Home Mind เรียนรู้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ “ซิกมัน ฟรอยด์” เพื่อรู้ซึ้งถึงพฤติกรรมมนุษย์

เรียนรู้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ “ซิกมัน ฟรอยด์” เพื่อรู้ซึ้งถึงพฤติกรรมมนุษย์

by Lifeelevated Admin1

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory) ถูกก่อตั้งโดย Sigmund Freud (1856-1939) โดยฟรอยด์ เชื่อว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์มีแรงจูงใจมาจากจิตไร้สำนึก ซึ่งมักจะผลักดันออกมาในรูปความฝัน การพูดพลั้งปาก หรืออาการผิดปกติทางด้านจิตใจในด้านต่างๆ เช่น โรคจิต โรคประสาท เป็นต้น

และยังเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับแรงขับทางสัญชาตญาณ (Instinctual drive) และเป็นพลังงานที่สามารถเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนที่ได้ จิตจึงเป็นพลังงานรูปหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงและไม่หยุดนิ่ง บ้างจะแสดงออกมาในรูปแบบของสัญชาตญาณทางเพศ (Sexual Instinct) แต่ฟรอยด์ไม่ได้หมายถึง ความต้องการทางเพศ

นอกจากนี้ ฟรอยด์ยังได้อธิบายว่าสัญชาตญาณจะแสดงออกมาในรูปของพลังทางจิตที่เกี่ยวข้องกับพลังขับทางเพศเรียกว่า พลังลิบิโด (Libido) เป็นพลังที่ทำให้มนุษย์

 

การทำงานของจิต แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

  1. จิตไร้สำนึก (Unconscious Mind)

การแสดงพฤติกรรมของมนุษย์โดยออกไปโดยไม่รู้ตัว ที่เกิดมาจากพลังของจิตไร้สำนึกซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้บุคคลแสดงออกไปตามหลักแห่งความพึงพอใจของตน และการทำงานของจิตไร้สำนึกเกิดจากความปรารถนา หรือความต้องการของบุคคลที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ที่ไม่ได้รับการยอมรับ เช่น การถูกห้าม หรือถูกลงโทษ จะถูกเก็บกดไว้ในจิตส่วนนี้

  1. จิตสำนึก (Conscious Mind)

บุคคลรับรู้ตามประสาทสัมผัสทั้งห้า ที่บุคคลจะมีการรู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ คิดอย่างไรเป็นการรับรู้โดยทั่วไปของมนุษย์ ที่ควบคุมการกระทำส่วนใหญ่ให้อยู่ในระดับรู้ตัว (Awareness) และเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมา โดยมีเจตนาและมีจุดมุ่งหมาย

  1. จิตก่อนสำนึก (Preconscious Mind)

เป็นส่วนของประสบการณ์ที่สะสมไว้ หรือเมื่อบุคคลต้องการนำกลับมาใช้ใหม่ก็สามารถระลึกได้และสามารถนำกลับมาใช้ในระดับจิตสำนึกได้ และเป็นส่วนที่อยู่ใกล้ชิดกับจิตรู้สำนึกมากกว่าจิตไร้สำนึก

จะเห็นได้ว่าการทำงานของจิตทั้ง 3 ระดับจะมาจากทั้งส่วนของจิตไร้สำนึกที่มีพฤติกรรม ส่วนใหญ่เป็นไปตามกระบวนการขั้นปฐมภูมิ (Primary Process) เป็นไปตามแรงขับสัญชาตญาณ ( Instinctual Drives ) และเมื่อมีการรับรู้กว้างไกลมากขึ้นจากตนเองไปยังบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อม พลังในส่วนของจิตก่อนสำนึกและจิตสำนึก จะพัฒนาขึ้นเป็นกระบวนการขั้นทุติยภูมิ (Secondary Process)

 

โครงสร้างของบุคลิกภาพ (Structure of Personality)

