเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นทุกปี อาทิเช่น แว่นตา VR, รถยนต์ไฟฟ้า, สมองกล และหุ่นยนต์อัจฉริยะ ในทางกลับกันสิ่งที่เราคุ้นเคยกำลังจะหายไป จากผลการวิจัยระบุว่า 65% ของเด็กที่เรียนอยู่ในตอนนี้จะต้องทำงานในอาชีพที่ปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือโลกหมุนเร็วมากจนทำให้
“สิ่งที่เด็กกำลังเรียน อาจไม่มีอาชีพนั้นในอนาคต”
หากเราไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ในตอนนี้ไปประยุกต์ใช้กับอาชีพในอนาคต ไม่สามารถคิดสร้างสิ่งใหม่ๆ หรือนำเสนอผลงานที่โดดเด่นออกมาได้ หรือหากเกิดปัญหาใหม่ๆ ปัญหาที่ซับซ้อน
เพื่อให้สังคมไทยอยู่รอด.. “เรา” ควรทำอย่างไรดี?
อ้างอิง :
https://www.gotoknow.org/posts/317210