Home Society ยาปฏิชีวนะปศุสัตว์กับประเด็นภาคธุรกิจควรรู้ เพื่อรับมือปัญหา ‘เชื้อดื้อยา’ อย่างยั่งยืน

ยาปฏิชีวนะปศุสัตว์กับประเด็นภาคธุรกิจควรรู้ เพื่อรับมือปัญหา ‘เชื้อดื้อยา’ อย่างยั่งยืน

by Lifeelevated Admin1

ยาปฏิชีวนะปศุสัตว์กับประเด็นภาคธุรกิจควรรู้ เพื่อรับมือปัญหา ‘เชื้อดื้อยา’ อย่างยั่งยืน

 

‘ดื้อยา’ ไม่ได้หมายความว่าร่างกายของคนดื้อยาอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่คือการดื้อยาของ ‘เชื้อโรค’ ซึ่งเรียกว่า ‘เชื้อดื้อยา’ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาจากพฤติกรรมของคนเราอีกด้วย เช่น การใช้ยาพร่ำเพรื่อ ซื้อยากินเอง แบ่งยากันใช้ และหยุดยาเอง

 

วิกฤตโรคติดเชื้อดื้อยา เกี่ยวโยงอย่างไรกับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์?

ความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นั้นเป็นผลมาจากความต้องการเนื้อสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น และในต้นทุนที่ต่ำลง

ดังนั้นการให้ยาปฏิชีวนะนั้นจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อการรักษายามป่วย แต่เป็นการใช้แม้สัตว์จะมีสุขภาพดี ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเช่นนี้คือการใช้เกินความเหมาะสม เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา และการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

– เชื้อดื้อยาสามารถกระจายไปยังฝูงสัตว์ หรือคอกอื่นได้ เช่น จากการสัมผัสสิ่งที่อาจมีเชื้อดื้อยาอยู่ เช่น มูลสัตว์ที่ติดเชื้อ

– หลังจากนั้นเชื้อดื้อยาและยาปฏิชีวนะสามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ ไม่จะเป็นจากมูลสัตว์สู่ดิน และถูกทำเป็นปุ๋ยให้กับพืชผล การปล่อยของเสียจากปศุสัตว์ลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งอาจหมุนเวียนมาสู่มนุษย์ในห่วงโซ่การอุปโภคบริโภคได้

– เชื้อดื้อยาและยาปฏิชีวนะในสัตว์อาจปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ที่เราบริโภคได้ เช่น กรณีการรับเชื้อดื้อยาจากเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ปรุงสุก

 

ด้วยเหตุนี้ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ที่เชื่อมโยงทั้งสุขภาพคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม หากไม่ทำอะไรเลย หรือไม่ลงมือแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในตอนนี้ ก็เป็นไปได้ที่จะไม่มียาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคติดเชื้อในอนาคต ไม่ว่าจะโรคติดเชื้อในคนหรือสัตว์

ดังนั้นศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น หัวหน้าภาควิชาสัตวแพทยสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ทำการวิจัยเรื่อง ‘อณูชีววิทยาที่ไขหนทางแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างยั่งยืน’ ขึ้นมาเพื่อหาแนวทางจัดการปัญหาดังกล่าว

 

‘ผลงานวิจัย’ การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างได้ผลและยั่งยืน

การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการบริโภคทั้งปศุสัตว์และสัตว์น้ำมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาและป้องกันการติดเชื้อและเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์ แต่ปัญหาเชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผล เช่น ใช้มากเกินไป ซึ่งทุกครั้งที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะจะเปิดโอกาสให้เชื้อพัฒนาการดื้อยาและแพร่กระจายยีนดื้อยาได้ ในฟาร์มปศุสัตว์ก็มีการใช้ยาปฏิชีวนะเช่นกัน เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และผู้บริโภคอาจได้รับเชื้อดื้อยาผ่านห่วงโซ่อาหาร จากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนหรือจากการสัมผัสโดยตรงซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ ก็อาจมีการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาได้เช่นกัน เชื้อดื้อยาไม่ว่าจะอยู่ในคน สัตว์หรือสิ่งแวดล้อม ย่อมส่งผลกระทบถึงกันหมด

 

ทำไม? อณูชีววิทยา จึงแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างยั่งยืน