ฟรอยด์ เชื่อว่าโครงสร้างของบุคลิกภาพจะประกอบด้วย อิด (Id) อีโก้ (Ego) และซูเปอร์อีโก้ (Superego) โดยจะอธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้

  1. อิด (Id)

จะเป็นต้นกำเนิดของบุคลิกภาพ และเป็นส่วนที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดId ประกอบด้วยแรงขับทางสัญชาตญาณ ( Instinct ) ที่กระตุ้นให้มนุษย์ตอบสนองความต้องการ ความสุข ความพอใจ ในขณะเดียวกันก็จะทำหน้าที่ลดความเครียดที่เกิดขึ้น การทำงานของ Id จึงเป็นไปตามหลักความพอใจ (Pleasure Principle)

  1. อีโก้ (Ego)

จะเป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ทำหน้าที่ประสาน อิด และ ซูเปอร์อีโก้ ให้แสดงบุคลิกภาพออกมาเพื่อให้เหมาะสมกับความเป็นจริง และขอบเขตที่สังคมกำหนดเป็นส่วนที่ทารกเริ่มรู้จักตนเองว่า ฉันเป็นใคร Ego ขึ้นอยู่กับหลักแห่งความเป็นจริง(Reality Principle)ที่มีลักษณะของการใช้ความคิดในขั้นทุติยภูมิ (Secondary Process of Thinking) ซึ่งมีการใช้เหตุผล มีการใช้สติปัญญา และการรับรู้ที่เหมาะสม และอีโก้ (Ego) เป็นส่วนที่อยู่ในระดับจิตสำนึกเป็นส่วนใหญ่

  1. ซูเปอร์อีโก้ (Superego)

เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมจรรยา บรรทัดฐานของสังคม ค่านิยม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ผลักดันให้บุคคลประเมินพฤติกรรมต่างๆ ทีเกี่ยวข้องกับมโนธรรม จริยธรรมที่พัฒนามาจากการอบรมเลี้ยงดู โดยเด็กจะรับเอาค่านิยม บรรทัดฐานทางศีลธรรมจรรยา พัฒนาการทางบุคลิกภาพ

ฟรอยด์ ได้อธิบายถึงการพัฒนาการทางบุคลิกภาพ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการทางเพศ (Stage of Psychosexual Development) จากความเชื่อเกี่ยวกับสัญชาตญาณทางเพศในเด็กทารกที่แสดงออกมาในรูปพลังของ ลิบิโด (Libido) และสามารถเคลื่อนที่ไปยังส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายและบริเวณที่พลังลิบิโดไปรวมอยู่เรียกว่า ที่ของความรู้สึกพึงพอใจ (Erogeneous Zone) เมื่อพลังลิบิโดไปอยู่ในส่วนใดก็จะก่อให้เกิดความตึงเครียด (Tension)

 

ชวนล้วงความลับของจิตใต้สำนึก

หน่วยความจำมหาศาลนั้นก็คือจิตใต้สำนึก (Uncoscious) เป็นสิ่งที่เก็บสะสมสิ่งต่างๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสัญชาตญาณ ประสบการณ์ชีวิต โดยเฉพาะความทรงจำเจ็บปวดที่เคยเผชิญซึ่งจิตใต้สำนึกนี่เป็นสิ่งเราไม่สามารถนึกถึงมันได้ ไม่รู้ตัวว่ามันมีอยู่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) พูดและเขียนถึงจิตใต้สำนึกเมื่อราว 100  ปีก่อน เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษและส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยจำนวนมากใน 100 ปีถัดมา

จอห์น บาร์ก (John Bargh) ได้อธิบายว่ามนุษย์ตัดสินใจกระทำอะไรด้วยจิตใต้สำนึกมากกว่าจิตสำนึก (เป็นการคิดที่เรารู้ตัว) บ่อยครั้งที่เราเลือกทำอะไรบางอย่างโดยไม่มีเหตุผล มหัศจรรย์กว่านั้นคือ แม้ว่าบางครั้งเรามีเหตุผลที่ดีกว่าในสมอง แต่เราก็ยังคงเลือกกระทำโดยไม่มีเหตุผลอยู่ดี สมองซึ่งมีน้ำหนักน้อยมากเมื่อเทียบกับร่างกายมนุษย์ทั้งร่างกายแต่บริโภคแคลอรี่มากถึงร้อยละ 20 ของร่างกายทั้งหมด และตรงไหนกันแน่ที่กินพลังงานมากมายขนาดนั้น

