ไมเกรน (Migraine) คืออาการปวดศีรษะชนิดหนึ่งที่ตรวจไม่พบพยาธิสภาพหรือสาเหตุในโพรงกะโหลกศีรษะ (primary headache) เกิดจากมีการหลั่งสารสื่อประสาทที่จะนำไปสู่ขบวนการอักเสบ (proinflammatory peptides) ที่ปมประสาทของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (trigeminal ganglion) ทำให้เกิดการอักเสบปราศจากเชื้อโรคที่เยื่อหุ้มสมอง (sterile meningeal inflammation) ไมเกรนมักมีอาการเป็น ๆ หายๆ โดยมีตัวกระตุ้น เช่น แสง เสียง กลิ่น ควัน อากาศร้อนและอบอ้าว เป็นต้น แม้ว่าจะรักษาไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการปวด และป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
อาการ
อาการของไมเกรน สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 อาการบอกเหตุล่วงหน้า
ระยะที่ 2 อาการนำ
ระยะที่ 3 อาการปวดศีรษะ
และระยะที่ 4 กลับเข้าสู่สภาวะปกติ
โดยอาการปวดศีรษะในระยะที่ 3 มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
สำหรับหลักเกณฑ์การวินิจฉัยอาการปวดศีรษะไมเกรน ทางสมาคมปวดศีรษะนานาชาติได้ตั้งหลักเกณฑ์การวินิจฉัยไว้ว่าจะต้องมีอาการปวดศีรษะอย่างน้อย 5 ครั้งครบตามหลักเกณฑ์ ทั้ง 3 ข้อ และไม่เข้ากับหลักเกณฑ์การวินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดศีรษะชนิดอื่น ดังต่อไปนี้
- ระยะเวลาในการปวดศีรษะ 4-72 ชั่วโมง
- มีอาการอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อ ได้แก่ อาการปวดศีรษะข้างเดียว ปวดศีรษะแบบตุบๆ ปวดศีรษะรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก หรืออาการปวดศีรษะเลวลงเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการเดิน การขึ้นบันได
- มีอาการอย่างน้อย 1 ใน 2 ข้อ ได้แก่ อาการคลื่นไส้และ/หรืออาเจียน หรืออาการกลัวแสงและกลัวเสียง
สำหรับความชุกของอาการปวดศีรษะไมเกรน จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า เพศหญิงมีความชุกมากกว่าเพศชายเป็นสัดส่วน 2 ต่อ 1 ถึง 3 ต่อ 1 และความชุกจะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยมีความชุกสูงสุด ที่อายุประมาณ 40 ปี อาการปวดศีรษะไมเกรนสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทได้แก่ อาการปวดศีรษะเป็นครั้งคราว (episodic migraine) โดยมีความถี่อาการปวดศีรษะน้อยกว่า 15 วันต่อเดือน และอาการปวดศีรษะเรื้อรัง (chronic migraine) โดยมีความถี่อาการปวดศีรษะอย่างน้อย 15 วันต่อเดือนเป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือน
การป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน
ผู้ป่วยไมเกรนแต่ละรายควรสังเกตปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ซึ่งมักจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ปัจจัยกระตุ้นเป็นได้ทั้งจากสภาวะแวดล้อม หรืออาหารบางประเภท ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นได้ ก็จะช่วยป้องกันอาการปวดศีรษะได้ ในกรณีที่ไม่ทราบปัจจัยกระตุ้นหรือไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นได้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ บริหารจัดการความเครียด ก็จะช่วยป้องกันการเกิดอาการปวดศีรษะได้ ปัจจัยกระตุ้นที่พบบ่อยได้แก่
- ภาวะอดนอน นอนดึก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
- อาการเหนื่อยล้าจากการทำงานหรือเล่นกีฬา
- ความเครียด
- การอยู่ในที่ที่มีแสงจ้าๆ
- สถานที่ที่มีเสียงดังอึกทึก
- อาหารบางประเภท เช่น เนย ช็อคโกแลต ถั่ว อาหารหมักดอง
- เครื่องดื่ม ได้แก่ ไวน์แดง เบียร์ หรือ แชมเปญ
- ภาวะอดอาหาร
การรักษา
“ไมเกรน” นับว่าเป็นหนึ่งในอาการปวดศีรษะเรื้อรังที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยไม่น้อย และการรักษาที่ดี… คือป้องกันไม่ให้อาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบ ซึ่งนอกจากยาไมเกรนที่เป็นวิธีดั้งเดิมของใครหลายคน นี่คือ 5 วิธี ที่ช่วยบรรเทาอาการไมเกรนได้โดยไม่ต้องพึ่งยา