เนื่องจากภาคปศุสัตว์ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะ จึงเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับนักวิจัย ซึ่ง ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ ได้ค้นคว้าวิจัยเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาด้วยความรู้ด้านพันธุกรรมและใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยาเพื่อตอบคำถามว่า ทำไมเชื้อดื้อยาบางชนิดจึงพบมากในประเทศไทย เหตุใดเชื้อดื้อยายังคงอยู่หลังจากเลิกใช้ยาปฏิชีวนะแล้ว และปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้อย่างไร

โดยคณะวิจัยได้ศึกษาเชื้อดื้อยาในระดับ Genome และนำเทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) มาใช้ในการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อดื้อยาและกลไกการดื้อยา ทำให้เข้าใจแหล่งที่มาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมและการถ่ายทอดพันธุกรรมของเชื้อดื้อยามากขึ้น ซึ่งข้อมูลกลไกการดื้อยาสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาโมเลกุลหรือยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ รวมทั้งสารทดแทนยาปฏิชีวนะ

ไม่เพียงแค่ยาปฏิชีวนะ ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ เผยว่ายังมีสารอื่นๆ ที่ทำให้เชื้อพัฒนาการดื้อยาและถ่ายทอดยีนหรือตัวระบุการดื้อยาได้ ส่งผลให้มีการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในฟาร์ม – โรงพยาบาล และโลหะหนักที่ผสมในอาหารสัตว์

จากข้อมูลเบื้องต้นทีมวิจัยตรวจพบยีนดื้อยาในฝุ่นที่เก็บจากฟาร์มปศุสัตว์ รวมทั้งฝุ่นจากเครื่องปรับอากาศในห้องวิจัยอีกด้วย คณะทำงานกำลังขยายการวิจัยไปยังคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ เชื้อดื้อยาไม่ได้พบในสัตว์และอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น ดังนั้นการใช้มาตรการยกเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์เพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งหมดได้

 

จากงานวิจัยสู่แผนยุทธศาสตร์ชาติแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา

ผลงานวิจัยของ ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ ได้ถูกนำไปใช้ในการสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์การจัดการเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะประเทศไทย เอเชียและประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นๆ โดยร่วมมือกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ และหน่วยงานระดับนานาชาติ มีทั้งเรื่องการประเมินระบบการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาแห่งชาติและระบบห้องปฏิบัติการเชื้อดื้อยา การกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ การทบทวนตำรับยาสำหรับสัตว์ การจัดทำแผนการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา การเฝ้าระวังการดื้อยาปฏิชีวนะภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว

นอกจากนี้ งานวิจัยก็ยังถูกถ่ายทอดเพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจด้านเชื้อดื้อยาและการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมแก่เยาวชน ประชาชนทั่วไป เจ้าของสัตว์เลี้ยง ผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ บุคคลกรภาครัฐและเอกชน ซึ่งการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในปศุสัตว์ให้มีประสิทธิภาพต้องทำหลายอย่างและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ การตรวจติดตามและเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล การส่งเสริมระบบป้องกันทางชีวภาพในฟาร์ม (Farm Biosecurity) การลดการติดเชื้อและเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้กับสัตว์ การใช้สารทดแทนยาปฏิชีวนะ ที่สำคัญการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมต้องทำไปพร้อมๆ กัน

 

จากสถานการณ์โรคระบาดของปศุสัตว์ในบ้านเราทำให้ผู้บริโภคตระหนักรู้มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และมีส่วนสำคัญในการลดปัญหาเชื้อดื้อยา โดยเลือกซื้อเนื้อสัตว์ต้องการดูสีรวมถึงลักษณะของเนื้อเป็นหลัก เช่น เนื้อสุกรต้องเป็นสีชมพู ไม่มีสิ่งแปลกปลอม ไม่มีรอยเลือดจ้ำ หรือสีของเนื้อผิดปกติ เลือกซื้อจากร้านจำหน่ายที่เชื่อถือได้ และสังเกตสัญลักษณ์ ‘ปศุสัตว์ OK’ การรับรองจากกรมปศุสัตว์ มั่นใจได้ว่าปลอดภัยจากเชื้อดื้อยา

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @lifeelevatedCLB

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @lifeelevatedclub

Blockdit: Lifeelevatedclub

Youtube: Life Elevated Club

Related Articles

Leave a Comment