ในศตวรรษที่ 21 เป็นยุคสมัยที่งานวิจัยเกี่ยวกับสมองรุดหน้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นักวิทยาศาสตร์และการแพทย์สมัยใหม่รู้จักสมองและวิธีการทำงานของสมองอย่างก้าวกระโดด ทำให้พวกเขารู้สาเหตุของพฤติกรรมหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ในอดีต หรือนิสัย พฤติกรรม อาการทางจิตที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม นอกจากนั้นประสบการณ์อดีต พันธุกรรม ยังมีสัญชาตญาณที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ก่อให้เกิดอคติต่างๆ หลากหลายประเภท แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาชาวอิสราเอล-อเมริกัน ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ Thinking Fast and Slow ได้แยกระบบการทำงานของสมองออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบ 1 (เร็ว) ระบบ 2 (ช้า) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. ระบบที่ 1 จะเป็นระบบที่ทำงานอย่างรวดเร็ว แต่จะเป็นการคิดแบบง่ายๆ ใช้สัญชาตญาณ (จิตใต้สำนึก)
  2. ระบบที่ 2 จะเป็นระบบที่ทำงานช้า ขี้เกียจ แต่เป็นระบบคิดแบบซับซ้อน ใช้การคิดวิเคราะห์ (จิตสำนึก)

คาฮ์นะมัน อธิบายว่า ระบบ 1 (จิตใต้สำนึก) จะทำงานโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ระบบ 2 (จิตสำนึก) จะอยู่ในสถานะที่ใช้ความพยายามต่ำ ระบบ 1 จะมอบคำแนะนำให่แก่ระบบ 2 อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเเป็นความรู้สึก สัญชาตญาณ ความตั้งใจ หรืออารมณ์ต่างๆ หากระบบ 2 เห็นด้วยกับคำแนะนำนั้น ความรู้สึกกับสัญชาตญาณจะแปรเปลี่ยนไปเป็นความเชื่อ ส่วนสิ่งอื่นๆ จะแปรเปลี่ยนเป็นการกระทำที่ควบคุมได้ หากสถานการณ์ดำเนินไปด้วยดี (ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นแบบนั้น) ระบบ 2 จะทำตามคำแนะนำของระบบ 1

สิ่งนี้เป็นระบบการทำงานเช่นเดียวกันกับ จิตสำนึก และจิตใต้สำนึก จิตสำนึกก็คือการมีเหตุผล ความจำใช้งานที่เราสามารถดึงมันออกมาใช้ได้ คิดถึงมันได้ รวมไปถึง การคิดวิเคราะห์ ซึ่งก็คือ ระบบ 2 เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ ส่วนระบบที่ 1 เป็น ความจุที่เหลือที่เก็บไว้ในสมองของเรา ซึ่งมีอิทธิพลกับระบบ 2 อย่างมาก เช่น ความคิดในแง่ดีที่เรากำลังคิดอยู่ขนาดนี้ อาจมาจากประสบการณ์ดีๆ ที่มักจะเกิดขึ้นในชีวิต และพันธุกรรมที่ถ่ายทอดความคิดเชิงบวกมาจากครอบครัว หรืออคติต่างๆ เช่น อคติที่ทำให้เราเปรียบเทียบกับคนอื่น การมองโลกในแง่ร้าย การคิดเข้าข้างตัวเอง มั่นใจในความคิดของตัวเอง ล้วนมาจากการทำงานของระบบ 1 ทั้งสิ้น ซึ่งก็คือจิตใต้สำนึกนั่นเอง

