ชานอ้อย (Sugarcane Bagasse) คือเศษเหลือของลำต้นอ้อยมีลักษณะเป็นเส้นใยที่หีบเอาน้ำอ้อยหรือน้ำตาลออกจากท่อนอ้อยแล้ว เป็นวัสดุเศษเหลือการเกษตรจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล ในแต่ละปีจะมีชานอ้อยเหลือจากกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก
สามารถนำไปสร้างประโยชน์ต่างๆ เช่น
- ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า ชานอ้อยเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการหีบอ้อย โดยมีคุณสมบัติติดไฟง่าย ประกอบด้วยธาตุหลัก คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน และไนโตรเจน มีค่าความร้อนต่ำของเชื้อเพลิง (Low Heating Value) เหมาะสำหรับนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า
- ใช้ผลิตวัสดุก่อสร้างผสมกับสารยึดติด เช่น อัดเป็นแผ่น (Particle Board) ไม้อัดผิวเส้นใย (Fiber-Overlaid Plywood) และแผ่นกันความร้อน (Insulating Board) เป็นต้น
- บรรจุภัณฑ์อาหาร ที่ทำจากเยื่อกระดาษชานอ้อยเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม
- ใช้เป็นอาหารสัตว์ โดยการนำชานอ้อยหมักก่อนที่จะให้สัตว์กิน
- ถ่านชีวภาพ (Biochar) สามารถผลิตได้โดยใช้เคมีเชิงความร้อนจากวัตถุดิบประเภทอินทรีย์ ซึ่งชานอ้อยเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่ดีเนื่องจากมีองค์ประกอบของคาร์บอนสูง ซึ่งในปัจจุบันมีการนำไปใช้ในหลายๆ ด้าน ได้แก่ การเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน การใช้เป็นเชื้อเพลิง การใช้เป็นวัสดุดูดซับและการกักเก็บคาร์บอน เป็นต้น
- ใช้ทำปุ๋ยหมัก โดยหมักร่วมกับปุ๋ยคอก กากตะกอน หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังใช้ปูคอกสัตว์ เพื่อรองรับมูลสัตว์ และทำปุ๋ยหมักต่อไป
- ใช้เป็นวัตถุคลุมดิน เพื่อรักษาความชื้นของดิน และป้องกันวัชพืช
นอกจาก 7 ประโยชน์ที่ได้กล่าวมาแล้ว ด้วยความที่โลกเราต้องการ ‘ทางเลือกใหม่’ ทั้งในด้านพลังงานและทรัพยากร ทำให้หลายประเทศตื่นตัวและพยายามพัฒนานวัตกรรมมาประยุกต์ดัดแปลงกับเศษวัสดุเหลือใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า ลดขยะ และลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ล่าสุดประเทศจีน ได้นำ ‘ชานอ้อย’ มาใช้ทำถนนด้วย โดยเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงคือพื้นที่ซึ่งเป็นฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน ผลผลิตคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของทั้งประเทศ ชานอ้อยเป็นวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักวิจัยของ Guangxi Transportation Science and Technology Group Co.,Ltd. ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมเส้นใยชานอ้อย (Bagasse Fiber) สำหรับใช้เป็นวัสดุก่อสร้างพื้นผิวจราจรเป็นที่แรกของประเทศจีน
โดยกระบวนการพัฒนางานวิจัยดังกล่าว เป็นการนำชานอ้อยเหลือทิ้งในโรงงานน้ำตาลมาผ่านกระบวนการบดย่อยด้วยเครื่องจักร ปรับสภาพด้วยวิธีทางเคมีกายภาพ และแยกเส้นใย จนได้เป็น ‘เส้นใยชานอ้อย’ ที่มีคุณสมบัติในการเป็นวัสดุผสม (Composite Material) กับแอสฟัลต์ (Asphalt) หรือยางมะตอยสำหรับการก่อสร้างพื้นผิวจราจร
ซึ่งพื้นผิวจราจรที่มีส่วนผสมของเส้นใยชานอ้อยมีคุณสมบัติเทียบเคียงกับแอสฟัลต์ที่ใช้วัสดุผสมไฟเบอร์เซลลูโลส และมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความทนทานในการใช้งานของพื้นผิวถนน ความทนทานต่อสภาพอากาศ และความต้านทานต่อการล้า (Fatigue Resistance) ได้ดี
ความสำเร็จของนวัตกรรมงานวิจัยชิ้นนี้ได้นำมาใช้จริงกับโครงการก่อสร้างถนนตัดใหม่เชื่อมเมืองชินโจวกับเมืองเป๋ยไห่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง รวมถึงถนนเฟิ่งเฉินสาย 4 ในนครซีอาน มณฑลส่านซีแล้ว
นับเป็นมิติใหม่ของการใช้ประโยชน์จากชานอ้อยที่มีความหลากหลาย เป็นการประยุกต์ใช้จุดแข็งของท้องถิ่น (ฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาล) เข้ากับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชานอ้อยและเศรษฐกิจภาคการเกษตร ช่วยเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไร่อ้อย และช่วยลดการพึ่งพาการใช้วัสดุผสมไฟเบอร์เซลลูโลสที่ใช้ผสมกับแอสฟัลต์ได้
ที่สำคัญเป็นการบุกเบิกหนทางใหม่ในการใช้ประโยชน์เชิงบูรณาการจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และมุ่งไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
ชานอ้อยมีประโยชน์หลายด้าน ทั้งด้านการเกษตร พลังงาน กระดาษ และวัสดุก่อสร้าง ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ดัดแปลงของผู้ใช้ โดยที่ประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก และทุกภาคส่วนอยู่ระหว่างการผลักดันการใช้นโยบาย BCG เพื่อมุ่งพลิกโฉมการพัฒนาประเทศไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
จึงเป็นโอกาสที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยจะศึกษาแนวทางการวิจัย หรือพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกับกว่างซีในการใช้ประโยชน์จากชานอ้อย เพื่อนำพาอุตสาหกรรมไปสู่ ‘การเติบโตสีเขียว’ (Green growth) และยังนับว่าเป็นการ ‘เปลี่ยนขยะเป็นเงิน’ เพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้แก่ภาคเกษตรกรรมของไทยได้อีกทางด้วย
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @lifeelevatedCLB
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @lifeelevatedclub
Blockdit: Lifeelevatedclub
Youtube: Life Elevated Club