วิธีที่ 1 การกดจุด
มีรายงานผลการศึกษาในปี 2012 ที่ทดสอบกับผู้ป่วยไมเกรนแบบไม่มีออร่า (ไม่เห็นแสงวูบวาบ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนก่อนที่จะเริ่มปวดศีรษะ) จำนวน 40 คน พบว่า… การกดจุดตำแหน่ง PC6 หรือบริเวณเหนือส้นมือ (มาทางข้อพับ) ประมาณ 3 นิ้ว สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะจากไมเกรนได้
ไม่เพียงเท่านี้ การใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดจุดตำแหน่ง LI-4 หรือบริเวณระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ของอีกข้างหนึ่ง โดยกดประมาณข้างละ 5 นาที สามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะที่เกิดจากกล้ามเนื้อคอยึดตึงได้อีกด้วย
วิธีที่ 2 สูดดมน้ำมันหอมระเหย
น้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์ คืออีกหนึ่งทางเลือกในการบรรเทาความเครียด และอาการปวดศีรษะ ซึ่งเรื่องนี้เคยถูกตีพิมพ์มาแล้วในวารสารทางการแพทย์ อย่าง European Neurology ว่าการสูดดมน้ำมันลาเวนเดอร์สามารถลดความรุนแรงของอาการปวดศีรษะไมเกรนในผู้ป่วยบางรายได้
วิธีที่ 3 ทานขิง (ผง)
ฟังดูแล้วอาจจะอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่าขิงช่วยลดอาการไมเกรนได้ยังไง แต่ในปี 2014 ได้มีการศึกษาในผู้ป่วยไมเกรนจำนวนกว่า 100 คน เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของขิงผงกับยารักษาไมเกรน อย่าง sumatriptan ซึ่งนักวิจัยพบว่าประสิทธิภาพในการลดอาการไมเกรนของขิงนั้นเทียบเท่ากับสถิติของ sumatriptan รวมไปถึงผลข้างเคียงจากการใช้ขิงก็ยังเป็นศูนย์ ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยรายนั้นมีอาการแพ้ขิงผงอยู่แล้ว
วิธีที่ 4 เล่นโยคะ
เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้าง ว่าการเล่นโยคะช่วยผ่อนคลายความเครียดภายในใจเรา… รวมไปถึงความเครียดของกล้ามเนื้อ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในปี 2014 โดยแบ่งผู้ป่วยไมเกรนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเข้ารับการรักษาไมเกรนด้วยวิธีดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว ในขณะที่กลุ่มที่สอง เข้ารับการรักษาไมเกรนด้วยวิธีดั้งเดิมร่วมกับการเล่นโยคะ ซึ่งนักวิจัยพบว่า กลุ่มที่เข้าร่วมโปรแกรมโยคะ สามารถบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้ดีกว่ากลุ่มที่รักษาด้วยวิธีดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว
วิธีที่ 5 เสริมด้วย “แมกนีเซียม”
เพราะภาวะขาดแมกนีเซียมมีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการปวดไมเกรนแบบมีออร่า หรือแสงวูบวาบที่เป็นสัญญาณเตือนก่อนที่จะเริ่มปวดศีรษะ ซึ่งสอดคล้องกับผลงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ระบุไว้ว่า การเสริมแมกนีเซียมช่วยลดความถี่ของการเกิดไมเกรนในผู้ป่วยบางรายได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก่อนจะเริ่มกินแมกนีเซียมเสริมควรปรึกษาแพทย์ก่อน โดยเฉพาะหากคุณมีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย
วิธีข้างต้นนี้เป็นเพียงอีกทางเลือกหนึ่งเท่านั้น หากอาการปวดศีรษะไมเกรนของคุณอยู่ในระดับรุนแรง แนะนำว่าควรเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา เพราะในทางการแพทย์แล้ว ยังมีอีกหลายวิธีในการรักษาไมเกรน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา ฝังเข็ม หรือฉีดโบท็อกซ์
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @lifeelevatedCLB
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @lifeelevatedclub
Blockdit: Lifeelevatedclub
Youtube: Life Elevated Club
Pinterest: @lifeelevatedclub
Blog สสส. :Life Elevated Club