ฟรอยด์ เคยกล่าวไว้ว่า งานจิตวิทยาเชิงวิทยาศาสตร์ก็คือ การเปลี่ยนขบวนการ ไร้สำนึกหรือใต้สำนึก ขึ้นมาเป็นความสำนึกต่างๆ นั้นคือการเติมเต็มช่องว่างในเรื่องของจิตสำนึก เช่น คนคนหนึ่งอาจจะกระหายอยากอาหารหรือสุราอย่างรุนแรง คิดว่าจะต้องรับประทานอาหารให้สมองเดินและใช้สุราเพื่อให้พักผ่อน แต่ในความจริงมันอาจจะมาจากความต้องการที่อยู่ภายในจิตใต้สำนึก ซึ่งสามารถจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น ความอยากอันรุนแรงที่มาจากความอึดอัดปรารถนาในความรัก หรือขับข้องใจในความรัก หรือมาจากพันธุกรรมที่มีครอบครัวเป็นโรคสุราเรื้อรัง หรือมาจากประสบการณ์ที่รับประทานอาหารแล้วมีความสุข

ดังนั้นจิตสำนึก (ระบบ 2) กับ จิตใต้สำนึก (ระบบ 1) จึงคานอำนาจกันเสมอ หากเราไม่ยอมรับจิตใต้สำนึกแล้วพยายามจะเก็บมันเอาไว้ มันก็จะหาทางออกมาไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความฝัน การพลั้งปาก หรืออาจจะผุดขึ้นมาเป็นพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น เราอาจจะเคยยากจนมาก่อน อยากได้ของเล่นเหมือนเพื่อน แต่ไม่มีเล่น เมื่อโตขึ้นจึงซื้อของเล่นมาจำนวนมากจนน่าตกใจ หรือ การใช้ตลกเสียดสี ล้อเลียนเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากความรู้สึกที่ถูกเก็บกดไว้ เรามักจะเห็นตัวอย่างจำนวนมากเป็นตลกเสียดสีการเมือง หรือการโดนอิทธิพลบางอย่างกดให้เรารู้สึกแย่จนแสดงออกเป็นความขบขันแทน

โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ผู้เขียนหนังสือ The Happiness Hypothesis ได้นำแนวคิดเชิงพูดเปรียบเปรย จิตใจเป็นเหมือนกับช้าง และตัวเราเหมือนกับควาญช้าง ควาญช้างคือความคิดที่สามารถควบคุมและรู้ตัว ส่วนช้างคือสิ่งที่เหลือทั้งหมด ช้างเป็นทั้งสัญชาตญาณ ปฏิกิริยาลึกๆ ภายใน อารมณ์ และการรู้ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของระบบอัตโนมัติ ช้างและควาญช้างต่างมีปัญหาของตัวเอง หากทำงานร่วมกันด้วยดีจะสร้างความฉลาดที่เป็นหนึ่งเดียวให้กับมนุษย์ได้ แม้มันมักจะขัดแย้งกันอยู่เสมอ ซึ่งเราสามารถนำแนวความคิดดังกล่าวมาประยุกต์ร่วมกันระหว่างจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)  และระบบความคิดช้าคิดเร็วของ แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) ได้

 

ระดับของจิต ระบบคิดช้าคิดเร็ว ช้างและควาญช้าง

จิตใต้สำนึก = ระบบ 1 (คิดเร็ว) หรือช้าง เป็นระบบที่เราไม่สามารถควบคุมได้

จิตสำนึก = ระบบ 2 (คิดช้า) หรือควาญช้าง เป็นระบบที่เรานึกคิด ควบคุมมันได้

ควาญช้าง หมายถึง จิตสำนึก หรือระบบ 2 คือจิตที่เรานึกคิด วิเคราะห์ใช้เหตุผล เลือกตัดสินใจ ส่วน ช้างหมายถึง จิตใต้สำนึก หรือระบบ 1 มีความคิดของตัวเองมันเอง โดยกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ตลอดชีวิต สัญชาตญาณ และอคติต่างๆ รวมไปถึงในระดับพันธุกรรมซึ่งได้รับมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งควาญช้างทำได้เพียงแค่ช่วยช้างให้เลือกสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ควาญช้างอาจมองเห็นไกลไปในอนาคตมากกว่า และเรียนรู้ข้อมูลอันมีค่าได้ด้วยการพูดคุยกับควาญช้างคนอื่นๆ หรืออ่านแผนที่ แต่ควาญช้างไม่สามารถสั่งช้างให้ไปไหนต่อไหนได้ ถ้ามันไม่อยากไป

 

การอยู่ร่วมกับจิตใต้สำนึก

ถึงจะเป็นข้อเท็จจริงที่ระบบ 1 (จิตใต้สำนึก หรือช้าง) เป็นต้นเหตุของความผิดพลาดส่วนใหญ่ของเรา แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นต้นเหตุของสิ่งที่เราทำได้ถูกต้องเสียเป็นส่วนใหญ่ด้วย ระบบ 1 (จิตใต้สำนึก หรือช้าง) จะชี้นำความคิดและพฤติกรรมของเรา และก็มักจะชี้นำได้อย่างถูกต้องเหมาะสมเสียด้วย ทั้งนี้หนึ่งในความมหัศจรรย์ของระบบ 1 หรือ จิตใต้สำนึก ก็คือ การสร้างแบบจำลองที่สมบูรณ์และมีรายละเอียดครบถ้วนของโลกใบนี้ ซึ่งถูกเก็บไว้ในความทรงจำแบบเชื่อมโยง ทั้งยังสามารถแบ่งแยกระหว่างเหตุการณ์ที่น่าประหลาดใจกับเหตุการณ์ทั่วไปได้ภายในเวลาเพียงเสี้ยววินาที คาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในทันที รวมถึงมองหาคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวกับเรื่องราวที่น่าประหลาดใจและเหตุการณ์อื่นๆ โดยอัตโนมัติในขณะที่เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น

            ความทรงจำยังทำหน้าที่เก็บทักษะต่างๆ ที่เราฝึกฝนมาตลอดชีวิตซึ่งจะช่วยหาทางออกให้กับความท้าทายที่เราต้องเผชิญโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นการกันไม่ให้ลูกค้าระเบิดอารมณ์ออกมา หรือการเดินหลบเวลาหัวหน้ากำลังโมโห การสั่งสมทักษะต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เสมอต้นเสมอปลาย โอกาสในการฝึกฝนที่เพียงพอ รวมถึงข้อมูลป้อนกลับที่รวดเร็วและชัดเจนว่าความคิดและพฤติกรรมของเราถูกต้องหรือไม่ หากเป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าว เราก็จะสร้างทักษะขึ้นมาได้ในที่สด ซึ่งจะส่งผลให้การตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณของเรามีความถูกต้องแม่นยำเสียเป็นส่วนใหญ่

จิตใต้สำนึกคือข้อมูลอันมีค่ามหาศาลตลอดชีวิตของเรา แม้มันจะเก็บสะสมความชอกช้ำ เจ็บปวด หรือความทุกข์เอาไว้ แต่มันก็บรรจุช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสุขที่สุดเช่นกัน ทางที่ถูกต้องที่สุดคือยอมรับในความมีอยู่ของทุกความรู้สึกเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ ความเศร้า ความเจ็บปวด ความสนุกสนาน หรือความสุข เพราะไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกแบบไหนก็ตาม มันก็ล้วนเป็นสิ่งที่ตัวเราจะต้องเผชิญหน้าทั้งสิ้น อย่ากังขาในสัญชาตญาณ และอย่าคิดว่าเหตุผลของเราจะถูกต้องเสมอไป

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @lifeelevatedCLB

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevatedclub

Blockdit: Lifeelevatedclub

Youtube: Life Elevated Club

Pinterest: @Lifeelevatedclub

Blog สสส.: Life Elevated Club

Related Articles

Leave a Comment